ผู้จัดการรายวัน 360 - ซีอาร์จีเดินหน้าแผนธุรกิจเร่งเครื่อง เคเอฟซี รุกขยายสาขาในรูปแบบโมเดลใหม่ที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น พร้อมปรับโฉมร้านให้ทันสมัยโดนใจกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ สร้างความวาไรตีพัฒนาเมนู KFC Cafe’ by Arigato ขับเคลื่อนธุรกิจกับแนวคิดประสบการณ์ใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม นำร่องเปิด Green Store Concept สาขาราชพฤกษ์
นายปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นจากปี 64 ประมาณ 12.9% (อ้างอิง : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) โดยที่มีไฮไลต์ที่การระบาดของโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงมีการฟื้นตัวของการขายอาหารที่หน้าร้านเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวเข้ากับโควิด-19 ได้มากขึ้น และเรื่องปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว เริ่มมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศกลับมามากขึ้น
สำหรับ ซีอาร์จี ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เบาบางลง ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มปรับตัวให้เข้ากับโควิด-19 ได้มากขึ้น และกลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติ ส่งผลให้ยอดขายในช่วง Q1-Q3 2565 เติบโตมากกว่า 25% และสัดส่วนช่องทางการจำหน่ายที่หน้าร้านเติบโตมากขึ้นกว่า 60% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งปัจจุบันเคเอฟซีของซีอาร์จีมียอดขายผ่านหน้าร้านมีสัดส่วน 75% ผ่านช่องทางดีลิเวอรีมีสัดส่วน 25% จากที่ปี 2562 (ค.ศ. 2019) รายได้จากหน้าร้านสัดส่วน 90% ส่วนดีลิเวอรีมีสัดส่วนเพียง 10%
ส่วนรายได้รวมปี 2565 นี้ ทางซีอาร์จีตั้งเป้าหมายมียอดขายรวมประมาณ 6,300 ล้านบาท เติบโต 25% ซึ่งเกินกว่าเป้าที่วางไว้ที่ประมาณ 6,100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จะเติบโตกว่าเป้าแต่ยอดขายสาขาเดิมยังไม่กลับไปเท่ากับปี 2562 ช่วงก่อนโควิดระบาด แม้จะเติบโตขึ้น 20% ก็ตาม แต่มั่นใจว่าปีหน้า 2566 สถานการณ์จะกลับมาปกติ ดังนั้นจึงคาดว่าจะมีรายได้รวม 7,000 ล้านบาท โดยเคเอฟซีมีสัดส่วนรายได้ให้กับซีอาร์จีอยู่ที่ 40%
ทั้งนี้ ซีอาร์จีได้เร่งขยายสาขาด้วยร้านรูปแบบใหม่ใน Format และขนาดที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ธุรกิจดีลิเวอรีก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ เนื่องจากผู้บริโภคบางกลุ่มได้เกิดความคุ้นชินกับความสะดวกสบายจากการใช้บริการดีลิเวอรีไปแล้ว
ในส่วนของภาพการแข่งขันของตลาดอาหาร QSR ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นหลายราย โดยเฉพาะอาหารประเภทไก่ทอดซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมสำหรับคนไทย และนอกเหนือจากผู้เล่นใหม่ๆ ก็ยังมีผู้เล่นเดิมในตลาด QSR ที่ขยายธุรกิจตัวเองมาสู่ธุรกิจไก่ทอดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทั้งสองปัจจัยส่งผลโดยตรงต่อการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย
เคเอฟซี เป็นแบรนด์ที่มีจุดแข็งหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโปรดักต์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในหลากหลายโอกาส (occasion) ไม่ว่าจะกินคนเดียว หรือกินเป็นกลุ่ม อีกทั้งยังเป็นแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และเข้าถึงลูกค้าได้ในทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย จึงทำให้แบรนด์มีลูกค้าที่เป็นแฟนของแบรนด์เป็นจำนวนมาก และด้วยเป้าหมายที่จะรักษาการเป็นแบรนด์ QSR อันดับหนึ่งในใจของลูกค้าคนไทย ในปี 2566 จึงเดินหน้าธุรกิจด้วยแผนงานต่างๆ ที่วางไว้
ด้วยแบรนด์มีโมเดลร้านใหม่ๆ ที่พร้อมนำมาทดลองเปิด ทั้งในปีนี้ (2565) และปีหน้า (2566) โดยร้านในรูปแบบใหม่นี้จะเข้ามาเพื่อมาตอบสนองความสะดวกสบายของลูกค้า และการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น (Easy and Convenience) เช่น โมเดลปาร์ก แอนด์ โก (Park and Go) อีกทั้งยังมองหาพื้นที่ใหม่ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจดีลิเวอรีและออมนิแชนเนล และจะตอบโจทย์การขยายเวลาการให้บริการ (Operating Hour) เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่รับประทานดึก ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยเพิ่มการเติบโตของธุรกิจเคเอฟซีได้
พร้อมเดินหน้าปรับโฉมร้านใหม่ ทั้งรูปแบบ ดีไซน์ และคอนเซ็ปต์ให้ทันสมัย โดนใจ รวมถึงการนำเอา KFC Application เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าด้วยเช่นกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุด ด้วยการร่วมมือกับ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ในด้านความคิดริเริ่มใหม่ๆ
โดยเป้าหมายในการขยายสาขาในปีนี้ (2565) มีแผนขยายสาขาเพิ่มจำนวนกว่า 20 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 50% อีก 50% เป็นสาขาในต่างจังหวัด ด้วยงบลงทุนรวมกว่า 300 ล้านบาท และคาดว่าภายในสิ้นปีจะมีจำนวนสาขารวมมากกว่า 320 สาขา และแผนของปี 2566 ตั้งเป้าเปิดจำนวนกว่า 30 สาขา หรือประมาณ 10% ของจำนวนสาขาเดิม
ทั้งนี้ ตามแผนของซีอารจีมีการใช้กลยุทธ์ลงทุนโมเดลใหม่ๆ รวมทั้งสาขาที่ใช้พื้นที่ไม่ใหญ่โตมาก อย่างเช่น โมเดลชอปเฮาส์ ที่ไซส์เล็กลง ใช้พื้นที่อาคารพาณิชย์ประมาณ 2 คูหาก็สามารถเปิดร้านได้ และซีอาร์จีจะผลักดันโมเดลนี้เป็นหัวหอกในการขยายสาขา เพราะประหยัดการลงทุนไปได้มากกว่า 40% และยังสามารถเปิดบริการได้ 24 ชั่วโมงด้วย นำร่องเปิดแล้ว 2 สาขา ที่สะพานใหม่ และอินทามระ
*** สร้างความวาไรตีพัฒนาเมนู KFC Cafe’ by Arigato
ด้วยกาแฟยังคงเป็น Incremental Occasion ให้กับแบรนด์ ดังนั้น “KFC Cafe’ by Arigato” จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการที่ร้านในช่วงเวลาเช้า และบ่ายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เครื่องดื่ม “KFC Cafe’ by Arigato” สามารถจำหน่ายได้มากถึง 2 ล้านแก้วในปี 2565 จากจำนวนที่มีบริการ KFC Cafe’ by Arigato มากกว่า 250 สาขา
โดยในปี 2566 แบรนด์มีแผนงานเน้นกลยุทธ์การเพิ่มยอดขายด้วยการพัฒนาเมนูใหม่ๆ เพื่อสร้างความวาไรตี เพิ่มความหลากหลายของตัวเลือก ที่จะมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของความแปลกใหม่ ความสะดวกในการรับประทาน และราคาของสินค้าที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถดึงกลุ่มคนที่ชอบเมนูเครื่องดื่มชงสด และของหวานเข้ามาที่ เคเอฟซี ได้มากขึ้น และสามารถเพิ่มความถี่ในการซื้อของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีจำนวนสาขา “KFC Cafe’ by Arigato” จำนวนกว่า 260 สาขา
*** นำร่องเปิด Green Store Concept สาขาราชพฤกษ์
สถานการณ์โควิดและภัยพิบัติทั่วโลกได้สร้างความท้าทายในการใช้ชีวิตของทุกคนบนโลก ผู้บริโภคเริ่มมองหาความยั่งยืน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้ประกอบการอย่าง เคเอฟซี เองก็ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนเช่นเดียวกัน และด้วยนโยบายของ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ที่ต้องการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในมิติต่างๆ ด้วยการใช้แนวคิดการสร้างสรรค์คุณค่าร่วมให้กับสังคม (CSV) เป็นแกนหลักในการทำงาน จึงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจกับแนวคิดประสบการณ์ใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม เปิดร้าน KFC Green Store ภายใต้แนวคิด “Journey to zero” สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าที่ร้านเคเอฟซี สาขาโรบินสัน ราชพฤกษ์ โดยการออกแบบร้านในคอนเซ็ปต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยมุ่งเน้นไปในด้านการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยตัวอาคารออกแบบในสไตล์นอร์ดิกให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ประกอบกับโครงสร้างร้าน และวัสดุในกระบวนการก่อสร้างที่ส่งเสริมแนวคิดเพื่อความยั่งยืน ด้วยกระจกประหยัดพลังงานในระดับสูงสุด ที่ป้องกันความร้อนผ่านกระจกในขณะที่ให้แสงส่องผ่านได้มาก, การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านการประหยัดพลังงาน, การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล รวมถึงชุดพนักงานที่ตัดเย็บด้วยผ้าจากเส้นใยขวดพลาสติก ตลอดจนการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การตกแต่งภายในร้าน มีมุม Education & Sharing zone ที่ตกแต่งด้วยภาพวาดจากศิลปินเด็ก ในความดูแลของมูลนิธิซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากกิจกรรมประกวดภาพวาด “สิ่งแวดล้อมในฝันของหนู” ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชนไทย รวมถึงแคมเปญ “ปรับไลฟ์ ช่วยโลก กับเคเอฟซี” ที่เป็นการกระตุ้นเพื่อปรับพฤติกรรมการลดใช้พลาสติกของลูกค้า ช่วยลดปัญหาขยะ และดำเนินการคัดแยกขยะที่หน้าร้าน อีกทั้งอาหารส่วนเกินจากการจำหน่าย ที่มีคุณภาพดีสามารถนำมาบริโภคได้ ก็ดำเนินโครงการ Harvest Program รวบรวมและส่งต่อให้กับ “บ้านราชาวดี” เพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชน และผู้ที่ต้องการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจของพนักงาน เนื่องจากสามารถลดจำนวนอาหารที่จะต้องทิ้งในแต่ละวัน
นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติเพื่อความยั่งยืนอีกหลายประการ เช่น การใช้ระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ และการลดจำนวนการใช้หลอดไฟติดเพดาน ซึ่งสามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 7% (เมื่อเทียบกับสาขาที่มีลักษณะเดียวกัน) และทำให้ร้านค้าแห่งนี้สามารถประหยัดพลังงานได้มากถึง 17,947 กิโลวัตต์ต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 10,081 กิโลกรัมต่อปีอีกด้วย
ในส่วนของแผนงาน KFC Green Store สาขานี้เป็นสาขานำร่อง จึงเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างแบรนด์กับลูกค้า ซึ่งแบรนด์มีความพร้อมในการต่อยอดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในสาขาอื่นๆ ต่อไป โดยเป้าหมายคือ การเป็นร้านต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจที่จะลดการสร้างของเสียต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบรรจุภัณฑ์, การลดการปล่อยคาร์บอน รวมไปถึงขยะจากเศษอาหาร เพื่อหวังที่จะจุดประกายให้ทั้งลูกค้า และภาคธุรกิจ ได้หันมาให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นต่อไปในอนาคต