xs
xsm
sm
md
lg

เร่งแก้สัญญา’ไฮสปีด’คณะทำงานฯ กบอ.นัด 22 ธ.ค.หลังเคลียร์ "อู่ตะเภา" ปรับแผนสร้างเทอร์มินอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะทำงานฯกบอ.นัด 22 ธ.ค. เคาะแก้สัญญารถไฟ 3 สนามบิน เผยล่าช้าเหตุต้องเคลียร์แผนงานร่วม’สนามบินอู่ตะเภา’ปมยืดสร้างอาคารผู้โดยสาร กระทบสถานีรถไฟ คาดเร่งออกNTP ต้นปี 66

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ว่าหลังจากที่คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่ คณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ บริษัท เอเชีย เอรา วัณ(เอกชนคู่สัญญา) เจรจาได้ข้อยุติ เมื่อเดือนส.ค. 2565 โดย กบอ. ได้ตั้งคณะทำงาน ขึ้นมา 1 ชุด มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมของแนวทางแก้ปัญหา ดังกล่าวเพื่อความรอบคอบที่สุด

ทั้งนี้ คณะทำงานฯได้มีการพิจารณาถึงการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ในประเด็นความถูกต้อง ทั้งระเบียบ และข้อกฎหมายต่างๆ ที่สำคัญ หากมีการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯไปแล้วจะต้องไม่มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมอีกในอนาคต ซึ่งสาเหตุที่คณะทำงานฯต้องใช้เวลาในการพิจารณา เพราะยังมีความเห็นไม่ตรงกันทั้งหมดเนื่องจาก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีความเกี่ยวเนื่องกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่มีบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่นจำกัด หรือ UTA เป็นเอกชนคู่สัญญาซึ่งได้เจรจาขอแก้ไขสัญญา เช่นกัน

ดังนั้น จึงต้องนำปัญหาของทั้ง 2โครงการมาพิจารณาปรับแก้ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่ทำให้โครงการเกิดความล่าช้ามากขึ้น รวมถึงและกลายเป็นปัญหาในอนาคตไม่รู้จบ ขณะที่การแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ นั้น ทั้ง 2 โครงการจะต้องใช้แพลต์ฟอร์มที่ใกล้เคียงกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมระหว่างเอกชนอีกด้วย

“ประเด็นสำคัญคือ แก้สัญญาครั้งนี้แล้วต้องจบ ไม่ใช่แก้ไปแล้ว เดี๋ยวมาขอแก้ใหม่อีก ซึ่งทางโครงการสนามบินอู่ตะเภา ก็มีการเจรจาแก้ไขสัญญาเช่นกันซึ่ง 2 โครงการนี้ มีส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องกัน เช่นสถานีรถไฟความเร็วสูง เชื่อมกับอาคารผู้โดยสารอู่ตะเภา ดังนั้นก็ต้องมาตกลงกันว่า จะก่อสร้างกันอย่างไร มีย้ายอาคารผู้โดยสารไปตำแหน่งไหน จะเริ่มก่อสร้างเมื่อใด เอกชน 2 ฝ่ายต้องรับทราบและเข้าใจตรงกัน ว่าจะมีล่าช้าอย่างไร หากไม่สรุปให้ได้ตรงกันก่อน อาจจะเกิดปัญหาว่า โครงการนี้ล่าช้าแล้วไปโทษว่าสาเหตุเป็นเพราะอีกโครงการหนึ่ง เป็นต้น”

โดยในวันที่ 22 ธ.ค. 2565 คณะทำงาน ที่มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะมีการประชุมและคาดว่าจะสรุปรายละเอียดทั้งหมด นำเสนอ กบอ.คาดว่าจะประชุมภายในเดือนม.ค. 2566 จากนั้นจะเร่งนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานต่อไป

สำหรับการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่ได้ข้อยุติมี 4 ประเด็นคือ การทับซ้อนงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ,การชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ และกรณีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ ,การส่งมอบพื้นที่,ปัญหาลำรางสาธารณะ

โดยกรรมการ 3 ฝ่าย กำหนด แก้สัญญาร่วมลงทุนฯ และคาดการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) อย่างช้าไม่เกินวันที่ 4 ม.ค. 2566 เพื่อไม่ให้การก่อสร้างล่าช้านั้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากกบอ.เห็นชอบในเดือนม.ค. 2566 ยังมีขั้นตอนการเสนอกพอ. และครม. เพื่อลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ซึ่งอาจจะล่าช้ากว่ากำหนดประมาณ 1 เดือน ซึ่งเมื่อกบอ.เห็นชอบการแก้ไขสัญญาแล้วชัดเจน ทางรฟท. และเอกชน จะประชุมเพื่อขยายกำหนดNTP ออกไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น