xs
xsm
sm
md
lg

แนวรบกิน-ดื่ม สไตล์โออิชิหลังโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - โออิชิทุ่มงบ 600 ล้านบาทลุย ยกเครื่องแบรนด์ร้านอาหาร พร้อมขายแฟรนไชส์ ประเดิมด้วย “บิซโทโระ” ฟากเครื่องดื่มเสิร์ฟต่อ ชาเขียว น้ำตาล 0% หลังพบยอดขายว้าวสุดๆ ดันรายได้รวมปี 65 ทะลุ 12,696 ล้านบาท โต 29.3% แบ่งเป็น เครื่องดื่ม โต 16.7% ส่วนร้านอาหาร โต 51% ขณะที่กำไรรวมโตขึ้นถึง 120%

ในสถานการณ์ที่โควิดเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงในการดำรงชีวิตตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ในมุมมองของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ในวิกฤตมันคือโอกาส โอกาสที่ได้หันกลับมามองตัวเอง สู่การพัฒนาไปสู่โอกาสที่ดีกว่า เช่นเดียวกับ “โออิชิ” ผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นที่ได้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตอบโจทย์วิถีชีวิตช่วงโควิด จนส่งผลให้ผลประกอบการในปี 2565 ที่ผ่านมามีการเติบโตถึง 16.7% 


นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565) บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เนื่องจากการวางแผนงานและปรับกลยุทธ์ต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้สามารถรับมือและเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบต่างๆ ได้ กล่าวคือ บริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้นจำนวน 12,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,878 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตสูงถึง 29.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มจำนวน 7,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,042 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และรายได้จากธุรกิจอาหารจำนวน 5,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,836 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 51.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในส่วนของกำไรสุทธิรวมของบริษัทคิดเป็นจำนวน 1,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 654 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 120% จากปีที่ผ่านมา
 
“ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นมากเป็นหลัก และจากการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารที่ทำให้มีผู้บริโภคกลับมาใช้บริการที่ร้านมากขึ้น ประกอบกับมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง” นางนงนุชกล่าว


**เจาะลึกชาเขียวน้ำตาล 0% หมากตัวใหม่ลงศึก
ช่วงโควิด-19 ระบาดหนักที่ผ่านมา ตลาดชาเขียวมูลค่า 13,228 ล้านบาท มีการเติบโตถึง 22% ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดด้วยซ้ำ และเป็นการเติบโตทุกเซกเมนต์ด้วย ส่วนปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ดีไม่ต่างจากปีก่อน

“กลุ่มเครื่องดื่มชาเขียวในปี 2566 นี้ โออิชิมั่นใจว่าจะมีแชร์รวมมากกว่า 50% ได้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 48% เทียบจาก 5-6 ปีก่อนอยู่ที่ 43%”

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ โออิชิ มีแชร์รวมเพิ่มขึ้น และมียอดขายชาเขียวเติบโตขึ้น เกิดจาก 1. เปิดเซกเมนต์ชาเขียวใหม่ ในกลุ่มไร้น้ำตาล 0% ชูเรื่องดีต่อสุขภาพ แต่รสชาติดีและไร้น้ำตาล 0% เจาะกลุ่มที่มูฟมาจากน้ำเปล่าและน้ำอัดลม, 2. เพิ่มช่องทางขายใหม่ๆ เช่น ชาคูลล์ซ่า ในช่องทางโรงเรียน ทำให้ยอดขายชาคูลล์ซ่าเติบโตมากสุดถึง 61% มาจากช่องทางโรงเรียนเป็นหลัก ส่วนช่องทางเดิมยังเติบโตได้ดีที่ 18% และ 3. การส่งออก เติบโต 3-4% โดยเฉพาะใน 3 ประเทศหลักที่ยังคงเป็นอันดับหนึ่งอยู่ คือ กัมพชา ลาว และเมียนมา

“หนึ่งในกลยุทธ์หลักที่ขับเคลื่อนโออิชิ กรีนที คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ โดยเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และขยายฐานผู้ดื่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่รักสุขภาพ ล่าสุดได้สร้างเซกเมนต์ใหม่ ชาเขียวน้ำตาล 0% ตอบรับเทรนด์สุขภาพที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเล็งเห็นโอกาสต่อยอดธุรกิจ เตรียมแผนลุยตลาดผ่านการสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดใหม่ๆ ปลุกกระแสการดูแลสุขภาพ พร้อมตอกย้ำคุณค่าชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชิน” นางนงนุชกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากกลุ่มน้ำตาล 0% เข้ามาในตลาดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาสามารถมีส่วนแบ่งในตลาดรวมได้แล้ว 3% ปีนี้ทางโออิชิมองเป็นโอกาสที่พร้อมส่งรสชาติใหม่ๆ ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีขายอยู่ 2 รสชาติ คือ ออริจินัล และน้ำผึ้งมะนาว ขณะที่ในภาพรวมตลาดชาเขียว ยังแบ่งออกได้เป็น 1. สูตรออริจินัล มีส่วนแบ่ง 58%, 2. ฟรุตตี้ + วุ้น 13%, 3. พรีเมียมที 6%, 4. ผสมสมุนไพร 9%, 5. สปาร์กกลิ้งที 6% และ 6. ชาหมัก 3% โดยในภาพรวมนั้นกลุ่มออริจินัลเติบโตมากสุด ส่วนของโออิชิกลุ่มสปาร์กกลิ้งโตสุด จาก ชาคูลล์ซ่า ที่ขายดีจากช่องทางโรงเรียน


**ยกเครื่องร้านอาหารใหม่ ลุยขายแฟรนไชส์ บิซโทโระ

ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิเข้าสู่ตลาดมามากกว่า 10-15 ปี ปีนี้ทางโออิชิจึงต้องการยกเครื่อง รีเฟรชแบรนด์ใหม่ ซึ่งจะทยอยๆ รีโนเวตและอัปเกรดใหม่ ทั้งในรูปแบบหน้าร้านใหม่ และแพกเกจเมนูใหม่ๆ ในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น มีให้เลือกหลายราคา ให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงได้มากขึ้น เช่น ชาบูชิ บุฟเฟต์ เดิมมีขายราคาเดียว จะเพิ่มราคาขึ้นอีกระดับให้เลือก สำหรับกลุ่มที่ชอบรับประทานเนื้อโดยเฉพาะ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีแผนขายแฟรนไชส์ในแบรนด์ “โออิชิ บิซโทโระ” ปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่ 10 สาขาเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ด้วยอาหารแนว Fast Casual ภายใต้แนวคิดที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิต ด้วยอาหารญี่ปุ่นรสชาติอร่อยที่คุณคุ้นเคย จัดเต็มด้วยวัตถุดิบที่คัดสรรมาอย่างดี มีให้บริการทั้งในหมวดราเมน, หมวดดงบุริ ข้าวหน้าสไตล์ญี่ปุ่นก็ยังมีเมนูให้เลือกมากมาย แบบ อร่อยเส้น อิ่มข้าว ฟินเหมือนกินที่ญี่ปุ่น ในราคาที่เข้าถึงง่าย ช่วงราคา 79-219 บาท

“เราเรียนรู้การเป็นแฟรนไชซี จากการที่มี KFC ในเครืออยู่ จึงได้เห็นวิธีการ และขั้นตอนต่างๆ ของการทำแฟรนไชส์ ซึ่งทางโออิชิก็มีครบ จึงมองว่ามีความพร้อมที่จะเข้าสู่การขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ เริ่มจากแบรนด์ บิซโทโระ เบื้องต้นวางงบลงทุนราคา 3 ล้านบาทต่อสาขา ขนาดไม่เกิน 50-60 ตารางเมตร ซึ่งมีคุยกันไว้บ้างแล้ว ทั้งในรูปแบบ 1. ขอซื้อแฟรนไชส์ทำสาขาเดียว กับ 2. ซื้อแล้วทำหลายสาขา คาดว่ากลางปีนี้น่าจะได้เห็น เป้าหมายปีนี้วางไว้ที่ 10 สาขา เชื่อว่าหากไปได้ดี บิซโทะโระ จะเป็นแบรนด์ร้านอาหารในเครือที่มีสาขามากสุดของโออิชิในอนาคต หรือภายในปี ค.ศ. 2024 โออิชิจะมีจำนวนสาขาร้านอาหารรวม 400 สาขา จากปีก่อนอยู่ที่ 266 สาขา”


**ปักธงปี 66 ดันยอดขายเทียบปี 65
สำหรับแผนในปี 2566 นั้น โออิชิพร้อมชู คุณภาพอาหาร-เครื่องดื่ม ตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้บริโภค ชูจุดยืนด้านคุณภาพ นำเข้าวัตถุดิบคุณภาพจากต้นตำรับมาตรฐานสูง ตลอดจนพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อตอบรับเทรนด์สุขภาพและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

นางนงนุชกล่าวต่อว่า สำหรับแผนกลยุทธ์ของโออิชิ กรุ๊ป มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจตามเป้าหมาย PASSION 2025 โดยสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมมาพัฒนาอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการออกสินค้าใหม่ๆ ที่สอดรับกับแนวคิดเรื่อง Health & Wellness ที่เป็นเทรนด์สำคัญในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับขยายฐานลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดที่โดนใจผู้บริโภคต่อเนื่อง ตลอดจนผลักดันการเข้าถึงลูกค้าด้วยการขยายสาขา และหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของโออิชิ คือ ยึดมั่น “คุณภาพ” พร้อมมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ภายใต้งบประมาณรวม 600 ล้านบาท (ไม่รวมงบการตลาด) ที่จะใช้ในปีนี้

โดยในส่วนของกลุ่มเครื่องดื่ม มุ่งตอบเทรนด์ Health & Wellness เดินหน้าตอกย้ำคุณประโยชน์ชาเขียวจากใบชา “คุณภาพ” ขยายฐานชาพร้อมดื่ม


ในปี 2566 ธุรกิจเครื่องดื่มเดินหน้าขับเคลื่อน 4 กลยุทธ์หลัก ดังนี้ 1. สื่อสารประโยชน์ของชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชินที่มีในชาเขียวโออิชิทุกขวด เนื่องด้วยใบชานั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง มีสารคาเทชิน โดยเฉพาะยอดอ่อนใบชา 3 ใบ จากข้อมูลในหลายๆ งานวิจัยพบว่าคาเทชินทำหน้าที่ป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งสารอนุมูลอิสระนี้เป็นสาเหตุของการเสื่อมเสียต่างๆ และเป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามอายุที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสดชื่น

2. ขยายฐานกลุ่มวัยรุ่น เพิ่มมูลค่าให้กับบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความผูกพันกับกลุ่มวัยรุ่น

3. ขยายเซกเมนต์น้ำตาล 0% สร้างการเติบโตให้กับสินค้ากลุ่มน้ำตาล 0% เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ เช่น โออิชิ โกลด์ ก็ยังคงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่รักสุขภาพ ผลิตจากใบชานำเข้าจากไร่ชามัตสึดะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รางวัล The Emperor’s Cup ชารางวัลจักรพรรดิญี่ปุ่นปี 2015 และรางวัลต่างๆ มากมาย ไร่มัตสึดะตั้งอยู่ที่เมืองโอมาเอซากิ เป็นเมืองที่เหมาะแก่การเพาะปลูกชา ภูมิประเทศชุ่มชื้นจากสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์มาก ประกอบกับน้ำที่ได้จากเทือกเขาเจแปนแอลป์เป็นน้ำบริสุทธิ์ อุดมด้วยแร่ธาตุมากมายมาหล่อเลี้ยงต้นชา เจ้าของไร่ชา คุณสึโยมิ มัตสึดะ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาจากประสบการณ์ที่ตกทอดมา 5 ชั่วอายุคน จึงมีกรรมวิธีการผลิตชาที่พิถีพิถัน ใบชาทั้งหมดถูกเลือกเก็บจากยอดอ่อนใบชา หลังจากนั้นนำใบชาไปนึ่งด้วยไอน้ำเพื่อหยุดการเปลี่ยนสีของใบชาและคงคุณภาพชาไม่ให้เสียไป แล้วนำมานวดในทันที เพื่อให้ชาเกิดกระบวนการทางเคมี ใบชาจะมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เพื่อคงความสดของชาให้มากที่สุด หลังจากนั้นโออิชิจึงนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตด้วยนวัตกรรมบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ Cold Aseptic Filling หรือ CAF เป็นเทคโนยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในการผลิตเครื่องดื่มในปัจจุบัน ได้มาตรฐานระดับโลก สามารถควบคุมความสะอาด อีกทั้งยังคงรสชาติและคุณประโยชน์ของชาเขียวต่อร่างกายไว้ให้ดีที่สุด

4. ขยายตลาดส่งออก โดยเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดหลัก คือ กัมพูชา ลาว และพม่า ตลอดจนสร้างโอกาสการเติบโตในตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน


ส่วนกลุ่มร้านอาหารนั้น ในปี 2566 มุ่งเดินหน้ายกระดับมาตรฐานบริการและคุณภาพ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ด้านกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น ด้วยการขยายสาขาและช่องทางการขายในรูปแบบ Multi Format และธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมเพิ่มความหลากหลายของช่องทางจำหน่ายแบบไร้รอยต่อ (Omni Channel) และการบริหารจัดการร้านอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมยกระดับมาตรฐานสินค้า/บริการ และคุณภาพ ด้วยการคัดสรรและเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ สะอาด สดใหม่ และได้มาตรฐานจากแหล่งผลิตชั้นนำทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อเรื่องวัตถุดิบอาหารคุณภาพสูง ซึ่งหนึ่งในแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ “ตลาดโทโยสุ” (TOYOSU MARKET) ตลาดปลาและอาหารทะเลชั้นนำที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของวัตถุดิบทางทะเลที่สด ใหม่ และสะอาด มีการควบคุมอุณหภูมิและความเย็นภายในตลาดให้พอเหมาะ เพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพและความสดของปลาและสินค้าอื่นๆ ได้ตามที่ต้องการ

ปัจจุบันบริษัทมีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารจากประเทศญี่ปุ่นในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ครอบคลุมทั้งอาหารทะเล เนื้อสัตว์ และเบเกอรี โดยกลุ่มอาหารทะเลมีปริมาณการนำเข้ามากที่สุด โดยเฉพาะปลาทูน่าญี่ปุ่น จากตลาดโทโยสุ เฉลี่ยนำเข้าสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยมีการควบคุมอุณหภูมิระหว่างการจัดส่งอย่างเข้มงวด พร้อมกันนั้นยังดูเเลการจัดเก็บวัตถุดิบอาหารอย่างมีมาตรฐาน เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสถึงความสด ใหม่ และรสชาติที่ดีที่สุดของวัตถุดิบได้อย่างแท้จริง

สุดท้าย กับธุรกิจอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน ในช่วงก่อนและหลังสถานการณ์แพร่ระบาด อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงพร้อมรับประทาน ได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้น เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้มีคุณภาพ มีความสะดวกในการบริโภค และมีความหลากหลายของประเภทอาหาร


บริษัทฯ จึงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสินค้าอาหารสำเร็จรูปฯ โดยชูจุดแข็งด้านรสชาติ คุณค่าโภชนาการ และคุณภาพ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของฐานตลาดผู้บริโภคและยอดขาย ประกอบกับการพัฒนาสินค้าทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนตามกระแสความต้องการของผู้บริโภค เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มและซอสปรุงรส (รวมทั้งน้ำซุปสุกียากี้เข้มข้น), กลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (ข้าวกล่องพร้อมรับประทาน) และกลุ่มหมูปรุงรส (หมูสับผสมข้าวโพดปรุงรส-แช่แข็ง) โดยวางจุดขายให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทานสไตล์ญี่ปุ่นที่มอบความสะดวก อร่อย ได้มาตรฐาน ตอบรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นและรักการทำอาหารกินเองที่บ้าน นอกจากนั้นยังเล็งเห็นโอกาสทางการตลาดจากเทรนด์สุขภาพมาแรง จึงพัฒนาสินค้า/อาหารสำเร็จรูป ที่มีคุณประโยชน์และดีต่อสุขภาพให้มากขึ้นอีกด้วย














กำลังโหลดความคิดเห็น