สสว. เผยธุรกิจเอสเอ็มอีดาวรุ่ง ปี 2566 อยู่ในธุรกิจขายของ Online ร้านโชห่วย และธุรกิจจัดงานแข่งขันกีฬา ขณะที่กลุ่มฟื้นตัวอยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่เริ่มฟื้นจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงธุรกิจสายมูที่ยังคงโตต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เช่น ธุรกิจให้เช่าที่พัก หอพัก ฟิตเนสแบบ Indoor
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลสำรวจยอดขายรายไตรมาส ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับฐานข้อมูลผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ของ สสว. รวมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง สามารถแยกกลุ่มธุรกิจที่จะมีอนาคตสดใสเป็นดาวรุ่ง กลุ่มธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัว และกลุ่มธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวัง ในปี 2566 โดย กลุ่มธุรกิจดาวรุ่งในปี 2566 ได้รับอานิสงส์จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้แก่ ธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ร้านค้าโชว์ห่วย ธุรกิจจัดงานแข่งขันหรืออีเว้นท์กีฬา เช่น งานวิ่ง งานแข่งจักรยาน มวย ฯลฯ
ทั้งนี้ธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มต่างๆที่เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย สะดวกในการชำระเงินและเว้นระยะห่างที่ยังคได้รับความนิยมต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ ถึง 20,461 ล้านบาท ขณะที่ร้านโชห่วย โดยเฉพาะการจำหน่ายอาหารสดและยาสูบที่กำลังซื้อในธุรกิจนี้กลับมาเติบโตในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจากการที่ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าที่สามารถต่อรองราคา ขอเชื่อหรือเลือกซื้อในปริมาณน้อยได้ คาดว่าธุรกิจนี้ทำรายได้ให้กับ SME ถึง 1.25 ล้านล้านบาท ส่วนธุรกิจจัดงานแข่งขันหรืออีเว้นท์กีฬา เช่น งานวิ่ง งานแข่งจักรยาน มวย ที่เติบโตอย่างมากภายหลังประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ SME กลุ่มนี้ 1,504 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
สำหรับกลุ่มธุรกิจกลับมาฟื้นตัว ส่วนใหญ่ได้รับผลจากการเปิดประเทศรวมทั้งพฤติกรรมประชาชนหลังโควิด -19 ได้แก่ บ้านพักขนาดเล็ก ( เกสต์เฮ้าส์) บ้านตากอากาศ( บังกะโล) ร้านขายของที่ระลึก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแนววัฒนธรรมชนบท ธุรกิจด้านบันเทิง ได้แก่ ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บาร์และดิสโก้เทค ธุรกิจด้านจัดทำคอนเท้นท์ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซอฟแวร์และเกมส์ ธุรกิจบริการจัดเลี้ยงและให้เช่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจขายของมือสองและซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ ธุรกิจโหราศาสตร์และความเชื่อหรือธุรกิจสายมู ที่เติบโตต่อเนื่อง
ส่วนธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2566 ได้แก่ ธุรกิจที่พักคนงาน เนื่องจากแรงงานต่างชาติยังไม่กลับมา ธุรกิจหอพักนักศึกษา จากการปรับรูปแบบเป็นเรียนออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากการระมัดระวังการใช้จ่ายซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจจำหน่ายและซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือสอง นอกจากนี้ ธุรกิจฟิตเนสแบบในร่ม ที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคหลัง Covid -19 ที่เน้นการออกกำลังกายในบ้านหรือกลางแจ้งมากขึ้น
“ จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจมีผลต่อเอสเอ็มอี การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งยังต้องมีระดับความรู้ ทักษะ และทัศนคติของผู้ประกอบการที่สะท้อนถึงการปรับตัวได้ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และเข้าถึงการรับรู้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอสเอ็มอียังมีต่ำกว่าค่าดัชนีของวิสาหกิจขนาดกลาง อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2566 ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งออกของประเทศ การบริโภคภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อ และราคาพลังงาน ”นายวีระพงศ์กล่าว