การตลาด - รุกคืบเข้ามาอีกนิด สำหรับมูลค่าสื่อออนไลน์ ที่หลายๆคนกำลังจับตามองว่า จะขึ้นมาคุมเกมส์โฆษณาแทนที่สื่อทีวีได้เร็วที่สุดวันไหน ล่าสุดในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ฟาดไป 2,269 ล้านบาท ขณะที่สื่อทีวีอยู่ที่ 5,163 ล้านบาท จบปี2565 นี้ เชื่อว่าสื่อออนไลน์จะมีมูลค่าราว 3 ใน 4 ของสื่อทีวี หรือวิ่งตามสื่อทีวีเพียง 10,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดจาก เรากำลังให้ค่าสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อหลักยุทธวิธีการหว่านเงินซื้อโฆษณาทางทีวีได้ถูกด้อยค่าลง จนราคาถูกกว่าเฟซบุคและโซเชียลแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมถึงตัวขับเคลื่อนที่น่าจับตามองอย่าง อินฟลูเอ็นเซอร์ แม้จะดูเล็กน้อยแต่กลับสูบเม็ดเงินจากแบรนด์และสินค้าจนอ้วนพี ว่าแล้ววันนี้อย่าได้ด้อยค่าออนไลน์ เพราะแม้ศักดิ์ศรีจะรั้งเบอร์2 แต่ราคาไม่เป็นรองทีวีอีกต่อไป
“จะมีโอกาสที่สื่อออนไลน์ ขึ้นมาเป็นสื่อเบอร์1 หรือเป็นสื่อหลักแทนที่สื่อทีวีได้ไหม”ประโยคคำถามแบบนี้ ได้ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด -19 จะเกิดขึ้นมาเสียอีก โดย 3 ปีก่อน คำถามนี้ ผู้บริหารจาก MI บริษัททางด้านเอเจนซี่และให้คำปรึกษาด้านการวางแผนการใช้สื่อ ได้เคยกล่าวไว้ว่า
“ในอนาคต สำหรับประเทศไทยแล้ว มีโอกาสที่สื่อออนไลน์จะขึ้นมาแทนที่สื่อทีวี แต่คงไม่ใช่ในเร็ววันนี้ ต้องใช้เวลาอีกหลายปี ที่สำคัญทีวีมีจุดแข็งที่สื่อออนไลน์ไม่สามารถจะเข้ามาแทนที่ได้” ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI กล่าวไว้
การแทนที่ไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ เห็นได้จากช่วงเวลาเพียง 5 ปี นับจากปี 2560 ที่ผ่านมา สื่อออนไลน์จากที่มีมูลค่าอยู่ที่ 12,402 ล้านบาท มาในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 24,766 ล้านบาท หรือเติบโตต่อเนื่อง 20% ทุกปี (อ้างอิงจาก : นีลเส็น, DAAT) ซึ่งในปี2565นี้ทาง MI ได้คาดการณ์ไว้ว่า สื่อออนไลน์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 26,623 ล้านบาท ตามหลังสื่อทีวี เพียง 11,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยสื่อทีวีปีนี้น่าจะโกยไปได้ที่ 37,598 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 สื่อออนไลน์ จะขยับเพิ่มไปอีก เป็น 28,300 ล้านบาท และสื่อทีวีเพิ่มขึ้นเป็น 38,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าสื่อออนไลน์กำลังไล่จึ้ตูดสื่อทีวีใกล้เข้ามาทุกทีๆ
“มูลค่ารวมการใช้สื่อโฆษณาในปี 2565 นี้ คาดว่าจะจบที่ 81,813 ล้านบาท เติบโต 7.4% เมื่อเทียบกับปี 2564 แบ่งเป็น สื่อ TV 37,598 ล้านบาท, อินเตอร์เน็ต/ออนไลน์ 26,623 ล้านบาท, Out of Home 10,105 ล้านบาท, Radio 2,656 ล้านบาท, Cinema 2,462 ล้านบาท และอื่นๆ รวม 2,369 ล้านบาท (Newspapers และ Magazines) ส่วนในปี 2566 มีการประมาณการไว้ว่า มูลค่าการใช้สื่อจะเพิ่มขึ้นเป็น 85,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% แบ่งเป็นสื่อ TV 44.6%, Internet 33.2% และ Out of Home 13.5% และสื่ออื่นๆ รวม 8.7%” ภวัตกล่าว
**ออนไลน์เบอร์รอง แต่จ่ายแพงกว่าทีวี
“ทุกวันนี้ราคาโฆษณาบนสื่อทีวีถูกกว่าเฟซบุคแล้ว” คำกล่าวอ้างจาก “มดดำ - คชาภา ตันเจริญ” ดารา พิธีกร ชื่อดังของไทย ที่ได้พูดถึงอยู่บ่อยครั้งระหว่างดำเนินรายการ ข่าวใส่ไข่ และ แฉ ซึ่งเป็นข้อยืนยันอย่างหนึ่งได้ดีว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ รายการประเภทข่าว ถึงใช้ทุกกลยุทธ์ในการขายโฆษณา จากเดิมที่มีแต่สปอตโฆษณาช่วงพักเบรก เพิ่มมาเป็นสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนก่อนเข้ารายการ, การซื้อเวลาในรายการเพื่อให้พูดประชาสัมพันธ์ให้ เรียกง่ายๆว่า ขายของกันสดๆในรายการกันไปเลย
ทั้งนี้พบว่า เรตราคาสปอตโฆษณา ในรายการ ข่าวใส่ไข่ อยู่ที่ 35,600 บาท/ สปอต 15 วินาที /ครั้ง (อ้างอิงจาก : jindamanee.co.th) ส่วนเรตโฆษณาบนสื่อออนไลน์ ต้องอิงกับจำนวนกลุ่มเป้าหมาย และรูปแบบการสื่อสารออกไปด้วย จึงไม่มีใครให้ข้อมูลส่วนนี้ได้ เพราะเป็นข้อมูลเฉพาะ แตกต้างกันไป แต่เท่าที่จับต้องได้ คือ อินฟลูเอ็นเซอร์ เริ่มต้นที่ 10 ดอลล่าห์สหรัฐ ต่อการโพส 1 ครั้ง กับจำนวนผู้ติดตาม 10,000 คน และจ่ายให้มากกว่า 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หากมีผู้ติดตามตั้งแต่ 1 ล้านคนขึ้นไป (อ้างอิงจาก : ธอทฟูลมีเดีย)
** โฆษณา ม.ค-ต.ค. 65 แตะ 9.8 หมื่นล.
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทาง นีลเส็น ได้เปิดเผยมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาในช่วงมกราคมถึงตุลาคมปี 2565 ออกมาว่า เติบโตขึ้น 10.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมูลค่าอยู่ที่ 98,025 ล้านบาท ซึ่งสื่อทีวียังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ 54% คิดเป็นมูลค่า 52,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.41% ตามมาด้วยสื่ออินเทอร์เน็ต/ออนไลน์ 22,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.15% และ3. สื่อเอาท์ดอร์และทรานซิท 11,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.44%
ขณะที่ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในเดือนต.ค. มีมูลค่า 8,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว แบ่งออกเป็น ทีวี 5,092 ล้านบาท ลดลง 4%, อินเตอร์เน็ต/ออนไลน์ 726 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17%, เอาท์ดอร์ 712 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52%, ทรานซิท 659 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 143%, โรงภาพยนตร์ 505 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16%, วิทยุ 309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%, หนังสือพิมพ์ 191 ล้านบาท ทรงตัว และ แซทเทิลไลท์/เคเบิล ทีวี 44 ล้านบาท ลดลง 51%
** สถิติการซื้อโฆษณาตลอด 10 เดือน
ทั้งนี้นีลเส็น ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาพรวมการใช้จ่ายสื่อในประเทศไทย ช่วงเดือนม.ค.-ต.ค. 2565ที่ผ่านมา เมื่อแยกตามอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่ใช้งบสูงสุด คือ
1.Food & Beverage 15,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%
2.Personal Care & Cosmetic 12,158 ล้านบาท ทรงตัว
3. Retail Shop/Food Outlets 9,751 ล้านบาท ลดลง 3%
4.Media & Marketing 5,269 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19%
5. Pharmaceuticals 4,933 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%
ในส่วนของบริษัทที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา 3 ลำดับแรก ได้แก่
1.UNILEVER THAI TRADING CO.,LTD. 3,154 ล้านบาท ลดลง 20% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา คือ โดฟ สูตรอัพเกรดใหม่ ไม่มัน! ทางสื่อทีวีมูลค่า 36 ล้านบาท รองลงมา คือ ให้ผมสวย มั่นใจ เคลียร์ ทางสื่อทีวีมูลค่า 36 ล้านบาท
2.NESTLE(THAI) CO.,LTD. 2,254 ล้านบาท ลดลง 10% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา คือ เนสเพรสโซ่ นิยามใหม่ของเครื่องชงกาแ ทางสื่อทีวีมูลค่า 35 ล้านบาท รองลงมา คือ เปิดความอร่อย ต้องเปิดเนสกาแฟกระป๋องเท่านั้น ทางสื่อทีวีมูลค่า 13 ล้านบาท
3.PROCTER & GAMBLE (THAILAND) 2,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คือ ออรัลบี ฟาสต์ไวท์ ช่วยให้ฟันขาวขึ้นใน 3 วัน ทางสื่อทีวีมูลค่า 22 ล้านบาท รองลงมาคือ ใหม่ รีจอยส์ เจจูโรส คอลเลคชั่นเกาหลี ทางสื่อทีวีมูลค่า 17 ล้านบาท
ส่วน 5 อันดับของแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดในเดือนต.ค.2565 คือ
1. O SHOPPING 152.823 ล้านบาท
2.29 SHOPPING 122.5 ล้านบาท
3.AIS BROADBAND 101.460 ล้านบาท
4.ยาสีฟัน เทพไทย 97.203 ล้านบาท
5. SHOPEE 96.886 ล้านบาท.