xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนน้ำมันฯ รับบทหนัก ยังต้องฝ่าวิกฤตพลังงานต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 2566 ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา จนทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซลทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์ในตลาดโลกยังคงผันผวนด้วยภาวะสงครามรัสเซีย - ยูเครนที่ยืดเยื้อ และภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อทำหน้าที่พยุงรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศจึงยังต้องเฝ้าระวังไม่ประมาทต่อความผันผวนที่ยังไม่หมดไป
ย้อนสถานการณ์ด้านราคาพลังงานในปี 2565 ที่ผ่านมา เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต หลังจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เริ่มซาลงทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็กลับเกิดวิกฤตสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ขึ้นมาอีก จนกลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง กินระยะเวลานานถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม เฉลี่ยราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) ปี 2565 อยู่ที่ 135.54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าถึง 74.26%

โดยในปี 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เข้าไปดูแลรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานโดยสนับสนุนมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะที่สำคัญคือ

การดูแลเสถียรภาพให้กับน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม เนื่องเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ จากที่ตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ไม่เกิน 35 บาท/ลิตรในปัจจุบัน และสามารถเริ่มทยอยเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ หลังจากที่ต้องชดเชยราคามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยในช่วงเกิดวิกฤตการสู้รบระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ราคาน้ำมันดิบดีดตัวสูงขึ้นกว่า 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งถือเป็นราคาสูงสุดในรอบ 14 ปี ทำให้ในช่วงดังกล่าวกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลในประเทศถึงลิตรละ 14 บาทเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565

การทยอยปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) แบบขั้นบันได จากที่ตรึงไว้ 318 บาท/ถังขนาด 15 กก. มาอยู่ที่ 408 บาท/ถัง 15 กก. และยังคงตรึงราคาไว้ที่ 408 บาท/ถังขนาด 15 กก.ไว้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากเป็นราคาต้นทุนจริง LPG จะสูงถึง 450 บาท/ถังขนาด 15 กก.

มาตรการบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 ติดลบประมาณ 130,000 ล้านบาท ขาดสภาพคล่องและมีหนี้เงินชดเชยที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงค้างชำระผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินและกรอบวงเงินกู้ตาม มาตรา 26 วรรคสาม ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
 
ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติผ่าน พ.ร.ก. ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ดำเนินการกู้เงินรอบแรก 30,000 ล้านบาทลงนามในสัญญาเรียบร้อยกับธนาคารกรุงไทยและธนาคาออมสิน และส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบลดลง ปัจจุบันประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 8 มกราคม 2566 ติดลบอยู่ที่ 119,771 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2566 ก็ต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ คือการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือเรียกง่ายๆ ว่า ยังคงต้องพยุงราคาอยู่ต่อไป ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ยังมีความผันผวนจากการสู้รบในยูเครน ปัจจัยจากกลุ่มโอเปกพลัสที่ไม่เพิ่มโควตาการผลิต การคว่ำบาตรด้านพลังงานต่อรัสเซีย สถานการณ์ของประเทศยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจทั้งจีน สหรัฐฯ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้น โดยแผนการกู้เงินต่อจากนี้ที่เหลือจากกรอบอีก 120,000 ล้านบาท สกนช.จะประสานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเพื่อบรรจุการกู้ยืมเงินต่อไป

(Advertorial)


กำลังโหลดความคิดเห็น