xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานคาดร้อนนี้ใช้ไฟจะพีกสุดรอบ 3 ปีหลังท่องเที่ยวบูม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพลังงานคาดร้อนนี้ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) จะขยับสูงในรอบ 3 ปีหรือสูงกว่า 30,936 เมกะวัตต์ เหตุท่องเที่ยวฟื้นตัวหนุนการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หวังรัฐบาลใหม่จะไม่ปรับแผน PDP 2023 ในหลักการ เหตุหวั่นยิ่งล่าช้ามากขึ้น

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟสูงสุด หรือ Peak (พีก) สำหรับปี 2566 ในช่วงฤดูร้อนจะมีค่าสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาหรือสูงกว่า 30,936 เมกะวัตต์ เนื่องจากอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูง ประกอบกับไทยมีการเปิดประเทศทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาในปริมาณที่มากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น แต่ปริมาณไฟฟ้าจะมีเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยที่สูงประมาณ 30%

“สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็เคยมีสำรองไฟที่สูงเพราะผลกระทบจากโควิด-19 ขณะนี้ก็เริ่มทยอยปรับลดลงโดยเฉพาะสิงคโปร์ที่ลงเร็วเพราะเขามีแผนพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ทำให้ความต้องการใช้ไฟสูง แต่วันนี้ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซียเองก็ต้องการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นดังนั้นสำรองไฟจึงไม่ได้ตั้งไว้ที่ 15 % เขามองกันที่เฉลี่ย 27-30% เพราะพลังงานหมุนเวียนผลิตได้ไม่สม่ำเสมอ ขณะที่สำรอง 15% ใช้นานแล้วและหลักการก็ใช้กับโรงไฟฟ้าฐานที่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ผลิตไฟสม่ำเสมอ” นายวีรพัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น ในระยะต่อไปจะส่งผลให้สำรองไฟฟ้าของไทยกลับสู่ภาวะปกติที่ 15% ได้ในปี 2568 แต่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2566-2580 หรือ PDP 2023 ฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำอยู่ จะยกเลิกการพิจารณาปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศ (Reserve Margin) และเปลี่ยนเป็นการใช้เกณฑ์ดัชนีความเชื่อถือได้ หรือ Loss of Load Expectation (LOLE) แทน โดยเกณฑ์ LOLE ดังกล่าวจะวัดจากการยอมรับให้ไฟฟ้าดับได้เพียง 0.7 วันต่อปี หรือไม่เกิน 24 ชั่วโมงต่อปี ที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบมากขึ้น

สำหรับการจัดทำ PDP 2023 คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2566 นี้ โดยต้องผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการ PDP ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนและเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบน.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบเพื่อประกาศใช้ต่อไป โดยจะบรรจุปริมาณการผลิตไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้ามากกว่า PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่มีอยู่ 77,211 เมกะวัตต์ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงขึ้น เพราะช่วงปลายของแผนฯ คาดว่าจะมีการใช้รถ EV มากขึ้นและการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% เมื่อสิ้นสุดปี 2580 รวมทั้งจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กบรรจุอยู่ในแผนด้วย เป็นต้น ส่วนค่าไฟฟ้าจะพยายามให้เท่าแผน PDP เดิมที่เฉลี่ยทั้งแผนอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย

“เดิมทีเราหวังว่าจะทำ PDP 2022 หรือเสร็จตั้งแต่ปลายปี แต่พอมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนสมมติฐานต่างๆ เปลี่ยนจึงต้องขยายเวลา และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำให้เป็นไปตามขั้นตอน รัฐบาลใหม่มาก็เชื่อว่าจะกระทบต่อแผน PDP 2023 บ้างแต่ไม่มากเพราะหลักการที่วางไว้เป็นการทำอย่างรอบคอบแล้วจึงคิดว่าหลักการไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงแต่ในส่วนของระดับนโยบายบางเรื่องอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากรัฐบาลใหม่ต้องการปรับแก้ไขแผน PDP 2023 หลักการก็คาดว่าจะต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี ซึ่งอาจจะล่าช้าและเริ่มใช้ได้ในปี 2567 เป็นแผน PDP 2024 แทนก็เป็นไปได้เช่นกัน” นายพีรพัฒน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น