โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน นอกจากจะเผชิญปัญหาในการก่อสร้างมากมายแล้ว ภายหลังสร้างเสร็จจนสามารถเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564 แต่ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ยังแก้ไม่จบไม่สิ้น โดยเฉพาะปมค่าก่อสร้างเพิ่มเติม จากคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (Variation Order : VO) ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน หลัง กิจการร่วมค้า เอส ยู (บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ซึ่งเป็นผู้รับจ้างโครงการรถไฟสายสีแดง สัญญาที่ 1 (งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางชื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) ได้เสนอข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 79/2564 กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โดยเรียกค่าเสียหายเป็นเงินถึง 7,200 ล้านบาท
@ อนุญาโตตุลาการชี้ขาด รฟท.จ่ายค่า VO กว่า 4,200 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีและดอกเบี้ย)
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้คัดค้าน ตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 79/2564 ที่มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ในฐานะสมาชิก กิจการร่วมค้า เอส ยู เป็นผู้เรียกร้อง ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอให้จัดพนักงานอัยการดำเนินการแก้ต่างข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต่อมาคณะทำงานฯ สำนักงานอัยการ แจ้งว่า รฟท.อยู่ในฐานะเสียเปรียบไม่อาจชนะคดีได้ แต่ รฟท.ยืนยันความประสงค์ขอให้ดำเนินคดีต่อไป
ต่อมา วันที่ 21 พ.ย. 2565 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 79/2565 ให้ รฟท.ชำระเงินให้ กิจการร่วมค้า เอส ยู ประกอบด้วย 1. สินจ้างตามสัญญาที่ 1 และสินจ้างเนื่องจากคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (VO) รวมจำนวน 4,204,286,694.83 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 27,654,882.90 บาท ดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา MLR +2% ต่อปี นับแต่วันผิดนัดวันที่ 21 ก.ค. 2565 เป็นเงิน 929,211,622.11 บาท และดอกเบี้ยในอัตรา 7.305% ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
2. ชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา MLR+2% ต่อปี ของเงินหลักประกัน (Retention) จำนวน 180,651,350.65 บาท ที่ผิดนัดชำระคืนในแต่ละงวดจนถึงวันที่ 21 ก.ค. 2565 เป็นเงินจำนวน 34,908,693.43 บาท
3. ชำระค่าใช้จ่ายในระหว่างขยายเวลาจำนวน 680,057,076 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มของวงเงินดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ย ผิดนัดในอัตรา MLR+2% ต่อปี นับแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป
4. ชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคา (ค่าK) จำนวน 96,044,682.13 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 6,723,127.75 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 102,767,809.88 บาท ดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา MLR+2% ต่อปี นับแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป
@เปิด 6 ประเด็นคำชี้ขาด "อนุญาโตตุลาการ" สั่ง รฟท.จ่ายค่างาน VO รวม 194 รายการ กว่า 4.2 พันล้านบาท พร้อมภาษี, ดอกเบี้ย
โดยคณะอนุญาโตตุลาการได้กำหนดข้อพิพาทไว้ 6 ประเด็น ดังนี้
1. ผู้เรียกร้องมีสิทธิเรียกให้ รฟท.ในฐานะผู้คัดค้านชำระสินจ้างตามสัญญาที่ 1 และตามคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (VO) หรือไม่ เพียงใด
คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า ผู้เรียกร้องมีสิทธิเรียกร้องให้ รฟท.ชำระสินจ้างตามคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (VO) จำนวน 4,204,286,694.83 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 27,654,882.90 บาท เนื่องจาก รฟท.ได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า เอส ยู เป็นผู้ดำเนินการสัญญาที่ 1 ระหว่างดำเนินการปรากฏว่าวิศวกร (The Engineer) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก รฟท.มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน VO รวม 194 รายการ มูลค่า 4,472,290,020.49 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่ง รฟท.ยอมรับว่าได้เปลี่ยนแปลงงานจริง และไม่ได้ปฏิเสธว่าวิศวกรไม่มีอำนาจหรือไม่ได้ออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน
กิจการร่วมค้า เอส ยู ได้ก่อสร้างงานตามคำสั่ง VO ครบถ้วนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 คณะกรรมการตรวจการจ้างของรฟท.มีมติเห็นชอบตรวจรับงานงวดสุดท้าย และวันที่ 11 มี.ค. 2564 รฟท.ได้ออกหนังสือรับรองการแล้วเสร็จของงาน (Completion Certificate) ให้กิจการร่วมค้า เอส ยู ถือเป็นการปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญา อีกทั้ง รฟท.ได้มีการชำระหนี้สินจ้างค่างาน VO บางส่วน งวดที่ 78, 79 (เต็มจำนวน) งวดที่ 80 (บางส่วน) เป็นเงิน 1,246,873,199.85 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 87,281,123.98 บาท
2. รฟท.ผิดนัดชำระค่าสินจ้างตามสัญญาจ้างที่ 1 และตามคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (VO) หรือไม่
คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า รฟท.มีหน้าที่ต้องชำระค่าสินจ้างตามสัญญาที่ 1 และตามคำสั่ง VO ตามสัญญาข้อ 30.6 และอัตราดอกเบี้ยตามข้อ 30.7 ประกอบกับภาคผนวกท้ายสัญญา
3. รฟท.ต้องชำระสินจ้างตามสัญญาที่ 1 และตามคำสั่ง VO พร้อมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดและภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงใด
คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า รฟท.มีหนี้ค่าชำระค่าสินจ้างตามสัญญาที่ 1 และตามคำสั่ง VO ตั้งแต่งวดที่ 80-85 รวมเป็นเงิน 4,204,286,694.83 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 27,654,882.90 บาท และดอกเบี้ยผิดนัด อัตรา 7.305% ต่อปี สำหรับงวดที่ 80-85 นับถึงวันที่ 21 ก.ค. 2565 เป็นเงินทั้งสิ้น 34,908,693.43 บาท
4. รฟท.ต้องคืนหลักประกันให้กิจการร่วมค้า เอส ยู หรือไม่ เพียงใด
คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า รฟท.ต้องคืน และต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยผิดนัดที่เกิดจากการส่งคืนหลักประกันล่าช้าด้วย ตามข้อ 30.7
5. รฟท.ต้องชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการขยายระยะเวลา พร้อมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ เพียงใด
คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า รฟท.มีมติขยายระยะเวลาก่อสร้าง 871 วัน และคณะกรรมการ รฟท.ได้อนุมัติหลักการกรอบวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 680,057,076 บาท ถือว่า รฟท.ยอมรับค่าเสียหายกรณีขยายเวลา และต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม
6. รฟท.ต้องชำระค่าชดเชยค่าก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคา (ค่า K) พร้อมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เพียงใด
คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า รฟท.ต้องชำระค่าชดเชยค่าก่อสร้าง ค่า K จำนวน 96,044,682.13 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 6,723,127.75 บาท รวมเป็นเงิน 102,767,809.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา MLR+2% ต่อปี นับแต่วันที่ 14 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป
@ 28 ก.พ. 66 เส้นตายยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด
วันที่ 29 ธ.ค. 2565 สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งผลคดีชั้นอนุญาโตตุลาการมายัง รฟท. หลังพิจารณาแล้วเห็นว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว และไม่ปรากฏเหตุอื่นว่าการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีไม่มีเหตุที่จะขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 40
ทั้งนี้ หาก รฟท.ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยชี้ขาดฯ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ 30 พ.ย. 2565 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 28 ก.พ. 2566
@ย้อนต้นเรื่องปัญหา ต้นตอนำไปสู่ข้อพิพาท
โครงการรถไฟสายสีแดง มี 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญา 1 (งานโยธาสำหรับสถานีรถไฟบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) รฟท. ลงนามสัญญาจ้างกิจการร่วมค้า เอส ยู เมื่อ วันที่ 18 ม.ค. 2556 ในวงเงิน 29,826,973,512 บาท
สัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต) มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ ( ITD) เป็นผู้รับจ้างงาน ในวงเงิน 21,235,400,000 บาท ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2556
สัญญา 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้า) มีกิจการร่วมค้า MHSC (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 32,399,99 ล้านบาท ลงนามสัญญา วันที่ 30 มี.ค. 2559
โดยแรกเริ่ม สัญญา 1 มีวงเงิน 29,826,973,512 บาท ต่อมาวันที่ 9 ก.พ. 2558 ครม.มีมติอนุมัติปรับวงเงินเพิ่มอีก 4,291,406,000 บาท รวมกับค่างานเดิม ทำให้วงเงินสัญญา 1 อยู่ที่ 34,118 379,512 บาท
งาน VO เกิดขึ้นเนื่องจาก รฟท.ได้กำหนดหลักการทำงานโครงการว่าจะต้องเริ่มทำงานทั้ง 3 สัญญาพร้อมกัน เพื่อประสานการทำงานและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัญญาอื่นที่จะทำงานไม่เสร็จตามกำหนด แต่ รฟท.ทำสัญญาที่ 3 ล่าช้า จึงแก้ปัญหาไม่ให้กระทบต่อสัญญาที่ 1 ที่ลงนามไปก่อนแล้ว จึงเปลี่ยนแปลงงานให้สัญญาที่ 1 ทำการรื้อย้าย รื้อถอน ปรับปรุง สร้างทดแทน รางรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณเดิมของ รฟท. ซึ่งเป็นงานในสัญญาที่ 3 ไปก่อนเพื่อไม่กระทบต่อการก่อสร้างสัญญาที่ 1 งานส่วนนี้มีจำนวน 60 รายการ มูลค่า 2,581,883,488.51 บาท โดย รฟท.ตัดงานส่วนนี้ออกจากสัญญาที่ 3
นอกจากนี้ยังมีงาน VO เพิ่มเติมอีก 3 ชุด ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคารที่ทำการรถไฟทดแทนอาคารเดิมที่รวมถึงงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคกีดขวางงานก่อสร้าง เพื่อมิให้งานหยุดชะงัก จำนวน 30 รายการ มูลค่า 352,647,657 บาท
งานที่ปรากฏในแบบแต่ไม่มีปรากฏในรายการเบิก-จ่าย (Bill of Quantities ) หรือ Missing Items ซึ่ง รฟท.และที่ปรึกษาร่วมกันพิจารณาแล้ว หากไม่ดำเนินการก่อสร้างจะส่งผลให้โครงการไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถเปิดเดินรถได้ ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 31 รายการ มูลค่า 465,135,235.19 บาท
งาน VO เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนดความปลอดภัยและมาตรฐานทางวิศวกรรม จำนวน 73 รายการ มูลค่า 1,072,623,639.79 บาท
นี่คือต้นเหตุที่ทำให้สัญญา 1 มีงาน VO จำนวน 194 รายการ มูลค่ากว่า 4,472 ล้านบาท เพราะเงินยังไม่ได้...แต่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไปก่อน และทำให้สัญญา 1 มีวงเงินรวมเป็น 38,377.42 ล้านบาท
@“ศักดิ์สยาม” ตั้งอนุกรรมการฯ ลั่นสู้ถึงที่สุด
วันที่ 6 ม.ค. 2566 “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 127/2566 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 14 คน โดยมี "สรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์" รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านขนส่ง) เป็นประธาน “พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์” อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นรองประธานฯ และมีอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายชนินทร์ แก่นหิรัญ, นายสิทธิ โสภณภิรมย์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการ 2, พลตำรวจตรี อุกฤษฏ์ ศรีเสือขาม, อธิบดีกรมบัญชีกลางหรือผู้แทน, ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หรือผู้แทน, ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, ผู้แทนสภาวิศวกร เป็นต้น
เพื่อพิจารณาข้อมูลและกรอบแนวทางการต่อสู้ข้อพิพาทเพื่อให้มีความครบถ้วนมากที่สุด หลักคือ ให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา 1. งานเพิ่มเติมหรือ VO ดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบพัสดุฯ ถูกต้องหรือไม่ 2. BOQ งานที่เพิ่มเติมหรือ VO ถูกต้องหรือไม่ 3. ได้มีการดำเนินการงานดังกล่าวจริงหรือไม่
“งานเพิ่มเติม หรือ VO ทำได้ แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อกฎหมาย ให้ครบถ้วน รฟท.ต้องอธิบายให้ได้ว่าในการสั่งทำงาน VO เพิ่มเติมนั้นได้ทำตามขั้นตอน ระเบียบที่กำหนดหรือไม่ คือจะต้องมีการสำรวจออกแบบ และเสนอผู้ว่าฯ รฟท.เพื่อนำเสนอบอร์ด รฟท.อนุมัติ จากนั้นเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติเพิ่มวงเงินก่อนจึงจะสั่งเริ่มงานเพิ่มเติมนั้นได้ เมื่อทำงานเสร็จจึงตรวจรับและจ่ายเงิน หากไม่ทำตามขั้นตอนนี้แล้วไปจ่ายเงินที่ไม่สามารถจ่ายได้ตามกฎหมาย ก็จะเข้าข่ายละเมิดกันหมด ซึ่งตั้งแต่ตนรับตำแหน่ง รมต.คมนาคม ยังไม่เคยนำเสนอเรื่องเข้า ครม.เพื่อขอทำงาน VO เลย” ศักดิ์สยามกล่าว
@คมนาคมเร่งสรุปใน 17 ก.พ. ยื่นคัดค้าน
“สรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์” รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งพบว่ามีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาความถูกต้องและจะเร่งทำรายละเอียด สรุปภายในวันที่ 17 ก.พ. 2566 เพื่อยื่นคัดค้านก่อนวันที่ 28 ก.พ. 2566 ตามกรอบกฎหมายต่อไป
“กระทรวงคมนาคมมีการตรวจสอบกรณีคำสั่งงาน VO มาโดยตลอด ซึ่งพบว่ามีวิศวกรใหญ่ รฟท.ถึง 4 คนที่ออกคำสั่งของ The Engineer โดยได้รับความเห็นของผู้ว่าจ้าง ซึ่งสัญญา 25.1 ให้อำนาจ รฟท.สามารถออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงงานได้ไม่เกิน 15% ของมูลค่าสัญญา และให้อำนาจของ The Engineer ตามสัญญาข้อ 1.5(d)”
แม้หลายฝ่ายจะมองว่า ณ จุดนี้ รฟท.แพ้แล้ว ขณะที่กระทรวงคมนาคมยังคงพยายามต่อสู้ โดยยื่นเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการอย่างเต็มที่ ประเด็นสำคัญที่อยู่ในคำวินิจฉัยคือ กรณีที่ รฟท.มีการชำระค่างาน VO บางส่วน และการเข้าใช้ประโยชน์ โดยเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 2564 และยังมีการเปิดทดลองเดินรถไฟสายสีแดง เมื่อ 2 ส.ค. 2564 จนกระทั่งมีการเปิดบริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 29 พ.ย. 2564 เป็นต้นมา และล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2566 ที่ รฟท.ได้ย้ายการให้บริการรถไฟทางไกลจำนวน 52 ขบวน ถือเป็นการยอมรับความสำเร็จของงานและเข้าใช้ประโยชน์ ส่วนใครสั่งงาน VO แล้วผิดระเบียบ ขั้นตอนหรือไม่ อย่างไร เป็นปัญหาที่คมนาคมและ รฟท.คงต้องหันมาเก็บกวาดปัญหาในบ้าน...เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก!!!