สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO (เบโด้) ให้การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนต้นแบบการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นชุมชนที่เริ่มต้นด้วยการสนับสนุนของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ผ่านการบริหารของ BEDO ที่เข้าไปส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่า ปี 2555 BEDO เข้ามามีบทบาทสนับสนุนต่อยอดให้ชุมชน โดยช่วงแรกเป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก มีการสำรวจทรัพยากรในชุมชน ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน และสนับสนุนเครื่องมือการแปรรูปเศษเหลือจากไผ่ที่ใช้ทำเฝือกนำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นแผ่นไม้อัดความร้อน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้อื่นๆ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชน และต่อมา BEDO ได้นำกิจกรรมป่าครอบครัวถ่ายทอดสู่ชุมชนลุ่มสุ่ม ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ในที่ดินของตนเอง ทั้งพืชอาหาร ไม้ใช้สอย และต้นไม้ที่เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อการพึ่งพาตนเองและความมั่นคงทางชีวภาพในชุมชน
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO (เบโด้) ยังได้ให้การส่งเสริมด้าน “ท่องเที่ยวชีวภาพ” สร้างคุณค่าและรายได้ให้แก่ชุมชน ซึ่งมีกิจกรรมโดดเด่นด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูดูแลป่าชุมชน โดยสนับสนุนโครงการภายใต้ชื่อ “เที่ยวเกษตรวิถีไทย ชมป่าไผ่เศรษฐกิจ พิชิต 40 ฝาย ผ่อนคลายกับธรรมชาติงดงาม นามว่าปางอุ๋งไทรโยค” ได้จุดประกายการสร้างรายได้จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนได้เป็นอย่างดี และต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชนด้วยกิจกรรม “ตลาดปันรักษ์” เป็นตลาดชุมชน จำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน ซึ่งดำเนินการโดยวิสาหกิจชุมชน ทำให้เกิดการสร้างงาน กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ทำให้เกิดเศรษฐกิจต่อชุมชนลุ่มสุ่มไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อเดือน รายได้เหล่านี้ได้สร้างขวัญกำลังใจให้ชุมชนเห็นคุณค่าและยินดีร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเป็นอย่างดี และสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO (เบโด้) ให้การส่งเสริมด้านอื่นๆ ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดการฝึกอบรมการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาร่วมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจในชุมชนลุ่มสุ่ม จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์เรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับการเพิ่มมูลค่าธุรกิจในชุมชน ทั้งยังดำเนินการสร้างช่องทางการตลาดโดยฝากขายผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ Market Place ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีอีกด้วย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน