xs
xsm
sm
md
lg

“แกร็บ” ลุย B2B ฝันกำไร ดีลิเวอรี 1.2 แสนล้านยังคึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ศึกดีลิเวอรีปรับตัว Grab Holdings ประกาศลดขาดทุน หลังเอาแต่พึ่งพาโปรโมชัน โตจริงแต่ปีก่อนขาดทุน 1.7 พันล้านยูเอส ลั่นปีนี้ต้องรอด ขอเติบโตแบบยั่งยืน ปักหมุดเพิ่มขา B2B เชื่อกำไรงาม

แกร็บ ไทยแลนด์ เปิดบ้านพร้อมพาไปเจาะลึกถึงภาพรวมตลาดดีลิเวอรีในภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชีย (SEA) ในช่วงโควิดที่ผ่านมา จากการรวบรวมข้อมูลจาก Bain & Compay, Google และ Temasek พบว่า ในส่วนของบริการเรียกรถรับส่ง ปี 2563 มีมูลค่า 4 พันล้านยูเอส, ปี 2564 เหลือ 3.7 พันล้านยูเอส ติดลบ 13% และในปี 2565 โต 43% หรือมีมูลค่า 5.2 พันล้านยูเอส (181,636 ล้านบาท)
 
จะเห็นได้ว่าปีที่ผ่านมาการใช้บริการเรียกรถกลับมาดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการฟื้นตัวของท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญให้บริการเรียกรถกลับมาโต และหลังจากนี้ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 มูลค่าธุรกิจบริการเรียกรถรับส่งจะเพิ่มเป็น 14 พันล้านยูเอส หรือเติบโตจากปี 65 ถึง 40% เลยทีเดียว
 


ส่วนตลาดดีลิเวอรีรับส่งอาหาร หรือฟูดดีลิเวอรีตั้งแต่ปี 2563-2565 มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าในกลุ่ม Food Delivery ความต้องการจัดส่งอาหารกลับมาเติบโตตามเทรนด์หลังจากเพิ่มขึ้นสามเท่าในช่วงการระบาดใหญ่ จากปี 2563 ที่มีมูลค่า 9 พันล้านยูเอส, ปี 2564 มีมูลค่า 15 พันล้านยูเอส โต 65%, ปี 2565 มีมูลค่า 17 พันล้านยูเอส หรือกว่า 593,810 ล้านบาท โตขึ้นมาอีก 14% และคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 24 พันล้านยูเอส หรือโตจากปี 65 อีกประมาณ 13%

ทั้งนี้ ข้อมูลยังระบุว่าในตลาด Food Delivery ในปี 2565 ที่ผ่านมา GrabFood เป็นผู้นำตลาดในภูมิภาค SEA โดยครองอันดับ 1 ถึง 4 ประเทศด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มีแชร์ 49%, ฟิลิปปินส์ มีแชร์ 60%, เวียดนาม มีแชร์ 45%, มาเลเซีย มีแชร์ 60%, สิงคโปร์ มีแชร์ 59%

โดยประเทศไทย GrabFood ครองอันดับ 1 มีแชร์ 50% รองลงมาคือ LINEMAN 24%, foodpanda 16%, Robinhood 6% และ ShopeeFood 3% โดยตลาด Food Delivery ในประเทศไทย มีมูลค่าถึง 3.6 พันล้านยูเอส หรือราว 125,789 ล้านบาท

เมื่อเจาะลึกผลงานของแกร็บ ประเทศไทย ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าบริการเรียกรถรับส่งของแกร็บนั้นฟื้นตัวและกลับมาดีกว่าก่อนโควิดเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวกลับมาบูมมีการเดินทางกันมากขึ้นทั้งจากคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ


โดยพบว่า Q4/65 เทียบกับ Q3/65 บริการเรียกรถแกร็บรับส่งจากสนามบินโตขึ้น 33% หรือตลอดปี 2565 มีกลุ่มนักท่องเที่ยวเรียกใช้บริการรถรับส่งของแกร็บโตขึ้น 152%

ส่วนภาพรวมของ แกร็บ ดีลิเวอรี พบว่าปี 2565 ปริมาณการขายรวมบริการจัดส่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง 15% โดย GrabFood ในปี 65 เทียบกับปี 62 ยอดการสั่งซื้อต่อครั้งมีขนาดเพิ่มขึ้น 18% ส่วนบน GrabMart ปี 65 เทียบปี 63 ยอดการสั่งซื้อต่อครั้ง มีขนาดเพิ่มขึ้น 28%

“จะเห็นได้ว่าหลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลายในช่วงที่ผ่านมา และจากที่ได้เห็นสัญญาณบวกจากแนวโน้มการเติบโตในทุกธุรกิจของแกร็บ ประเทศไทย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ SEA (เซาท์อีสต์เอเชีย) โดยเฉพาะบริการเรียกรถรับส่ง และบริการส่งอาหารออนไลน์ที่ยังเติบโตได้ดี ส่วนบริการดีลิเวอรียังคงได้รับความนิยมและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้สถานการณ์โควิดจะดีขึ้นก็ตาม แต่ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยการสั่งอาหาร, สินค้าออนไลน์ รวมถึงเรื่องของออนดีมานด์ของผู้บริโภค” นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บ ประเทศไทย จำกัด กล่าว


นายวรฉัตรกล่าวด้วยว่า วันนี้แกร็บดำเนินธุรกิจในไทยมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเดินทาง ขยายสู่บริการดีลิเวอรี และบริการทางการเงินดิจิทัลในปัจจุบัน จากนี้แกร็บ ประเทศไทย จะยังมุ่งพันธกิจ Grab For Good เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยหลังจากนี้บริษัทจะเน้นในเรื่องประสิทธิภาพของแต่ละธุรกิจ รวมถึงหันมาเน้นการทำธุรกิจแบบ B2B กับองค์กรต่างๆมากขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำมาร์จิ้นได้เป็นอย่างดี

“10 ปี ที่ผ่านมา แกร็บ ประเทศไทย เติบโตต่อเนื่อง แต่จะเติบโตแบบที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว เพราะเป็นการเติบโตที่พึ่งพาการใช้โปรโมชันเพื่อเพิ่มลูกค้า ตัวเลขรายได้โตจริงแต่ขาดทุน ดังนั้นในปีนี้จะเน้นสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ลดภาวะขาดทุนหรือกลับมาพอมีกำไรบ้างเล็กน้อย หากแกร็บ ประเทศไทย ฟื้นตัวได้ จะส่งผลให้ Grab Holdings กับตัวเลขรายได้รวมของทั้ง SEA ลดภาวะขาดทุนและกลับมามีกำไรเช่นกัน จากภาพรวมผลประกอบการของ Grab Holdings ในปี 2565 ที่ผ่านมาพบว่าขาดทุนถึง 1.7 พันล้านยูเอส หรือกว่า 60,000 ล้านบาท”

นายวรฉัตรยังได้ฉายภาพถึงแผนการล้มขาดทุนในครั้งนี้ด้วยว่า พร้อมงัด 2 กลยุทธ์สำคัญมาใช้ คือ 1. Power of Superapp ที่มุ่งผสานความร่วมมือและการทำงานของทุกธุรกิจในอีโคซิสเต็มของแกร็บให้เกิด Synergy และเอื้อประโยชน์ต่อกัน และ 2. Operational Efficiency ที่จะดึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในทุกกระบวนการทำงานของแกร็บ เพื่อขับเคลื่อน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก


สำหรับ 4 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1. บริการการเดินทาง (Mobility) เน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก คือ ยกระดับมาตรฐานเสริมความเชื่อมั่นในการใช้บริการ, รุกตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยกระดับบริการรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ, เจาะตลาดพรีเมียม เตรียมส่งแคมเปญพิเศษเจาะตลาดกลุ่มนี้ พร้อมเพิ่มจำนวนพาร์ตเนอร์คนขับที่ให้บริการเรียกรถด้วยรถยนต์ไฟฟ้า
2. บริการดีลิเวอรี (Deliveries) ตอกย้ำในด้านคุณภาพ (Quality) ของทั้งร้านอาหารบนแพลตฟอร์มและการให้บริการ ชูโรงซับแบรนด์ #GrabThumbsUp ที่คัดสรรและรวบรวมร้านอร่อยชื่อดังจากทั่วประเทศมาสร้างประสบการณ์ความอร่อย, เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งอาหารและสินค้า (Efficiency) ด้วยเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการต่างๆ เพิ่มความแม่นยำ และลดเวลาในการจัดส่งสินค้า, เน้นสร้างฐานสมาชิกและความภักดีของผู้ใช้บริการ (Loyalty) ผ่านแพกเกจสมาชิก GrabUnlimited
3. บริการทางการเงิน (Financial Services) มุ่งส่งเสริมโอกาสทางการเงินให้แก่พาร์ตเนอร์คนขับ-ร้านค้า ขยายวงเงินสินเชื่อสำหรับพาร์ตเนอร์ร้านค้าสูงสุดถึง 500,000 บาท รวมไปถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน

4. บริการสำหรับองค์กร (Enterprise) หรือ B2B ผลักดันบริการซูเปอร์แอปสู่ภาคธุรกิจ ผ่าน Grab for Business โซลูชันที่จะช่วยบริหารจัดการทุกบริการของแกร็บสำหรับลูกค้าองค์กร และ GrabAds สื่อโฆษณาช่วยให้นักการตลาดสามารถเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายและแม่นยำ

นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ 3P ที่จะนำมาใช้สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 1. Profit การสร้างผลกำไรในระยะยาว และยังสร้าง Ecosystem ที่ยั่งยืน ไม่ขาดทุน 2. Planet กับการออกแคมเปญ Grab for good สร้างโอกาสในการหารายได้ของคนในสังคม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไปจนถึงการลดใช้ภาชนะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว 3. People สร้างความประทับใจ ให้ผู้บริโภครัก และเลือกใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

“ที่ผ่านมาแกร็บจะให้บริการใน 3 ธุรกิจ คือ Mobility, Deliveries และ Financial ปีนี้จะเพิ่มในส่วนของ Enterprise หรือธุรกิจในรูปแบบ B2B ประกอบด้วย Grab for Business และ GrabAds ซึ่งมองว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ที่จะมาช่วยเสริมให้แกร็บเติบโตอย่างยั่งยืนได้ดี เพราะเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้สูงเมื่อเทียบกับ 3 ธุรกิจเดิม” นายวรฉัตรกล่าว

สุดท้ายแล้ว ในปี 2566 Grab Holdings มุ่งมั่นที่จะทำให้ผลการดำเนินธุรกิจทั้ง 8 ประเทศสามารถพลิกกลับมามีรายได้หลังจากขาดทุน (Net Loss) จากในปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขสำคัญที่จะช่วยให้กลับมามีกำไร คือ ผู้บริโภคที่ใช้บริการ จากปัจจุบันทั้ง 8 ประเทศ มีการทำธุรกรรมรวมไม่ต่ำกว่า 32.7 ล้านรายต่อเดือน











กำลังโหลดความคิดเห็น