บอร์ด รฟม.เห็นชอบตั้งกรอบงบปี 2567 กว่า 4.96 หมื่นล้านบาท ลุยเปิดไซต์ก่อสร้าง "สีม่วงใต้" และปิดจ็อบสีส้มด้านตะวันออก และจ่ายคืนค่าก่อสร้าง "ชมพู, เหลือง"
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล เป็นประธาน วันที่ 30 พ.ย. 2565 มีมติเห็นชอบกรอบงบประมาณประจำปี 2567 วงเงินรวมทั้งสิ้น 49,628.34 ล้านบาท แบ่งเป็นงบทำการ จำนวน 28,589 ล้านบาท งบลงทุน 21,038 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ รฟม.จะเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อจัดส่งรายละเอียดไปยังสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำกรอบงบประมาณประจำปี 2567 ต่อไป
โดยงบลงทุนโครงการสำคัญที่ดำเนินการในปี 2567 ได้แก่ การก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 23.6 กม. ประมาณ 16,719 ล้านบาท
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.57 กม. ค่าก่อสร้างงานโยธา ประมาณ 1,307.79 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2566 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตั้งกรอบไว้ประมาณ 2,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ จะมีงบลงทุนสำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ส่วนของค่าเวนคืน, รถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ จะมีค่าจ้างเดินรถ และวงเงินใช้คืนค่าลงทุนงานระบบบางส่วน
รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นค่าเวนคืนสำหรับความกว้างทางเท้า 1.50 เมตร
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จะเป็นค่าเวนคืน และชำระคืนค่าก่อสร้างตามสัญญาร่วมลงทุน โดยปี 2566 จะเริ่มใช้คืนค่าก่อสร้างสายสีเหลืองงวดแรก ประมาณ 2,500 ล้านบาท ส่วนปี 2567 จะตั้งกรอบสำหรับใช้คืนค่าก่อสร้างสายสีเหลืองวดที่ 2 (ประมาณ 2,500 ล้านบาท) และสายสีชมพู งวดแรก 2,200 ล้านบาท
โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เงินสนับสนุนค่างานโยธาที่รัฐต้องจ่ายตามสัญญาร่วมทุนที่ 25,050 ล้านบาท แบ่งจ่าย 10 ปีเฉลี่ยปีละ 2,500 ล้านบาท ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู เงินสนับสนุนค่างานโยธาที่รัฐต้องจ่ายตามสัญญาร่วมทุนที่ 22,500 ล้านบาท แบ่งจ่าย 10 ปี เฉลี่ยปีละ 2,250 ล้านบาท
@“สีม่วงใต้” เร็วกว่าแผน ชงขอเพิ่มงบลงทุนปี 66 ประมาณ 1,972 ล้านบาท
นอกจากนี้บอร์ด รฟม.ยังได้เห็นชอบการปรับกรอบวงเงินลงทุนในปีงบประมาณ 2566 เพิ่มประมาณ 1,972 ล้านบาท จากกรอบที่ได้รับ 14,254 ล้านบาท รวมเป็น 16,226 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง ที่มีบางงานสามารถดำเนินการได้เร็ว ทำให้เร่งรัดการเบิกจ่าย บางงานล่าช้า จึงต้องมีการปรับปรุงกรอบวงเงินให้ตรงกับความเป็นจริง โดยจะเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาอนุมัติ เสนอ ครม.ต่อไป
เช่น กรณีรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ ประมูลกลางปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าแผน ที่คาดว่าประมูลก่อสร้างปลายปีงบประมาณ 2565 ส่งผลทำให้จะเบิกจ่ายได้เต็มงบปี 2566 วงเงินงบลงทุนสายสีม่วงของปี 65 จึงเพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งในการจัดทำงบลงทุนปี 2566 จะมีการเสนอล่วงหน้า 1 ปี ซึ่งในขณะที่ระหว่างจะมีการทำงานคู่ขนานไปด้วย จึงต้องมีการปรับปรุงงบในปีนั้นๆ ช่วงไตรมาสแรก ของปีงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม ปี 2565 รฟม.ได้รับงบประมาณ 32,141.04 ล้านบาท โดยสามารถเบิกจ่ายงบได้ถึง 99.76% ซึ่ง รฟม.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนสูงสุดใน 5 อันดับแรก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา