สหภาพฯ รฟท.เผยยังไม่พร้อมย้ายรถทางไกลไป "บางซื่อ" รถจักรไม่มีระบบห้ามล้ออัตโนมัติ ปัญหาห้องน้ำระบบเปิด นัดหารือ "ผู้ว่าฯ" 5 ม.ค. 66 เสนอปรับย้ายเฉพาะขบวนที่พร้อมก่อน เผยถามประชาชนผู้ใช้บริการจริง ยันไม่สะดวก มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
จากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ประกาศความพร้อมในการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ สายใต้ สายตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วนรถเร็ว โดยจะเปลี่ยนสถานีต้นทาง ปลายทาง มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 52 ขบวน ประกอบด้วยสายเหนือจำนวน 14 ขบวน สายใต้ 20 ขบวน และสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน ส่วนขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการต้นทาง-ปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตามเดิม เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไปนั้น
นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสหภาพฯรฟท.ได้นำเสนอความเห็นต่อผู้บริหาร รฟท.และกระทรวงคมนาคม และมีการเปิดเวทีสาธารณะ ว่าการย้ายขบวนรถไฟไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้นควรต้องมีความพร้อมทั้ง หัวรถจักร ขบวนรถโดยสาร สถานีต้องมีพื้นที่รองรับการจัดขบวน ซึ่งปัจจุบันในทางปฏิบัติยังไม่พร้อมในหลายเรื่อง รวมถึงผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสาร และการปฏิบัติงานเครื่องมือเครื่องจักรที่ยังไม่มีความพร้อม
@ลงพื้นที่ถามประชาชนผู้ใช้บริการจริง ไม่อยากให้ย้าย ลำบาก-ค่าใช้จ่ายเพิ่ม
โดยเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2565 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ สหภาพฯ รฟท.ได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามความเห็นจากผู้ใช้บริการจริงที่สถานีหัวลำโพง พบว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการย้ายรถไฟทางไกลทั้งหมดไปสถานีกลางบางซื่อ เพราะไม่สะดวกและทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปบางซื่อเพิ่มมากกว่าหัวลำโพง
ส่วนกรณีที่ระบุว่ามีการสอบถามความเห็นประชาชนแล้ว และพบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการย้ายไปสถานีกลางบางซื่อนั้นเป็นการสอบถามผ่านช่องทางโซเชียล ซึ่งไม่ได้เข้าถึงประชาชนผู้ใช้บริการจริง อีกทั้งเป็นการตั้งคำถามปลายปิด คือ เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย โดยบอกว่าจะมีการรองรับอะไรบ้าง เช่น ใช้ตั๋วต่อมานั่งสายสีแดงฟรีได้ เป็นต้น แต่ไม่ได้ลงในรายละเอียดของการใช้บริการผู้โดยสารรถไฟทางไกลจริงที่จะได้รับผลกระทบ ที่สำคัญ ไม่เคยมีการสอบถามความเห็นของพนักงานรถไฟ ว่าในทางปฏิบัติมีข้อติดขัดใดบ้างที่ต้องเพิ่มเติม ปรับแก้ไขก่อน เป็นการตัดสินใจของระดับนโยบายและผู้บริหารรถไฟ ก็บอกว่าต้องทำตามนโยบาย
โดยในวันที่ 5 ม.ค. 2566 สหภาพฯ รฟท.จะเข้าพบนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. เพื่อหารือปัญหาการย้ายต้นทางขบวนรถเชิงพาณิชย์ไปที่สถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากมีผลกระทบต่อผู้โดยสาร และผลกระทบในการบริการของ รฟท. และขอให้เริ่มเฉพาะขบวนที่มีความพร้อมก่อน และจะยื่นต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย หากไม่ได้รับการพิจารณาปรับเปลี่ยนจะมีการเคลื่อนไหวร่วมกับภาคประชาชนต่อไป
“สหภาพฯ รฟท.ไม่ได้คัดค้านเรื่องการใช้สถานีกลางบางซื่อ แต่การย้ายต้องทำอย่างเป็นขั้นตอน มีความพร้อม ทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร และมีเวลาปรับตัว และเห็นว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมี ควรมีศูนย์กลางเดินรถไฟแห่งเดียวที่บางซื่อ แต่มี 2 แห่ง คือหัวลำโพงด้วยได้ เพื่อความสะดวกของผู้ใช้บริการ เหมือนสนามบินที่เคยปิดดอนเมือง เพราะจะให้มีสุวรรณภูมิแห่งเดียวแต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาเปิดดอนเมืองเหมือนเดิม”
@เผยข้อกังวล รถจักรไม่มีระบบห้ามล้ออัตโนมัติ รถโดยสารห้องน้ำเป็นระบบเปิด ห้ามผู้โดยสารใช้จนกว่าจะพ้นทางยกระดับ
ส่วนของรถจักร เนื่องจากจะต้องมีเดินรถไฟบนทางยกระดับทั้งหมด ดังนั้น รถจักรควรต้องมีระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (ATP) เหมือนหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่จากจีน จำนวน 50 คัน ซึ่งปัจจุบันใช้ได้แล้ว 20 คัน รับมอบปลายปี 2565 จำนวน 10 คันอยู่ระหว่างทดสอบ และอีก 20 คันกำหนดรับมอบเดือน มี.ค. 2566 ส่วนรถจักรรุ่นเก่า ระบบ ATP ยังไม่พร้อม ทำให้ในการปฏิบัติงานยังมีความกังวล เนื่องจากเส้นทางสายใต้จากบางซื่อออกไปทางยกระดับมี 2 ทางวิ่ง ดังนั้น รถไฟทางไกลจะต้องวิ่งร่วมรถไฟชานเมืองสายสีแดง กรณีที่ไม่มี ATP หรือระบบห้ามล้ออัตโนมัติ ก็ถือว่ายังมีความเสี่ยงกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนสายเหนือและอีสาน โครงสร้างยกระดับรถไฟทางไกล แยกต่างหากจากสายสีแดง
ในส่วนของรถโดยสาร ห้องน้ำจะต้องเป็นระบบปิด ซึ่งขณะนี้มีเพียงรถโดยสารรุ่นใหม่ 115 คันเท่านั้น ที่มีห้องน้ำระบบปิดส่วนรถโดยสารเดิมทั้งหมดห้องน้ำยังเป็นระบบเปิด ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีการห้ามผู้โดยสารใช้ห้องน้ำบนขบวนรถ ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปจนกว่าพ้นเขตทางวิ่งยกระดับ
นายสราวุธกล่าวว่า ที่ผ่านมาสหภาพฯ รฟท.ได้มีข้อเสนอไปยังผู้บริหารและระดับนโยบาย เพื่อขอให้ปรับเปลี่ยนการเดินรถไฟที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เริ่มจากขบวนที่มีความพร้อมก่อน เช่น รถไฟทางไกลที่เป็นรถขบวนใหม่ 115 คัน ซึ่งปัจจุบันมีวิ่งบริการวันละ 8 ขบวน ไป/กลับ ส่วนสายใต้ ขอให้วิ่งทางรถไฟด้านล่างไปก่อน จนกว่าจะมีระบบ ATP พร้อมสมบูรณ์
“ปัจจุบันรถโดยสารไม่พอ ประชาชนผู้ใช้บริการสับสนแน่นอน อยากให้นโยบายเข้าใจและเริ่มย้ายเฉพาะขบวนที่มีความพร้อมก่อน เช่น รถโดยสาร 115 คัน วันละ 8 ขบวน (ไป/กลับ) เป็นการทดลองไปในตัวด้วย และหากมีปัญหาตรงไหนยังดูแลผู้โดยสารได้ แต่การย้ายไปทั้งหมด โดยยังไม่พร้อมทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกและไม่มีทางเลือก