คมนาคมกางแผนเปิดวิ่ง 120 กม./ชม.อีก 4 เส้นทาง ทล.1 ทล.347 ถ.ราชพฤกษ์ และ ถ.นครอินทร์ เผยปี 66 ตั้งงบ 2.4 พันล้านบาทติดตั้งแบริเออร์ และหลักนำทาง กว่า 247 กม. ส่วนปี 67 ชงงบกว่า 8.2 พันล้านบาท อีก 813 กม.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติในปี 2566 และปี 2567 ว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง 4 มิติ 5 ด้าน คือ ทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ โดยในปี 2565 มี 79 นโยบาย 167 โครงการ โดยสามารถดำเนินการแล้วเสร็จหรือเปิดให้บริการแล้วรวม 61 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 64 โครงการ และอยู่ในช่วงจัดทำแผนงานหรือออกแบบจำนวน 42 โครงการ โดยนโยบายด้านการขนส่งทางถนนมีจำนวน 13 นโยบาย 25 โครงการ ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 5 โครงการ เช่น การกำหนดความเร็วรถยนต์สูงสุดไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในช่องทางขวาสุด โครงการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) เป็นต้น ซึ่งเป็นโครงการที่อำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้ถนน
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมทางหลวง (ทล.) ได้มีการประกาศใช้ความเร็ว 120 กม./ชม.ช่องทางขวาสุดแล้ว จำนวน 11 สายทาง ระยะทางรวม 218.363 กม. และในปี 2566 จะประกาศเพิ่มเติมอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ระยะทาง 26 กม. ประมาณเดือน พ.ค. 2566 และทางหลวงหมายเลข 347 (ถนนปทุมธานี-บางปะหัน) ระยะทาง 10 กม. ประมาณเดือน มี.ค. 2566
ด้านกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้มีการทดลองใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. ที่ทางหลวงชนบทสาย นบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) กม.ที่ 32+600 ถึง 39+850 ระยะทาง 7.25 กม. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 และปี 2566 จะขยายอีก 2 เส้นทาง คือ ถนนราชพฤกษ์ ระยะทาง 13.19 กม. และทางหลวงชนบท สาย นบ.1020 (ถนนนครอินทร์) ระหว่าง กม.ที่ 0+480 ถึง กม.ที่ 10+640 ระยะทาง 10.16 กม.
สำหรับการกำหนดความเร็วรถยนต์สูงสุดไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ทล. และ ทช.ได้บูรณาการความร่วมมือในการปรับปรุงถนน โดยการติดตั้งคอนกรีตแบริเออร์ (SSB), แผ่นยางธรรมชาติครอบคอนกรีตแบริเออร์ (RFB) หรือหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) รวมถึงปรับปรุงลักษณะทางกายภาพอื่นที่จำเป็นในโครงข่ายถนน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุ จากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรโดยการเลี้ยวหรือการกลับรถทับเส้นเกาะกลางในบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย รองรับการปรับความเร็ว จำกัดไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง การกลับรถทับเส้นเกาะกลางในบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย
ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้มีการดำเนินการในปี 2563-2565 โดยติดตั้งคอนกรีตแบริเออร์ ระยะทาง 206.29 กม. งบประมาณ 1,403.27 ล้านบาท ติดตั้งแผ่นยางธรรมชาติครอบคอนกรีตแบริเออร์ ระยะทาง 154.46 กม. งบประมาณ 645.47 ล้านบาท และติดตั้งหลักนำทางยางธรรมชาติ จำนวน 89,635 ต้น งบประมาณ 200 ล้านบาท
ปี 2566 มีแผนติดตั้งคอนกรีตแบริเออร์ ระยะทาง 149.93 กม. งบประมาณ 1,489.08 ล้านบาท และปี 2567 เตรียมเสนอของบประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการติดตั้งคอนกรีตแบริเออร์ ระยะทาง 687.00 กม.
ส่วนกรมทางหลวงชนบท ได้มีการดำเนินการในปี 2563-2565 โดยติดตั้งคอนกรีตแบริเออร์ ระยะทาง 118.19 กม. งบประมาณ 730.19 ล้านบาท ติดตั้งแผ่นยางธรรมชาติครอบคอนกรีตแบริเออร์ ระยะทาง 73.88 กม. งบประมาณ 324.34 ล้านบาท และติดตั้งหลักนำทางยางธรรมชาติ จำนวน 200,714 ต้น งบประมาณ 3,967.48 ล้านบาท
ขณะที่ปี 2566 มีแผนติดตั้งคอนกรีตแบริเออร์ ระยะทาง 124.60 กม. งบประมาณ 908.90 ล้านบาท และติดตั้งหลักนำทางยางธรรมชาติ จำนวน 29,411 ต้น งบประมาณ 70.52 ล้านบาท ส่วนปี 2567 เตรียมเสนอของบประมาณ 1,271.94 ล้านบาท เพื่อดำเนินการติดตั้งคอนกรีตแบริเออร์ ระยะทาง 126.95 กม.
รายงานข่าวเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ปัจจุบัน มีสมาชิกผูกบัญชีแล้วรวม 439,536 ราย มีจำนวนรถทั้งหมด 521,800 คัน โดยกรมทางหลวงได้เปิดให้บริการระบบ M-Flow บนมอเตอร์เวย์สาย 9 จำนวน 4 ด่าน คือ ด่านธัญบุรี 1, 2 และด่านทับช้าง 1, 2 ซึ่งพบว่าจากปริมาณจราจรเฉลี่ยบนมอเตอร์เวย์สาย 9 เฉลี่ย 294,783 คัน/วัน มีการใช้บริการระบบ M-Flow ในสัดส่วน 35.31%
ส่วนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบอุปกรณ์ โดยจะเปิดให้บริการในปี 2566 จำนวน 3 ด่าน คือ ด่านสุขาภิบาล 5-1 ด่านสุขาภิบาล 5-2 ด่านจตุโชติ