xs
xsm
sm
md
lg

"ศักดิ์สยาม" ตั้งกรรมการสู้ปม VO สายสีแดง หลังเอกชนยื่นอนุญาโตฯ ฟ้อง รฟท.จ่ายค่างานเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” เซ็นตั้งกรรมการฯ ตรวจข้อกฎหมาย ปมสั่งเพิ่มงาน VO สายสีแดง หลังเอกชนยื่นอนุญาโตตุลาการทวงรฟท.จ่ายกว่า 7 พันล้านบาท หวั่นต่อสู้ไม่ครบประเด็น ชี้งาน VO มีได้แต่ต้องทำตามระเบียบทุกขั้นตอน หากไม่ครบไม่เป็น VO คนสั่งเพิ่มงานถือว่าไม่มีอำนาจ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2566 ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 127/2566 แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการด้านให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และกำกับติดตามการชี้แจงคำวินิจฉัย ภายใต้คณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 14 คน ประกอบด้วย 1. นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านขนส่ง) เป็นประธานอนุกรรมการ 2. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นรองประธานฯ 3. นายชนินทร์ แก่นหิรัญ 4. นายสิทธิ โสภณภิรมย์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการอนุญาโตตุลาการ 2  5. พลตำรวจตรี อุกฤษฏ์ ศรีเสือขาม 6. อธิบดีกรมบัญชีกลางหรือผู้แทน 7. ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หรือผู้แทน 8. ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 9. ผู้แทนสภาวิศวกร
 
10. ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย 11. หัวหน้าสำนักอาณาบาล การรถไฟฯ 12. ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นเลขานุการ 13. ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมราง เป็นผู้ช่วยเลขานุการ 14. นายสุทธิรักษ์ ยิ้มยัง หัวหน้ากองประจำการรถไฟ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

โดยการแต่งตั้งดังกล่าว ภายใต้คณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ เพิ่มเติม ครั้งที่ 4 อนุสินธิคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 71/2564 สั่ง ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 แต่งตั้ง คณะกรรมการเตรียมเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ (ปัจจุบันคือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 คณะ นั้น


ปัจจุบันการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีประเด็นข้อกฎหมายกับผู้รับจ้างที่อาจส่งผลกระทบต่อความเรียบร้อยในการเปิดให้บริการ เช่น กรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 และการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณาคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ และความเห็นของสำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ ก่อนที่จะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ดังนั้น เพื่อให้มีการให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางกฎหมาย จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมอีก 1 คณะ

โดยมีอำนาจหน้าที่คือ 1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับผู้รับจ้างที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และพิจารณาให้คำปรึกษา แนะนำ หรือให้ข้อเสนอแนะต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ

2. กำกับดูแล ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทยในการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นไปโดยเรียบร้อย

3. เชิญหน่วยงานหรือบุคคลมาให้ข้อมูลได้ตามความเหมาะสม

4. รายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางชื่อเป็นระยะ


นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กรณีผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง สัญญาที่ 1 (งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ) มีการยื่นฟ้อง รฟท.เพื่อขอให้ชำระค่างานส่วนสั่งงานเพิ่มเติม หรือ Variation Order (VO) ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ รฟท.ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง จนกระทั่งมีการยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ และอยู่ระหว่างพิจารณาคำวินิจฉัย กระทรวงฯ จึงตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาซึ่งมีผู้แทนจากอัยการสูงสุด และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อพิจารณาข้อมูลและกรอบแนวทางการต่อสู้ข้อพิพาทเพื่อให้มีความครบถ้วนมากที่สุด

โดยให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา 1. งานเพิ่มเติมหรือ VO ดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบพัสดุฯ ถูกต้องหรือไม่ 2. BOQ งานที่เพิ่มเติมหรือ VO ถูกต้องหรือไม่ 3. ได้ดำเนินการงานดังกล่าวจริงหรือไม่ เรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการแล้ว ซึ่งจะต้องมีการชี้แจงข้อมูล รายละเอียด เนื่องจากสัญญาเปิดช่องให้สามารถมีงานเพิ่มเติม หรือ VO ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อกฎหมาย ให้ครบถ้วน ซึ่ง รฟท.ต้องอธิบายให้ได้ว่าในการสั่งทำงาน VO เพิ่มเติมนั้น ได้ทำตามขั้นตอน ระเบียบที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งหากไม่ได้ทำตามขั้นตอน ระเบียบที่กำหนด งานนั้นก็ไม่เข้าข่าย VO ดังนั้น หากเอกชนจะเรียกร้องใดๆ จะต้องฟ้องผู้อนุมัติเพราะออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ

“หลักการของงานเพิ่มเติมหรือ VO สามารถมีได้ แต่ต้องดำเนินการตามระเบียบ ขั้นตอนข้อกฎหมาย คือ กรณีมีงานเพิ่มเติม จะต้องมีการสำรวจออกแบบ และเสนอผู้ว่าฯ รฟท. เพื่อนำเสนอบอร์ด รฟท.อนุมัติ จากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติเพิ่มวงเงินให้ครบถ้วนก่อน จึงจะสั่งเริ่มงานเพิ่มเติมนั้นได้ เมื่อทำงานเสร็จ จึงตรวจรับและจ่ายเงิน หากไม่ทำตามขั้นตอนนี้แล้วไปจ่ายเงินที่ไม่สามารถจ่ายได้ตามกฎหมาย ก็จะเข้าข่ายละเมิดกันหมด ซึ่งตั้งแต่ผมรับตำแหน่ง รมต.คมนาคม ยังไม่เคยนำเสนอเรื่องเข้า ครม.เพื่อขอทำงาน VO เลย” นายศักดิ์สยามกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง สัญญาที่ 1 (งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) มีกิจการร่วมค้าเอสยู ประกอบด้วย บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) เป็นผู้รับจ้าง มูลค่างานตามสัญญา 29,826 ล้านบาท โดยผู้รับจ้างได้ยื่นฟ้องขอให้ รฟท.ชำระเงินจำนวน 7,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่างานสั่งเพิ่มเติม หรือ Variation Order (VO) ซึ่งเอกชนได้อ้างว่ามีการก่อสร้างตามข้อสั่งการของวิศวกรผู้ควบคุมงานมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นจำนวนหลายรายการ โดยมีประเด็นอำนาจสั่งการและอนุมัติในการเพิ่มงานของวิศวกรผู้มีอำนาจ หรือ The Enginee ซึ่ง รฟท.ได้เคยมีหนังสือสอบถามอัยการสูงสุดและกรมบัญชีกลางแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น