“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม หารือร่วมรัฐมนตรี METI ย้ำความสัมพันธ์แน่นแฟ้นเชิงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้าน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (MIND) เปิดเผยถึงผลการหารือกับนายนิชิมุระ ยาสึโทชิ (Mr. Nishimura Yasutosh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่น วันที่ 11-15 มกราคม 2566 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่าง 2 ประเทศ ว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี ตอกย้ำความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจร่วมกันมาอย่างยาวนานในหลายด้าน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่นักลงทุนญี่ปุ่นได้มาลงทุนในประเทศไทย โดยการเข้าหารือกับ METI ยังเป็นการครบรอบ 1 ปี ที่ทั้ง 2 กระทรวงฯ คือ METI และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกันปรับแนวคิดจาก “Connected Industries” มาสู่ความร่วมมือ Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth ที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเมื่อปลายปี 2565
โดยเฉพาะประเด็นการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะบุคลากร ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือ Cooperation Framework on Human Resource Development for Realizing Industry 4.0 ขับเคลื่อน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1. แนวทางการร่วมกันพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 2. การขับเคลื่อนนโยบาย BCG ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานผ่านแนวคิดการร่วมสร้าง (Co-Creation)
นอกจากนี้ ยังหารือในประเด็นการลงทุนภายใต้กรอบ AJIF (Asia-Japan Investing for the Future) มุ่งเน้นความเชื่อมโยงระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศต่างๆ จึงเน้นย้ำถึงความพร้อมของประเทศไทยในการต้อนรับนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ที่กำกับดูแลโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลรวมทั้งสิ้น 67 แห่ง ใน 16 จังหวัด พื้นที่รวมเกือบ 2 แสนไร่ (ประมาณ 320 ตารางกิโลเมตร) เป็นนิคมฯ ที่ทันสมัย และมีเงินลงทุนสะสมรวมกว่า 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 1 ล้านราย โดยได้เชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เพราะเป็นการลงทุนด้วยการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (Total Solution Center : TSC) ที่จะคอยให้บริการและดูแลนักลงทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน กนอ.อยู่ระหว่างการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในพื้นที่จังหวัดระยอง มีพื้นที่ประมาณ 1,400 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม New S-Curve ในพื้นที่ EEC ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น ปัจจุบันก่อสร้างแล้วประมาณ 40% และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567 รวมทั้ง กนอ.ยังสนับสนุนการใช้พลังงานไฮโดรเจนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park นอกจากนี้ยังเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ซึ่งเป็นการลงทุนบนพื้นที่ถมทะเลเพื่อใช้เป็นท่าเรือสินค้าเหลว รวมทั้งคลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
"การประชุมหารือร่วมกับ METI ผมย้ำถึงการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้านกับญี่ปุ่น และหารือแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ในมิติเศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาค และภูมิภาค สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่าย” นายสุริยะกล่าว
ด้าน นายนิชิมุระกล่าวว่า ในส่วนของ METI ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือกับ MIND ในอนาคต 2 แนวทาง คือ 1. การทำให้ห่วงโซ่อุปทานเข้มแข็ง และ 2. การพัฒนาธุรกิจ Startup โดยมุ่งเน้นความร่วมมือ 3 ประการ ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ 2. การใช้ประโยชน์จากพลังงานไฮโดรเจน และ 3. การพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับนโยบาย Industry 4.0 ร่วมกัน