xs
xsm
sm
md
lg

อ้อยเข้าหีบปี 65/66 ทะลุ 74 ล้านตัน เริ่มทยอยปิดหีบลุ้นทะลุ 100 ล้านตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



57 โรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยมีปริมาณสะสมทะลุ 74 ล้านตันแล้ว ประเมินล่าสุดลุ้นทะลุ 100 ล้านตันแต่อาจไม่ถึง 106.5 ล้านตัน ต้องติดตามโรงงานที่เหลือหลังมีอุปสรรคฝนตกทำให้รถตัดอ้อยเข้าพื้นที่ยาก ขณะที่โรงงานบางแห่งเริ่มแจ้งปิดหีบ คาดภาพรวมปิดหีบภายในมี.ค.เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ชาวไร่ส่วนใหญ่ยังคงหวังเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดเพื่อลด PM 2.5

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย
เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาล 57 แห่งที่ได้ทำการเปิดหีบฤดูการผลิตปี 2565/66 ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 65 เริ่มทยอยแจ้งปิดหีบบ้างแล้ว โดยคาดว่าภาพรวมส่วนใหญ่จะปิดหีบภายในสิ้นเดือน มี.ค. 66 และที่เหลือบางส่วนจะปิดหีบช่วงกลาง เม.ย. 66 โดยมีปริมาณอ้อยสะสมเข้าหีบล่าสุดกว่า 74 ล้านตัน ดังนั้น จากการประมาณการเบื้องต้นคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมดจะอยู่ประมาณ 100 ล้านตันบวกลบซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูงขึ้นจากปี 2564/65 ที่มีผลผลิตอยู่ที่ 92.07 ล้านตัน

“อุปสรรคสำคัญที่ทำให้อ้อยอาจไม่ได้สูงอย่างที่คาดการณ์ไว้ว่าจะได้ราว 106-106.5 ล้านตัน เพราะมีฝนเข้ามาช่วงเก็บเกี่ยว การตัดอ้อยสดที่ยังมีปัญหาเรื่องเครื่องจักรและการเข้าพื้นที่ แต่ภาพรวมปริมาณอ้อยของไทยปีนี้ก็ยังสูงกว่าปี 2564/65 และที่สำคัญฤดูหีบปีนี้ที่ฝนดีทำให้ความหวานของอ้อยได้มากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 13 กว่าซีซีเอส” นายนราธิปกล่าว

ทั้งนี้ ชาวไร่อ้อยภาพรวมยังคงคาดหวังว่าโครงการช่วยเหลือการตัดอ้อยสดเพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จะยังคงดำเนินเช่นปีที่ผ่านๆ มาที่ได้เคยช่วยเหลือสนับสนุนการตัดอ้อยสดประมาณ 120 บาทต่อตัน ดังนั้น หากกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ก็ต้องการให้เกิดความชัดเจน ซึ่งยอมรับว่าหากรัฐบาลมีการยุบสภาแล้วไม่แน่ใจว่าเม็ดเงินในการช่วยเหลือจะต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อหรือไม่ โดยหากสามารถทำได้เร็วก็จะเป็นประโยชน์ต่อชาวไร่อ้อยมากเท่านั้น

นายนราธิปกล่าวยอมรับว่า การเผาอ้อยยังคงมีอยู่เพราะปัจจัยหนึ่งเกิดจากชาวไร่อ้อยรายย่อยที่ขาดเงินทุนเห็นว่าการได้รับเงินส่งเสริมการตัดอ้อยสดไม่แน่นอนว่าจะได้หรือไม่จึงเสี่ยงเผาแต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น และอีกส่วนเครื่องจักรและแรงงานยังคงไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 11 พ.ค. 64 ได้รับทราบการปรับเปลี่ยนเป้าหมายของอ้อยไฟไหม้โดยฤดูการผลิตปี 2564/2565 กำหนดให้มีอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 10% ของการผลิตรวม ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกิน 5% และฤดูการผลิตปี 2566/2567 เป็นศูนย์ โดยแผนนี้ยังคงไม่ได้ปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด

รายงานข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลแจ้งว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งตัวแทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาลประชุมหารือมาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าข้อมูลของ GISTDA ได้รายงานสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2553-2562) จากพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากทั่วประเทศ พบว่าส่วนใหญ่มาจากการเผาป่า และเผาเศษวัสดุทางการเกษตรมากที่สุด

ส่วนการเผาอ้อยเป็นเพียงส่วนน้อย โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าและภาคการเกษตรรวมประมาณ 35 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าวประมาณ 20 ล้านไร่ คิดเป็น 57% รองลงมาได้แก่ ป่าไม้ 9.7 ล้านไร่ คิดเป็น 28% โดยมีเพียงส่วนน้อยเกิดจากการเผาอ้อย 2.7 ล้านไร่ คิดเป็น 8% อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายได้พยายามที่จะเร่งแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น