เปิดศักราชใหม่ 2566 หลังสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลพยายามเดินหน้าการลงทุนในทุกเซ็กเตอร์เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มกำลัง ซึ่งการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐและรัฐสาหกิจ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ยังเป็นเครื่องจักรหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อหวังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวไปตามเป้าหมาย เนื่องจากเป็นการลงทุนที่เกิดการสร้างงาน และผลสำเร็จของโครงการต่างๆ นอกจากจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์การขนส่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย
“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมนั้น มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ลง 30% โดยจะมีการนำระบบเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ พร้อมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานอื่น และการเชื่อมต่อการขนส่งจากทางบก สู่ระบบราง และเชื่อมต่อกับขนส่งทางน้ำ และทางอากาศ อย่างไร้รอยต่อ
@ กางงบปี 66 กว่า 2.28 แสนล้านบาท ทล.มากสุด 1.13 แสนล้าน เร่งประมูลงานปีเดียวกว่า 8 หมื่นล้านใน ธ.ค. 65
หากย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ คือ ปี 2564 กระทรวงคมนาคม ได้รับจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 227,894 ล้านบาท ส่วนปี 2565 ได้รับจัดสรรงบประมาณวงเงิน 208,455.2336 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงเนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 สำหรับปี 2566 กระทรวงคมนาคม ได้รับจัดสรรงบประมาณวงเงิน 228,930.28 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น ราว 20,000 ล้านบาท
โดยงบประมาณกว่า 2.28 แสนล้านบาทนั้น แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 27,419.32 ล้านบาท (11.98%) รายจ่ายลงทุน จำนวน 201,510.96 ล้านบาท (88.02%) โดยมี 8 ส่วนราชการ และ 5 รัฐวิสาหกิจ จาก 12 รัฐวิสาหกิจ ที่มีการใช้งบแผ่นดิน ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.)
ซึ่งส่วนราชการ 8 หน่วย นั้น กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับงบมากที่สุด จำนวน 113,464.41 ล้านบาท รองลงมาคือ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับจำนวน 45,583.25 ล้านบาท และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รับจำนวน 4,761.01 ล้านบาท
จัดแบ่งเป็น 1. งบรายการปีเดียว จำนวน 80,360.11 ล้านบาท (39.88%) 2. งบผูกพันเดิม จำนวน 58,013.85 ล้านบาท (28.79%) 3. งบผูกพันใหม่ จำนวน 12,981.22 ล้านบาท (6.40%) 4. ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 24,305.38 ล้านบาท (12.06%) 5. งานดำเนินการเอง จำนวน 14,175.84 ล้านบาท (7.03%) 6. อื่นๆ จำนวน 11,764.57 ล้านบาท (5.84%) ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง วงเงิน 3,739.95 ล้านบาท (รฟท.), ชำระคืนเงินต้น รฟท. วงเงิน 4,351.72 ล้านบาท รฟม.วงเงิน 2,667.92 ล้านบาท, รายการที่เบิกจ่ายในลักษณะประจำ (ค่าใช้จ่ายประเมินผลโครงการก่อสร้างทางหลวง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกรณีส่วนรวมของประชาชน เป็นต้น) วงเงิน 1,004.98 ล้านบาท
สำหรับ 5 รัฐวิสาหกิจ ได้รับงบลงทุนรวม 32,764.02 ล้านบาท โดย รฟม.ได้รับมากที่สุด จำนวน 17,042.87 ล้านบาท รองลงมาคือ รฟท. จำนวน 15,535.84 ล้านบาท ด้านรายจ่ายประจำ 5 รัฐวิสาหกิจ ได้รับจัดสรรจำนวน 15,853.35 ล้านบาท โดยรฟท.ได้รับมากสุด 7,191.54 ล้านบาท รองลงมาคือ รฟม. จำนวน 4,481.92 ล้านบาท และ ขสมก.จำนวน 4,074.13 ล้านบาท
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า งบประมาณปี 2566 ได้ให้หน่วยงานจัดทำแผนการลงนามในสัญญา โดยรายการปีเดียวให้ลงนามในสัญญาแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2565 และรายการผูกพันใหม่ให้ลงนามในสัญญาแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 พร้อมทั้งจัดทำแผนการเบิกจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อสามารถเบิกจ่ายเงินให้ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล
@เปิดที่มา 7 แหล่งงบลงทุนปี 2566 รวมกว่า 3.11 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ งบลงทุนรวมในปี 2566 ของกระทรวงคมนาคมมีทั้งสิ้นถึง 311,483.56 ล้านบาท โดยนอกจากงบแผ่นดิน จำนวน 201,510.96 ล้านบาท (คิดเป็น 64.69%) แล้ว ยังมีงบลงทุนจากแหล่งอื่นๆ อีก 6 แหล่ง ได้แก่ 1. เงินกู้ วงเงิน 44,087.01 ล้านบาท (14.15%) 2. รายได้ วงเงิน 42,433.25 ล้านบาท (13.62%) 3. เงินงบประมาณ (งบแผ่นดิน +เงินกู้ที่รัฐรับภาระ) วงเงิน 8,825.70 ล้านบาท (2.83%) 4. กองทุน TFF วงเงิน 8,598.26 ล้านบาท (2.76%) 5. PPP วงเงิน 5,701.71 ล้านบาท (1.83%) 6. กองทุน วงเงิน 326.67 ล้านบาท (0.01%)
@ เจาะแผนงานปี 2566 สานต่อ 115 โครงการเดิม & ผลักดัน 55 โครงการใหม่ มูลค่ารวมกว่า 1.24 แสนล้านบาท
ข้อมูลแผนการดำเนินงานปี 2566 ของกระทรวงคมนาคม พบว่า มีทั้งสิ้น 170 โครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุนรวม 2.7 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2565 จำนวน 115 โครงการ วงเงินลงทุน 2,618,270 ล้านบาท และงานใหม่ 51 โครงการ วงเงินลงทุน 124,724 ล้านบาท (เงินงบประมาณ 35,388 ล้านบาท เงินนอกงบประมาณ 89,337 ล้านบาท) โดยมีสัดส่วนเงินกู้ 49% , งบประมาณ 28% ,อื่นๆ 11% ,PPP 7% ,รายได้รัฐวิสาหกิจ 5%
โดยทางถนน มีวงเงินลงทุนรวม 30,960.32 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการต่อเนื่อง วงเงิน 18,683.32 ล้านบาท โครงการใหม่ วงเงิน 446 ล้านบาท โครงการ PPP วงเงิน 5,973 ล้านบาท โครงการใช้เงิน TFFวงเงิน 5,858 ล้านบาท
ทางบก วงเงินลงทุนรวม 541.09 ล้านบาท โดยเป็น โครงการต่อเนื่อง ทั้งหมด
ทางราง วงเงินลงทุนรวม 83,147.74 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการต่อเนื่อง วงเงิน 80,947.55 ล้านบาท โครงการใหม่ วงเงิน 11.12 ล้านบาท โครงการ PPP วงเงิน 2,189.07 ล้านบาท
ทางน้ำ วงเงินลงทุนรวม 2,936.15 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการต่อเนื่องวงเงิน 1,556.15 ล้านบาท โครงการใหม่ วงเงิน 1,380 ล้านบาท
ทางอากาศ วงเงินลงทุนรวม 7,197.70 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการต่อเนื่อง 2,799.19 ล้านบาท โครงการใหม่ วงเงิน 4,398.51 ล้านบาท
@โปรเจ็กต์ไฮไลต์ ปี 66 ลุยประมูล PPP มอเตอร์เวย์และรถไฟสีแดงส่วนต่อขยาย
น่าจับตา ปี 2566 ว่า โครงการที่อยู่ในแผน จะสามารถผลักดันให้เปิดประมูลได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เฉพาะมอเตอร์เวย์ 4 เส้นทาง และรถไฟสีแดง 3 เส้นทางมูลค่ารวมกัน กว่า 1.1 แสนล้านบาท หากทำได้ จะเกิดการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ผู้รับเหมา และอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ไม่น้อย ขณะที่รัฐบาล”ประยุทธ์ จันทร์โอชา”จะหมดวาระ เกิดรอยต่อหลังการเลือกตั้ง ก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจทำให้โครงการไม่เป็นไปตามแผนงาน
ทั้งนี้ ภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนโครงการเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมที่ยั่งยืน ในปี 2566 จึงมีการลงทุนโครงการใหม่ โดยมุ่งเน้นการร่วมลงทุนกับเอกชน เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐ โครงการไฮไลต์ที่จะมีการเปิดประมูล โดยกรมทางหลวง มีโครงการมอเตอร์เวย์เตรียม ประมูล ได้แก่ มอเตอร์เวย์ สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 56,035 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการ PPP มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565
มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) หรือ M 5 ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 28,700 ล้านบาท เป็น PPPGross Cost ,มอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 109 กม.วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท อยู่ะหว่าง ทบทวนผลการศึกษาโครงการใหม่ ,มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7)ระยะทาง 1.92 กม. วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท
ด้านกทพ. มีทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 14,470 ล้านบาท ที่เปิดเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนเมื่อกลางเดือนธ.คง 2565 และกำหนดยื่นข้อเสนอในเดือนเม.ย. 2566 และยังมีทางด่วนสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กม. วงเงินลงทุน 30,896 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างศึกษา PPP
กรมทางหลวงชนบท มี สะพานเชื่อมเกาะลันตา จ.กระบี่ วงเงินลงทุน 1,849.50 ล้านบาท, สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา -อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วงเงินลงทุน4,829.25 ล้านบาท ที่เตรียมเปิดประมูล
ด้าน บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 36,829.499 ล้านบาท รองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคน/ปี ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม. ,การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่ 2 วงเงิน 6,211 ล้านบาท รองรับผู้โดยสาร 18 ล้านคน/ปีจากเดิม 12.5 ล้านคน/ปี เตรียมจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดความเหมาะสม
ส่วนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เตรียมพัฒนาท่าอากาศยานระนอง ต่อความยาวทางวิ่ง เป็น 2,400 เมตร วงเงิน วงเงิน 750 ล้านบาท , การพัฒนาท่าอากาศยานใหม่ จ.มุกดาหาร วงเงิน 41.0427 ล้านบาท และจ. บึงกาฬ วงเงิน 41.0427 ล้านบาท ที่ได้งบออกแบบศึกษารายละเอียด
กรมเจ้าท่า เดนหน้าแผนพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา อีก 3 แห่ง วงเงินรวม 79 ล้านบาท คือ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า วงเงิน 20 ล้านบาท ท่าเรือพระราม 5 วงเงิน 24 ล้านบาท ท่าเรือปากเกร็ด วงเงิน 35 ล้านบาท
@ชงครม.เคาะประมูลก่อสร้างรถไฟสีแดง ส่วนต่อขยาย
อีกโครงการสำคัญที่คาดว่าจะมีการผลักดันให้เปิดประมูลก่อสร้างในปี 2566 คือ โครงการรถไฟสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) 4 เส้นทาง โดยขณะนี้ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา 3 เส้นทาง ที่มีการปรับกรอบวงเงิน คือ 1. เส้นทางตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท 2. เส้นทางตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม.วงเงิน 4,694.36 ล้านบาท 3. เส้นทางรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท
สำหรับเส้นทางบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 47,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแบบสถานีราชวิถี และย้ายตำแหน่งสถานีใหม่
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2565 ด้านขนส่งทางบก เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 3 เส้นทาง คือ M 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา กรอบวงเงิน 84,600 ล้านบาท ,M 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี กรอบวงเงิน 56,047.77 ล้านบาท ,M 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว กรอบวงเงินรวม 30,177 ล้านบาท รวมถึงโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท
โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 , โครงการรถไฟไทย-จีน รวมถึงเริ่มต้นก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลังการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนได้ข้อยุติ
สำหรับงานที่ดำเนินการต่อเนื่องตามนโยบาย”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ได้แก่ ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) มอเตอร์เวย์และทางด่วน ,การขยายผลโครงข่ายถนนที่สามารถรองรับความเร็ว 120 กม./ชม. ,แผนแม่บท MR-MAP ,แต่งแต้มสีสันทางหลวง ส่งเสริมการท่องเที่ยว
ผลักดันพัฒนารถไฟ EV แก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ,ผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับเรือโดยสารสาธารณะ ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน พัฒนาท่าอากาศยานเป็นศูนย์กลางรวบรวม กระจายสินค้าเกษตร/สินค้าเน่าเสียง่าย
@รถไฟทางคู่ระยะแรก 4 เส้นทางก่อสร้างเสร็จ
ขณะที่ในปี 2566 จะมีหลายโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเช่น รถไฟทางคู่ ระยะแรก 5 เส้นทาง ได้แก่ สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กม. ค่าก่อสร้าง 18,699 ล้านบาท สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. ค่าก่อสร้าง 23,910 ล้านบาท สายใต้ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. ค่าก่อสร้าง 15,718 ล้านบาท สายใต้ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. ค่าก่อสร้าง 5,807 ล้านบาท , สายใต้ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. ค่าก่อสร้าง 12,457 ล้านบาท
ขณะที่การติดตั้งงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมรถไฟทางคู่ที่แบ่งงาน เป็น 3 สาย ได้แก่ สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กม. ค่าก่อสร้าง 2,988.57 ล้านบาท มีกำหนดแล้วเสร็จเดือน เม.ย. 2566 สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. ค่าก่อสร้าง 2,549.89 ล้านบาท มีกำหนดเสร็จเดือน ต.ค. 2566 และสายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 420 กม. ค่าก่อสร้าง 7,384.84 ล้านบาท กำหนดเสร็จเดือน ม.ค. 2566
@ทดสอบระบบโมโนเรล”สีเหลือง-สีชมพู”ตั้งเป้าเปิดหวูดกลางปี 66
ส่วนโครงการ รถไฟฟ้าสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กม. โครงการ รถไฟฟ้าสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. การก่อสร้างใกล้เสร็จและเตรียมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2566 โดยสายสีเหลือง เริ่มทำการทดสอบเดินรถ จากศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ไปตามถนนศรีนครินทร์- ถนนลาดพร้าว โดยในต้นปี 2566 ทั้ง 2 โครงการจะทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ก่อนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ โดยสีเหลือง คาดว่าเปิดเดือนมิ.ย. 2566 ส่วน สีชมพู เปิดช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 2566
การลงทุนสารพัดโปรเจกต์ใหญ่”คมนาคม”ในช่วงโค้งสุดท้าย”รัฐบาล น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่า คงต้องเร่งทิ้งทวน ผลักดันผูกสัญญาให้ได้มากที่สุด!!!