บอร์ดกกพ. เคาะค่าFt งวดม.ค.-เม.ย.66 สำหรับอัตราประเภทธุรกิจ อุตฯ บริการ ลดลง จากอัตราเดิมอีก 35.52 สตางค์ต่อหน่วยส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมเดิมที่ต้องจ่าย 5.69 บาทต่อหน่วยเหลือเป็น 5.33 บาทต่อหน่วย ขณะที่ค่าไฟกลุ่มประเภทบ้านที่อยู่อาศัยยังคงเดิมที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ย้ำราคาที่ลงได้เพราะ”กฟผ.”ยอมเลื่อนยืดจ่ายหนี้เป็น3 ปี
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า บอร์ดกกพ. 28 ธ.ค. ได้พิจารณาและมีมติ ทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวดม.ค.-เม.ย. 66 ประเภทอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรม ธุรกิจ บริการฯลฯ ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่เดิมจะต้องปรับไปอยู่ 190.44 สตางค์ต่อหน่วยหรือจ่ายค่าไฟเฉลี่ยที่ 5.69 บาทต่อหน่วย ทบทวน Ft ใหม่เหลือ 35.52 สตางค์ต่อหน่วยเป็น 154.92 สตางค์ต่อหน่วยทำให้เมื่อรวมกับค่าไฟฐานแล้วค่าไฟเฉลี่ยกลุ่มนี้ลดลงเหลือ ประมาณ 5.33 บาทต่อหน่วย ส่วนค่าไฟฟ้ากลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยยังคงเดิมที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานแล้วค่าไฟเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับเท่าเดิมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้สาเหตุที่ลดค่าไฟฟ้าครั้งนี้ได้ เนื่องจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.) ยอมเลื่อนการคืนหนี้ ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ออกให้ประชาชนไปก่อน 1.6 แสนล้านบาท โดยเดิมขอให้ชำระหนี้ภายใน 2 ปีก็ขอให้พิจารณาเลื่อนเป็น 3 ปี ทำให้ต้นทุนส่วนนี้ลดลงจากงวดนี้ 33 สตางค์เหลือ 22 สตางค์ต่อหน่วย และมีการปรับสูตรคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ จากแนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จึงลดอัตราคำนวณจากราว 37 บาทเหลือ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลต้นทุนราคาก๊าซฯเหลือ 466 บาทต่อล้านบีทียู จากอัตราเดิมอยู่ที่ 506 บาท/ล้านบีทียู และอีกส่วนหนึ่งมาจากการนำก๊าซในอ่าวไทย แบ่งมาใช้คำนวณในระบบแก่กลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ มีการนำก๊าซฯอ่าวไทย ไปคำนวณเฉพาะการใช้ผลิตไฟฟ้าให้กับกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น
ส่วนไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง และครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 500 หน่วยต่อเดือน ทาง กกพ.คำนวณตัวเลขว่าหากยังมีการให้ส่วนลดแบบขั้นบันได เหมือนกับงวดค่าไฟฟ้าในปัจจุบันแล้ว จะต้องใช้วงเงินมาดูแลรวม 9,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้จะมาจากการเกลี่ยก๊าซฯของ บมจ.ปตท.ราว 6,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินอีก 3,000 ล้านบาทกำลังพิจารณาว่าจะมาจากส่วนใด โดย กกพ. เสนอแนะว่า น่าจะมาจากเงิน SHORT FALL ที่ ปตท.ได้รับจาก เชฟรอนฯ ช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่ง เชฟรอนผลิตก๊าซได้ต่ำกว่า สัญญา จึงต้องจ่ายค่าปรับแก่ ปตท.4,000-5,000 ล้านบาท โดย กกพ.เห็นว่า ปตท.ควรคืนในส่วนนี้เพื่อนำมาเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้า
“ในส่วนของค่าไฟฟ้าบ้านที่ต่ำกว่าเอกชนและกลุ่มอื่นๆ ก็เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 43(2) และ มาตรา 57 (2) กำหนดไว้ชัดทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ต้องจัดสรรแก่ประชาชนและชุมชนก่อน ดังนั้น ก๊าซอ่าวไทย ที่ราคา6-7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จึงนำมาใช้คำนวณให้กลุ่มบ้านค่าไฟจึงถูกกว่าเอกชนและกลุ่มอื่นๆ ซึ่งกลุ่มเอกชนที่ผ่านมาก็ได้รับประโยชน์จากค่าไฟฟ้าที่ลดลงเอฟทีติดลบ 15.32 สตางค์ต่อหน่วยเมื่อปี 64 ในส่วนนี้ก็ไม่เคยลดราคาสินค้าให้กับประชาชนแต่อย่างใด และส่วนที่ระบุว่าค่าไฟฟ้าเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 2 บาท/หน่วย ก็อยากให้ไปดูข้อเท็จจริงว่า มีค่าไฟฟ้าอัตรานี้จริงหรือไม่ “แหล่งข่าวกล่าว