xs
xsm
sm
md
lg

ผู้โดยสารบ่นปฏิรูปรถเมล์สัมปทาน 77 เส้นทาง เอกชนมีรถน้อย รอนาน บางสายมีรถวิ่งแค่ 1 คัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้โดยสารบ่นปฏิรูปรถเมล์ “คมนาคม” โปรโมตรถเมล์ไฟฟ้า “ไทยสมายล์บัส” เปิดวิ่ง 71 เส้นทางขนรถจอดโชว์พรึ่บ แต่มีวิ่งจริงน้อย รอนานเป็นชั่วโมง เที่ยวสุดท้ายหมดไว แฉเหตุบางเส้นทางมีรถวิ่ง 1 คัน แถมเปิดแอปฯ "TSB GO" แต่ไม่เสถียร วงในชี้ปมเหตุรถผลิตไม่ทัน แบตเตอรี่ยังมีปัญหา

รายงานข่าวแจ้งว่า จากที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ประกาศให้ผู้ประกอบการเดินรถยื่นขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง เส้นทางหมวด 1 ตามแนวทางการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 77 เส้นทาง เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 ซึ่งปรากฏว่า บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ได้รับอนุมัติให้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง จำนวน 71 เส้นทาง โดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ลงวันที่ 24 มี.ค. 2565 โดยไทยสมายล์บัสต้องนำรถเข้าดำเนินการทางทะเบียนและภาษีรถพร้อมทั้งจัดเดินรถตามเงื่อนไขภายใน 180 วัน หรือในวันที่ 25 ต.ค. 2565 และมีการขอผ่อนผันอีก 60 วัน โดยสิ้นสุดเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2565 นั้น

จากการตรวจสอบข้อมูลที่มีเผยแพร่ในเพจเกี่ยวกับรถเมล์ เพจ "Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์", เพจ "รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai" พบว่า บริษัท ไทยสมายล์บัส ได้มีการนำรถวิ่งให้บริการใน 71 เส้นทางที่ได้รับใบอนุญาต ครบตามกำหนด แต่พบว่ารถที่มีการวิ่งให้บริการในแต่ละเส้นทางมีจำนวนน้อยเกินไป ผู้โดยสารประสบปัญหาการรอรถนาน เช่น เส้นทางใหม่ สาย 4-29E แสมดำ-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) (ทางด่วน) พบว่ามีรถวิ่งเพียง 1 คัน มีกำหนด 3 เที่ยวต่อวัน, สาย 4-34 (ใหม่) วงกลมเคหะธนบุรี-พระประแดง พบว่ามีรถเพียง 1 คัน, เส้นทางใหม่ สาย 1-9E (ใหม่) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (ทางด่วน) มีรถวิ่ง 2 คัน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ร้องเรียนว่าจำนวนรถมีน้อย แอปฯ ใช้การไม่ได้ รอรถนานเป็นชั่วโมง และยังเลิกวิ่งเที่ยวสุดท้ายไว โดยพบว่ารถในหลายเส้นทางหมดเที่ยวสุดท้ายเวลา 18.00 น. หรือ 19.00 น. จากเดิมที่วิ่งบริการไปถึง 21.00 น. และที่ผ่านมาผู้โดยสารรถเมล์จะตรวจสอบติดตามเส้นทางและเช็กสถานะรถโดยสารประจำทาง ภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลผ่านทาง แอปพลิเคชัน "ViaBus(เวียบัส)" ผ่านแอปฯ แต่ "ไทยสมายล์บัส" ไม่เข้าร่วมแอปฯ นี้ โดยมีแอปพลิเคชัน TSB GO ของตนเอง ขึ้นมา แต่ที่ผ่านมาผู้โดยสารเข้าไปตรวจสอบสถานะรถไม่ได้ เจอปัญหาแอปฯ ยังไม่เสถียร ซึ่งทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะจำนวนรถน้อยนั่นเอง

รายงานข่าวระบุว่า ภาพรวมในแต่ละเส้นทางมีรถแค่ 3-4 คัน ซึ่งทางบริษัทอาจมีปัญหาในการผลิตรถไม่ทัน และที่ผ่านมายังพบว่าการผลิตช่วงแรกอาจยังมีปัญหา ที่ต้องปรับปรุงโดยเฉพาะแบตเตอรี่ ทำให้รถที่ออกมาวิ่งช่วงแรกหลายร้อยคันมีปัญหาและพบแบตเตอรี่ร้อน ทำให้รถวิ่งจอดตายกลางทาง ซึ่งนอกจากรถน้อยแล้วยังพบว่ามีปัญหาขาดแคลนพนักงานอีกด้วย โพยพบว่าพนักงานต้องทำงานไม่มีวันหยุด พร้อมทำงานล่วงเวลา (OT) ทุกวัน จนมีพนักงานร้องต่อ แรงงานจังหวัด เรื่องทำงานเกินกฎหมายกำหนด

รายงานข่าวระบุต่ออีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีการจัดงานเปิดตัวรถเมล์ไฟฟ้าในแต่ละสายแล้วพบว่ามีการนำรถเมล์ไฟฟ้าจำนวนมากจอดโชว์ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการโยกรถจากเส้นทางอื่นมาโชว์หรือไม่ ขณะที่เมื่อเปิดวิ่งจริงกลับมีรถไม่กี่คัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ และบางเส้นทางที่มีรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้บริการอยู่เดิม เช่นสาย 11, 12, 97, 555 เบื้องต้นยังคงให้ ขสมก.วิ่งร่วมกันไปก่อนในเส้นทางเดิม จนกว่าไทยสมายล์บัสจะพร้อมเดินรถเต็มกำลัง และรอคำสั่งจากขนส่งให้ ขสมก.ถอนรถออกต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไข ใบอนุญาต ขบ.ได้กำหนดจำนวนที่จะต้องบรรจุรถ ขั้นต่ำ-ขั้นสูง ในแต่ละเส้นทาง รวมถึงกำหนดเที่ยววิ่งขั้นต่ำต่อวันไว้ แต่ในความเป็นจริงพบว่าบริษัทยังไม่สามารถให้บริการได้ตามจำนวนขั้นต่ำหลายเส้นทาง และมีคำถามว่าจำนวนขั้นต่ำที่กำหนดนั้นเพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสารโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนหรือไม่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ ขสมก.ยังคงต้องวิ่งในบางเส้นทางต่อไปเพื่อช่วยเอกชน

ซึ่งหากยึดตามเงื่อนไข จำนวนรถขั้นสูง จำนวน 71 เส้นทางของไทยสมายล์บัสจะต้องมีรถจำนวน 2,130 คัน และหากรวมกับผู้ประกอบการอีก 2 ราย (6 เส้นทาง) รวมเป็น 77 เส้นทาง จะต้องมีรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 2,240 คัน ขณะที่ทางกระทรวงคมนาคมระบุว่าในปี 2565 จะมีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการจำนวน 1,250 คัน ซึ่งอาจจะเป็นการกำหนดตามจำนวนการบรรจุรถขั้นต่ำ ซึ่งน้อยกว่าจำนวนรถที่เต็มอัตราบริการเกือบ 1,000 คัน จึงไม่แปลกที่ผู้โดยสารต้องรอรถแต่ละสายนานเป็นชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น