xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.รับมอบอาคาร "ดอนเมือง" ถล่ม เผยผลสอบไร้คนผิด "เพาเวอร์ไลน์" ซ่อม 12.9 ล้าน มั่นใจโครงสร้างแข็งแรง เปิดรับกรุ๊ปทัวร์ 8 ก.พ. 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทอท.เผยสอบอาคารดอนเมือง ถล่มไร้คนผิด เอกชนรับผิดชอบค่าซ่อม 12.9 ล้านบาท ล่าสุดซ่อมเสร็จตรวจรับ เปิดใช้เต็มรูปแบบ 8 ก.พ.นี้ รับกรุ๊ปทัวร์ เผยปรับปรุงรางน้ำ เปลี่ยนวัสดุผนังอาคารลดน้ำหนัก ยอมรับอาคารไม่มีเสาเข็มแต่วางเสาบนฐานรากลานจอดรถใต้ดิน ที่ทดสอบแล้วมั่นใจความแข็งแรง

วันที่ 7 ก.พ. 2566 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) โดย นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. พร้อมด้วย นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมหัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุ กำแพงอาคาร Service Hall ท่าอากาศยานดอนเมืองพังถล่ม เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.), สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก และ บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE ได้ร่วมกันแถลงข่าว และยืนยันความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร Service Hall สนามบินดอนเมือง หลังจากมีการปรับปรุงแก้ไข ซ่อมแซม โดย ทอท.กำหนดเปิดใช้อาคาร Service Hall เพื่อรองรับผู้โดยสาร นักท่องเที่ยวในรูปแบบกลุ่ม (Group Tour) ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป


นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีหลายประเด็นที่ต้องแก้ไข ทั้งนี้ ได้รายงานผลการตรวจสอบให้กระทรวงคมนาคมรับทราบแล้ว และได้ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงเสริมความแข็งแรงของอาคาร จนแล้วเสร็จ และคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วมรับฟังและลงพื้นที่ตรวจดูความเรียบร้อย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดใช้งานอาคาร จากรายงานที่นำเสนอและการลงพื้นที่พบว่าการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สอดคล้องกับหลักวิชาชีพและหลักปฏิบัติ

ส่วนประเด็นรางระบายน้ำที่เป็นสาเหตุของการพังถล่มนั้น ได้ปรับปรุงลดขนาดรางระบายลงเพื่อไม่ให้เกิดการอุ้มน้ำไว้มาก กรณีน้ำมากจะล้นออกมาแทน นอกจากนี้ ได้ให้คำแนะนำทาง ทอท. เพิ่มเติมในการดำเนินการตรวจสอบและบำรุงรักษาตามมาตรฐานทางวิศวกรรมอย่างเคร่งครัด

“คณะกรรมการฯ ได้รับแต่งตั้งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง หาสาเหตุและเสนอแนะแนวทางปรับปรุงแก้ไข ส่วนการออกแบบที่มีปัญหาหรือผิดพลาดอย่างไร รวมถึงผู้ที่ต้องรับผิดชอบนั้น ทาง ทอท.จะเป็นผู้ตรวจสอบ” นายพิศักดิ์กล่าว


@ทอท.ตรวจรับตามแบบ ผลสอบไม่มีใครผิด เอกชนรับผิดชอบค่าซ่อม

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. กล่าวว่า หลังจาก คณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มีผู้แทนจาก 3 สถาบันหลักด้านวิศวกรรมของไทย ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้ช่วยแนะแนวทางในการเสริมความแข็งแรงของอาคาร และบริษัท เพาเวอร์ไลน์ฯ ได้ดำเนินการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้าง อาคาร Service Hall ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2565 ปัจจุบันเสร็จสมบูรณ์แล้ว และได้ว่าจ้าง บริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็น Third Party เข้าตรวจสอบและยืนยันความแข็งแรงของอาคาร

ทั้งนี้ อาคาร Service Hall เป็นการต่อเติมขึ้นด้านบนของโครงสร้างลานจอดรถ หลักการทางวิศวกรรม ได้ตรวจสอบแบบและความมั่นคงแข็งแรงของเสาเข็มเดิม ว่าสามารถรองรับอาคาร Service Hall ที่สร้างเพิ่มเติมอีก 2 ชั้นได้หรือไม่ และได้ทดสอบการรับน้ำหนักจริงของเสาเข็มบวกกับ Safety Load ซึ่งพบว่าเสาเข็มเดิมของลานจอดรถมีความแข็งแรงในการรับน้ำหนักอาคาร บวกกับ Safety Load 2 ชั้นรวมกับน้ำหนักของจำนวนผู้โดยสารที่จะเข้าใช้อาคาร หรือ น้ำหนักบรรทุกจร (Live Load) ได้

“เชิงวิศวกรรมการต่อเติมอาคารไม่ใช่เรื่องแปลก อาคาร Service Hall มีเสาเข็มแต่เป็นการต่อจากเสาเข็มเดิมที่อยู่กับโครงสร้างลานจอดรถใต้ดินเดิม โดยเสาอาคาร จะถ่ายน้ำหนักลงไปที่ฐานรากเดิม โดยได้วิเคราะห์เรื่องความมั่นคงแข็งแรงรองรับการใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์”

นายกีรติกล่าวว่า อาคารนี้ ทอท.มีการออกแบบเบื้องต้น เพื่อจัดจ้างก่อสร้าง ส่วนผู้รับจ้างจะต้องเข้ามาทำรายละเอียดและมีวิศวกรของผู้รับจ้างออกแบบและเซ็นรับรองแบบและดำเนินการก่อสร้าง เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับน้ำหนักไม่ได้ตามที่ผู้รับจ้างออกแบบไว้ จึงเป็นความรับผิดชอบของ บริษัทฯ เพราะยังอยู่ในระยะประกัน หลังส่งมอบงาน ทั้งเรื่องการซ่อมแซมคืนสภาพและการเสริมความแข็งแรงตามข้อแนะนำของ 3 สถาบันวิศวกรรม

“ก่อนเกิดถล่ม ทอท.ได้ตรวจรับงานแล้ว โดยมีเอกสารรับรองจากวิศวกรของบริษัท เป็นการตรวจรับตามแบบที่ถูกต้องและกระบวนการตามหลักวิศวกรรมแล้ว เจ้าหน้าที่ ทอท.จึงไม่มีความผิด การที่อาคารถล่มจากรางน้ำรับน้ำหนักเกินจากที่ออกแบบ ซึ่งบริษัท ได้รับผิดชอบโดยการซ่อมแซมแล้ว แต่หากบริษัทไม่รับผิดชอบ ทอท.จึงจะฟ้องแพ่ง ตามกฎหมาย และแจ้งกรมบัญชีกลางว่า บริษัทผิดสัญญาหรือทิ้งงาน จึงจะขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์ต่อไป”

วัตถุประสงค์ของ อาคาร Service Hall เพื่อรองรับผู้โดยสารขาออก ระหว่างประเทศ ในรูปแบบกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งมักจะมาก่อนเวลาเช็กอิน 4-5 ชั่วโมง ซึ่งเคาน์เตอร์ยังไม่เปิด ทำให้เกิดความอัดในพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 1 ดังนั้นอาคาร Service Hall นี้ จะเป็นพื้นที่รองรับ ผู้โดยสารกลุ่มนี้ พร้อมที่นั่ง อนาคตจะติดตั้งระบบเช็คอินอัตโนมัติ เข้ามาบริการเพิ่ม จะแก้ปัญหารถติดด้านหน้าอาคารผู้โดยสารอีกด้วย


@วสท.ยืนยันตรวจทดสอบโครงสร้าง มั่นใจแข็งแรง

ด้านรองศาสตราจารย์ เอนก ศิริพานิชกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) กล่าวว่า จากการใช้เครื่องมือ 3 มิติ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเสาอาคาร โครงสร้างหลักของอาคารไม่มีปัญหา มีปัญหาเฉพาะแห่งที่เกี่ยวเนื่องกับรางน้ำ ซึ่งได้พิจารณาให้คำแนะนำแก้ไขสภาพให้กลับมาแข็งแรงการทดสอบ แบบ Full-scale testing คือใช้น้ำหนักจริง ผลทดสอบ พื้นอาคารแข็งแรงมาก มีการเสียรูปน้อยกว่าค่ากำหนดมาตรฐาน จึงยืนยันว่าโครงสร้างหลักไม่มีปัญหา รวมถึงมีการปรับปรุงรางระบายน้ำ และปรับวัสดุผนังอาคาร และเสริมเสถียรภาพของอาคาร โดยเพิ่มความแข็งแรงของเสาทุกต้น ด้วยการเสริมท้าวแขนกับคาน ความเห็นของวสท. หลังซ่อมแซมและทดสอบ มีความมั่นใจ

กรณีมีข้อสงสัยเรื่องอาคาร Service Hall ไม่มีเสาเข็ม เนื่องจากก่อสร้างอยู่ด้านบนของลานจอดรถเดิม นั้น ทางวิศวกรรมอาคาร Service Hall มีการต่อเสาขึ้นมาจากโครงสร้างเดิม โดยทอท.และผู้เชี่ยวชาญ จะต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรงของเสาเข็มและฐานรากลานจอดรถใต้ดินเดิม เรื่องความแข็งแรงและการรับน้ำหนัก ดังนั้นการออกแบบ อาคาร Service Hall จึงใช้โครงสร้างเหล็ก เสาเหล็ก จะมีน้ำหนักเบากว่า โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ยังมีความแข็งแรง ทั้งนี้เพื่อลดการรับน้ำหนักฐานรากเดิม ซึ่งทอท.มีเอกสารข้อมูลแบบลานจอดรถใต้ดินมายืนยันและนำไปวิเคราะห์ ออกแบบเพื่อเสริมความแข็งแรงของอาคาร Service Hall จึงมั่นใจในเรื่องการดำเนินการต่อเติมอาคาร Service Hall 2 ชั้น ด้านบน ถูกหลักทางวิศวกรรม

สำหรับพื้นอาคาร กำหนดน้ำหนักบรรทุกจร (Live Load) ที่ 500 กิโลกรัม (กก.) ต่อตารางเมตร ซึ่งถือว่ากำหนดค่าไว้สูงมาก หรือเทียบกับ คนน้ำหนัก 70 กก.จำนวน 4 คน ยืนในพื้นที่ 1 ตารางเมตร รวมน้ำหนักประมาณ 280 กก.เผื่อสำหรับกรณีฉุกเฉินที่อาจจะยืนเบียดมากกว่า 4 คน โดยได้มีการทดสอบการรับน้ำหนัก โดยใช้ถังบรรจุน้ำมาทดสอบ ซึ่งพบพื้นมีการแอ่นตัวเล็กน้อย แต่อยู่ในพิกัดที่กำหนดและไม่มีการเสียรูป และเมื่อนำถังน้ำออก โครงสร้างกลับคืนรูปสภาพเดิม เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กฎกระทรวงมหาดไทยกำหนด

“ทอท.เป็นองค์กรขนาดใหญ่ จะทำอะไร ต้องมั่นใจ วิธีการออกแบบที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม หลักการคือ ต้องไม่เกิดเหตุขึ้นอีก และต้องห้ามพังอีก”


@ปรับปรุงรางระบายน้ำ เปลี่ยนวัสดุผนังอาคาร ลดน้ำหนัก

นายชาญณรงค์ แก่นทอง อุปนายก สภาสถาปนิก กล่าวว่า สถาปนิกเข้าตรวจสอบอาคารจุดซึ่งถล่มไม่ใช่โครงสร้างหลัก แต่มีผลกระทบต่อผนังอาคารและรูปแบบอาคาร สภาสถาปนิกได้แนะนำการใช้วัสดุและการซ่อมแซม เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งาน โดยผนังเดิม ใช้อิฐมวลเบาทั้งหมด สูง 9-10 เมตร ปัญหาคือ มีรางน้ำอยู่ด้านบน กรณีเกิดเหตุเพราะรางน้ำมีน้ำจำนวนมากจนทำให้ผนังรับน้ำหนักไม่ไหว

ซึ่งได้แนะนำให้แก้ไข โดยปรับวัสดุผนัง แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยช่วงล่างจะเสริมคานและ ใช้อิฐมวลเบาสำเร็จรูป ส่วนเหนือคานขึ้นไปจนถึงเพดาน ใช้ผนังเบาสำเร็จรูป ผนังโครงเบาจากแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์สมาร์ทบอร์ด และตรงกลางมีไมโครไฟเบอร์ เป็นฉนวนกันความร้อน และ ดูดซับเสียง ส่วนผนังด้านนอกจะหุ้มด้วยแผ่นเหล็กรีดรอน เพื่อป้องกันผลกระทบจากน้ำ ดังนั้นรูปแบบใหม่ของผนังจะเบาลง แต่แข็งแรงมากขึ้น

@เพาเวอร์ไลน์ฯ เผยค่าซ่อม 12.9 ล้านบาท

นายกิตติชัย โฮมเธาว์ รองประธานอาวุโส บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE กล่าวว่า หลังเกิดเหตุ บริษัทฯได้เข้าร่วมสำรวจความเสียหายและดำเนินการออกแบบตามคำแนะนำของ 3 สถาบันหลักด้านวิศวกรรมและมีวิศวกรรับรองแบบ จากนั้น ได้เริ่มซ่อมแซม เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2565 แล้วเสร็จกลางเดือน ธ.ค. 2565 และมี บริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่งฯ ทดสอบโครงสร้าง และออกหนังสือรับรองโครงสร้าง โดยมีค่าซ่อมแซมปรับปรุง12.9 ล้านบาท

โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2562 ทอท.ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท เพาเวอร์ไลน์ฯ ก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสาร บริเวณลานจอด ATTA ท่าอากาศยานดอนเมือง วงเงินว่าจ้างตามสัญญา 199.9 ล้านบาท โดย มีการรับประกัน 2 ปี หรือถึงประมาณเดือนมิ.ย. 2565 โดยเกิดเหตุถล่มเมื่อเม.ย. 2565 จึงยังอยู่ในระยะประกัน สำหรับ การปรับปรุงโครงสร้าง และผนังที่พังถล่มนั้น มีการประกันเพิ่มเติม เฉพาะส่วนปรับปรุงอีก 6 เดือนนับจาก 1 ก.ย. 2565 โดยจะสิ้นสุดในเดือน ก.พ. 2566


นายการันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง กล่าวว่า วันที่ 8 ก.พ. 2566 จะเปิดใช้อาคาร Service Hall เต็มรูปแบบ มีพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 3,000 คน มีที่นั่งบริการ 800 ที่นั่ง เป้าหมายเพื่อรองรับผู้โดยสารกรุ๊ปทัวร์ที่มาก่อนเวลา ลดความแออัดของอาคาร 1 ซึ่งปัจจุบัน สนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสาร จำนวน 70,000 คนต่อวัน หรือ 60% เทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวน 110,000 ต่อวัน โดยเป็นผู้โดยสาระหว่างประเทศ 17,500 คน (44% ของปี 2562) ผู้โดยสารภายในประเทศ 52,500 คน (80% ของปี 2562)

ส่วนผู้โดยสารต่างชาติในปี 2562 ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน แต่ปัจจุบันเป็นมาเลเซีย รองลงมาคือ อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งในเดือน ม.ค. 2566 คาดว่าจะมีผู้โดยสารต่างชาติประมาณ 22,000 คน เดือน ก.พ. 2566 คาดว่า 54,000 คน เดือน มี.ค.คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก ส่วนปริมาณเที่ยวบิน ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 450 เที่ยวบินต่อวัน (ระหว่างประเทศ 130 เที่ยวบิน ในประเทศ 320 เที่ยวบิน) เทียบจากปี 2562 ที่มีประมาณ 750 เที่ยวบินต่อวัน



กำลังโหลดความคิดเห็น