xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น ครม.ไฟเขียว "ดอนเมือง" เฟส 3 ลงทุน 3.68 หมื่นล้าน ทอท.เร่งตอกเข็มอาคารใหม่ขยายรับ 40 ล้านคน/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทอท.ลุ้น ครม.29 พ.ย.นี้ เคาะพัฒนา "ดอนเมือง" เฟส 3 ลงทุน 3.68 หมื่นล้านบาท เร่งประมูลก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ปลายปี 66 เพิ่มรองรับ 40 ล้านคน/ปี เสร็จสมบูรณ์ปี 72

รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) เปิดเผยว่า คาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 พ.ย. 2565 จะมีการพิจารณาอนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวม 36,829.499 ล้านบาท โดยขั้นตอนหลังจาก ครม.อนุมัติ ทอท.จะเร่งดำเนินการออกแบบรายละเอียดประมาณ 1 ปี คาดว่าจะเริ่มประมูลก่อสร้างงานอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ก่อนภายในปลายปี 2566 โดยจะก่อสร้างเสร็จในปี 2569 โดยแผนงานพัฒนาดอนเมืองระยะที่ 3 มีระยะเวลาก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 7 ปี (2566-2572) 


สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวม 36,829.499 ล้านบาท (รวมสำรองราคาเปลี่ยนแปลง 10% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง 921.6 ล้านบาท) ประกอบด้วย 6 กลุ่มงาน

1. กลุ่มงานพัฒนาด้านใต้ วงเงินลงทุนรวม 15,076.996 ล้านบาท ประกอบด้วย งานปรับปรุงระบบถนนภายใน 1,298.315 ล้านบาท, งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 วงเงิน 11,976.84 ล้านบาท, งานปรับปรุงอาคารจอดรถยนต์ 7 ชั้น เป็นชานชาลาจอดรับส่งผู้โดยสาร วงเงิน 16.995 ล้านบาท, งานปรับปรุงคลังสินค้าหมายเลข 1 และ 2 วงเงิน 314.134 ล้านบาท, งานก่อสร้างกลุ่มอาคารบำรุงรักษา และพื้นที่พักขยะ วงเงิน 255.446 ล้านบาท, งานก่อสร้างระบบระบายน้ำ วงเงิน 1,071.066 ล้านบาท, งานก่อสร้างอาคารดับเพลิงและกู้ภัย วงเงิน 144.20 ล้านบาท

2. กลุ่มงานพัฒนาพื้นที่ด้านทิศเหนือ วงเงินลงทุนรวม 7,532.975 ล้านบาท ประกอบด้วย งานปรับปรุงระบบถนนภายใน 483.842 ล้านบาท, งานปรับปรุงหลุมจอดอากาศยาน วงเงิน 139.332 ล้านบาท, งานก่อสร้างขยายอาคารเทียบเครื่องบิน วงเงิน 902.624 ล้านบาท, งานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์พนักงาน วงเงิน 803.40 ล้านบาท, งานก่อสร้างอาคารรับรองพิเศษ VVIP วงเงิน 173.36 ล้านบาท, งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน วงเงิน 420.132 ล้านบาท, งานก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบิน วงเงิน 560.032 ล้านบาท, งานปรับปรุงอาคารส่วนกลาง วงเงิน 239 ล้านบาท, งานก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างอาคารสนามบินดอนเมืองกับสำนักงานใหญ่ ทอท. วงเงิน 3,811.253 ล้านบาท

3. กลุ่มงานพื้นที่ลานจอดอากาศยาน วงเงินลงทุนรวม 3,655.479 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้าง Rapid Exit Taxiway บริเวณทางวิ่ง 21L/03R และ Exit Taxiway เชื่อมต่อทางขับสาย B และ C วงเงิน 192.019 ล้านบาท, งานปรับปรุงพื้นที่ด้านทิศใต้เพื่อรองรับกิจกรรมการบิน และก่อสร้างลานจอดอากาศยาน และอาคารผู้โดยสาร GA วงเงิน 391.665 ล้านบาท, งานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน ด้านทิศเหนือ พร้อมทางขับเชื่อม ปรับปรุงลานจอดภายใน และปรับปรุงพื้นที่ด้านทิศเหนือเป็นเขตการบิน วงเงิน 3,071.795 ล้านบาท

4. กลุ่มงานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบินด้านเหนือ และอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 2-4 วงเงิน 6,801.269 ล้านบาท

5. กลุ่มงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค วงเงิน 1,137.495 ล้านบาท

6. กลุ่มงานสิ่งแวดล้อมและที่ปรึกษา วงเงิน 25.493 ล้านบาท


ปัจจุบันสนามบินดอนเมืองมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง (รันเวย์) ขีดความสามารถรองรับได้ 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง โดยปริมาณผู้โดยสารปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด) มีจำนวน 41.3 ล้านคน ซึ่งเกิดขีดความสามารถ โดยในปี 2675 ผู้โดยสารเริ่มฟื้นตัวมาอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านคน คาดการณ์ว่าปี 2566 จะเพิ่มเป็น 30 ล้านคน และปี 2567 เพิ่มกลับไปเท่าปี 2562

การพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคนต่อปี แต่สามารถบริหารจัดการได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เมื่อแล้วเสร็จจะปรับเปลี่ยนการใช้งานอาคารหลังที่ 3 (มีพื้นที่ 166,000 ตร.ม. ขีดความสามารถ 18 ล้านคนต่อปี) รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ส่วนอาคารหลังที่ 1 และ 2 รองรับผู้โดยสารภายในประเทศ (มีพื้นที่รวม 240,000 ตร.ม. ขีดความสามารถ 22 ล้านคนต่อปี) และเพิ่มพื้นที่จอดรถรองรับได้ประมาณ 10,000 คัน


ทั้งนี้ การลงทุนพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 จะส่งผลต่อฐานะการเงิน ทอท.ที่จะขาดสภาพคล่องในปี 2568 ประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่ง ทอท.มีแผนการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องรองรับแล้ว

นอกจากนี้ ในพื้นที่สนามบินดอนเมืองจะมีแผนโครงการก่อสร้างอาคาร JUNCTION BUILDING ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ว่างที่เชื่อมระหว่างอาคารในประเทศ (อาคาร 2) และอาคารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) ซึ่งจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยเอกชนสามารถนำเสนอแผนพัฒนา เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม ที่จอดรถ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น