สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พ.ย.หดตัวแรง 5.6% แต่ 11 เดือนแรกยังโต 1.41% มั่นใจตลอดปี 2565 จะโตได้ 1% ขณะที่ปี ’66 อยู่ระดับ 2.5-3.5% อานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นแต่ยังเสี่ยงจาก ศก.โลกชะลอ กางบทวิเคราะห์ผลกระทบค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ขึ้นเป็น 5.69 บาท/หน่วยกระทบ 6 กลุ่มอุตฯ หนักสุด โดยเฉพาะ SME
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 95.11 หดตัว 5.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 15 เดือนนับจากเดือนก.ย. 64 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.63% ปรับขึ้นจาก ต.ค. 65 ที่อยู่ระดับ 59.84% ส่งผลให้ MPI 11 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ย. 65) เฉลี่ยอยู่ที่ 98.68 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตสะสม 11 เดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 63.02% สศอ.จึงคาดการณ์ว่าตลอดปี 2565 MPI จะขยายตัว 1% และ GDP อุตสาหกรรม 2% ส่วนปี 2566 คาดการณ์ว่า MPI และ GDPอุตสาหกรรมจะโตเฉลี่ย 2.5-3.5%
“MPI เดือน พ.ย.ที่หดตัวมาจากปัจจัยหลักการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกซึ่งจะกลับมาสู่ภาวะปกติในเดือน ธ.ค. 65 ซึ่งหากเทียบกับเดือน ต.ค. 65 MPI ขยายตัว 1.55% โดยภาพรวมการขยายตัวของ MPI 11 เดือนแรกปีนี้มาจากภาคการส่งออกที่เติบโต ประกอบกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมา ประกอบกับข้อจำกัดการผลิตได้คลี่คลายลง อาทิ ค่าระวางเรือมีทิศทางลดลง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ปรับตัวดีขึ้น เมื่อรวมกับการฟื้นตัวของท่องเที่ยวที่จะมีมากขึ้นจึงคาดการณ์ว่า MPI ปี ’66 จะขยายตัวต่อเนื่อง” นางวรวรรณกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ ราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง การปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนกระทบต่อภาคการส่งออก และทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย
ทั้งนี้ สศอ.ได้ทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบภาคอุตสาหกรรมกรณีการปรับขึ้นค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ซึ่งงวดนี้จะปรับค่า Ft เฉพาะอัตราประเภทอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ บริการ ฯลฯ เป็นค่าไฟเฉลี่ย 5.69 บาทต่อหน่วย อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุดเพราะต้องอาศัยไฟฟ้าสูงในการผลิต ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 2. อุตสาหกรรมซีเมนต์ 3. อุตสาหกรรมสิ่งทอ 4. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีต 5. อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย 6. อุตสาหกรรมเซรามิก และสิ่งที่น่าห่วงคือวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (MSME) ที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่