แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Trams) ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา และพิษณุโลก ซึ่งเป็นหัวเมืองหลักที่มีจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยวหนาแน่น ทำให้มีปัญหาจราจรติดขัด รถไฟฟ้าจึงเป็นขนส่งสาธารณะแห่งความหวังที่จะช่วยรองรับปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้น เหมือนในกรุงเทพฯ แต่นับจากปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การศึกษา "รถไฟฟ้ารางเบาในภูมิภาค" ต้องหยุดชะงัก พร้อมกับด้านนโยบายมีแนวคิดปรับรูปแบบใหม่ เพื่อลดค่าลงทุนและหวังให้ค่าโดยสารต่ำที่สุด...
@จุดเปลี่ยน! รื้อแบบแปลงร่าง "แทรม" ภูเก็ตจาก "ล้อเหล็ก" เป็น "ล้อยาง"
ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ภาครัฐและเอกชนพยายามผลักดันโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรมากว่า 10 ปีแล้ว “แทรมล้อเหล็ก” เป็นระบบขนส่งมวลชนที่คนภูเก็ตให้การสนับสนุน และหวังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัด ซึ่งเดิมสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไว้ จากนั้นได้มอบหมายให้ รฟม.รับผิดชอบโครงการโดยดำเนินการ ตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดยจะดำเนินการระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. เริ่มก่อสร้างปี 2563 และเปิดให้บริการในปี 2567
แต่!!! แผนต้องมาสะดุด และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโครงการ เมื่อ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายให้ รฟม.ศึกษาปรับปรุงรูปแบบโครงการใหม่เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้างลง ซึ่งกระทรวงคมนาคม รายงานว่ายังมีเทคโนโลยีอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่าระบบแทรมล้อเหล็ก เช่น ระบบแทรมขับเคลื่อนด้วยล้อยาง (ART) หรือระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) โดยใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เป็นต้น
“ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนในพื้นที่ที่ยังต้องการ แทรมล้อเหล็ก และเกรงว่าโครงการจะยิ่งล่าช้าออกไป”
@รฟม.ควักงบ 55 ล้านบาทจ้างรีวิว-ปรับแบบ ชี้ชะตา "ระบบขนส่งภูเก็ต" อีกรอบ
“ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า รฟม.ตั้งงบประมาณ 55.8 ล้านบาท เพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ปรับปรุงแบบ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต_ห้าแยกฉลอง และส่วนต่อขยายไปท่าฉัตรไชย
โดยเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2565 รฟม.ได้ลงนามสัญญาจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด เป็นที่ปรึกษา วงเงิน 55 ล้านบาท เพื่อศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study Review) โดยเปรียบเทียบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสม คาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร เทคนิค ราคา สิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและการเงิน แผนการเดินรถ ฯลฯ ใช้ระยะเวลาดำเนินงานศึกษา 6 เดือน
@"ศักดิ์สยาม" ให้โจทย์เพิ่ม ศึกษารูปแบบ EV-BRT เปรียบเทียบต้นทุน
ล่าสุด "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" เผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ว่า รฟม.อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนโครงการใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและปรับลดวงเงินการลงทุนให้ได้มากที่สุด และทำให้โครงการเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจากการศึกษาเดิมจะก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้าล้อเหล็ก หรือแทรม ต่อมาปรับเป็นระบบแทรมขับเคลื่อนด้วยล้อยาง (ART) ปัจจุบันตนได้มอบนโยบายให้ รฟม.ศึกษารูปแบบที่ 3 เพิ่มเติม คือ ระบบรถเมล์ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ EV-BRT เปรียบเทียบด้วย ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่
ทั้งนี้ หากเป็น รถเมล์ไฟฟ้า รูปแบบการให้บริการจะเป็นการจัดช่องทางเดินรถเฉพาะบนถนนของกรมทางหลวง (ทล.) โดยมีรั้วหรือแบริเออร์กั้นช่องจราจรจากรถยนต์อื่นๆ รวมถึงมีระบบเครื่องกั้นอัตโนมัติในการบริหารความปลอดภัย โดยได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคม และอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ร่วมพิจารณาความเป็นไปได้ของรูปแบบดังกล่าว
การลงทุน EV-BRT ไม่สูงมาก ดังนั้นจะส่งผลไปถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารจะไม่แพงไปด้วย อีกทั้งยังสามารถผลักดันเพื่อเริ่มให้บริการเฟสแรกได้เร็ว โดยเห็นว่าการลงทุนน่าจะเป็นรูปแบบเดียวกับรถโดยสารใน กทม.ที่ให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถกับกรมการขนส่งทางบก โดยเป็นรถโดยสารไฟฟ้า (EV Bus) โดยกรมการขนส่งทางบกให้สัมปทานและกำกับดูแล ส่วนเอกชนจะลงทุนทั้งการจัดหารถ การบริหารจัดการ รวมไปถึงควบคุมระบบเครื่องกั้นและสัญญาณจราจร
@ขีดเส้น รฟม.สรุปใน พ.ย. เตรียมลง "ภูเก็ต"
ศักดิ์สยามระบุว่า "ขณะนี้รูปแบบยังไม่สรุป ดังนั้นยังเป็นไปได้ทั้งรถ EV-BRT หรือระบบ ART ซึ่ง ART ก็เป็นไปได้ทั้งแบบวิ่งบนถนน โดยแบ่งช่องจราจร และมีการควบคุมจราจร หรือเป็น ART เต็มรูปแบบ คือมีทางยกระดับหรืออุโมงค์บริเวณจุดตัด/ทางแยก ตรงนี้ต้องมาดูค่าลงทุนและค่าโดยสารที่เหมาะสมในแต่ละรูปแบบ ซึ่งผมให้เวลาสรุปเรื่องนี้ภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ เพราะผมต้องการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อผลักดันเป็นโครงการนำร่อง และจะทำให้ระบบขนส่งมวลชนในอีกหลายจังหวัดใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาได้"
แต่หากจะมีการพัฒนาเป็นระบบ ART เต็มรูปแบบ ซึ่งจะต้องก่อสร้างทางยกระดับ หรืออุโมงค์ ในช่วงที่เส้นทางตัดกับถนน เห็นว่าควรให้การพัฒนาโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ เสร็จเรียบร้อยก่อน เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทาง เพราะในช่วงที่มีการก่อสร้างจะมีปัญหาจราจรอย่างแน่นอน
“ผลศึกษาระบบ ART แม้ค่าลงทุนจะลดลงจากแทรมล้อเหล็ก แต่ก็ยังมีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งจะเก็บค่าโดยสาร 50 บาท เปรียบเทียบกับ EV Bus ใน กทม. ค่าโดยสารเริ่มต้น 10 บาท และราคาเหมา 40 บาท นั่งได้ไม่จำกัดตลอดวัน ผมเห็นว่าที่ภูเก็ตหากสามารถปรับเป็น EV Bus ได้ก็น่าจะเหมาะสม”
ตามผลศึกษา รฟม.ก่อนหน้านี้ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. เปรียบเทียบกรอบวงเงินลงทุนของ 3 รูปแบบ ได้แก่
1. รถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ล้อเหล็ก วงเงินรวม 35,201 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่างานโยธา 24,774 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,514 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถเริ่มต้น 2,921 ล้านบาท (3 คัน/ขบวน มี 22 ขบวน) ค่าที่ปรึกษา 1,065 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,428 ล้านบาท คาดจำนวนผู้โดยสารประมาณ 39,000 คนต่อวัน ทำให้ผลตอบแทนการลงทุน EIRR ต่ำมาก
2. รถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ล้อยาง วงเงินรวม 33,600 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่างานโยธา 22,339 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,514 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถเริ่มต้น 3,955 ล้านบาท (3 คัน/ขบวน มี 22 ขบวน) ค่าที่ปรึกษา 990 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,363 ล้านบาท
3. รถโดยสารประจำทางอัจฉริยะ (ART) วงเงินรวม 17,754 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 1,447 ล้านบาท ค่างานโยธา 10,861 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,000 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถเริ่มต้น 1,236 ล้านบาท (มี 44 ขบวน) ค่าที่ปรึกษา 518 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 692 ล้านบาท
@เชียงใหม่ สายสีแดง ศึกษาใหม่ พบรถไฟฟ้าล้อยางวิ่งระดับดินคุ้มค่า
สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กม. และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง 11.15 กม. อยู่ระหว่างที่ปรึกษาศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานและทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และอยู่ในขั้นตอนการสรุปผลการศึกษา รายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมภายในปลายปี 2565
สำหรับรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง มีแนวเส้นทางรูปแบบผสมระหว่างใต้ดินกับระดับดินนั้น มีมูลค่าการลงทุนสูง ส่งผลให้รายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถและบำรุงรักษา ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้ รฟม. ศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยาง
การศึกษา 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) แนวเส้นทางผสมใต้ดินและระดับดิน วิ่งบนรางในเขตทางเฉพาะตลอดสาย 2. ระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง และ 3. ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง
เปรียบเทียบด้านวิศวกรรมและจราจร (ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีความเหมาะสมทางกายภาพของระบบต่อสภาพพื้นที่ของเขตเมืองเชียงใหม่ ศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร ระยะเวลาในการก่อสร้าง) ด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ค่าลงทุน ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการ ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รายได้ค่าโดยสารและรายได้อื่นของโครงการ) และด้านสิ่งแวดล้อม (ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้าง ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะดำเนินการ)
พบว่ารูปแบบที่ 3 ระบบรถไฟฟ้าล้อยางที่มีรูปแบบทางวิ่งระดับดินตลอดแนวเส้นทางมีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากลดต้นทุนโครงการ ลดผลกระทบการเวนคืนที่ดิน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างไม่นาน
@โคราช สายสีเขียวฯ เหมาะกับรูปแบบ E-BRT หรือรถโดยสารไฟฟ้า
สำหรับจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียวฯ การศึกษาเทคโนโลยีรถไฟฟ้า 3 ระบบ ได้แก่ 1. Steel Wheel Tram รถไฟฟ้ารางเบาหรือรถราง โดยใช้ระบบล้อเลื่อน (Rolling Stock) 2. Tire Tram รถรางชนิดใช้ล้อยาง ที่มีระบบติดตั้งอุปกรณ์รางประคอง (Guided Light Transit) หรือระบบรางเสมือน (Track Less) และ 3. E-BRT (Electric Bus Rapid Transit) รถโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ไม่มีราง
โดยเปรียบเทียบทั้ง 3 ระบบในมิติที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านวิศวกรรมและจราจร (ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี, ความเหมาะสมทางกายภาพของระบบต่อสภาพพื้นที่ของเขตเมืองนครราชสีมา, ศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร, ระยะเวลาในการก่อสร้าง) ด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ค่าลงทุน, ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการ, ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, รายได้ค่าโดยสารและรายได้อื่นของโครงการ) และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้างและในระยะดำเนินการ
พบว่าระบบ E-BRT เหมาะสมที่สุด รองลงมาคือระบบ Tire Tram และระบบ Steel Wheel Tram ตามลำดับ
ขณะที่อัตราค่าโดยสาร เริ่มต้น 10 บาท และคิดอัตราตามจำนวนสถานีแบบขั้นบันได สถานที่ 1-8 (14 บาท) สถานีที่ 9-16 (18 บาท ), มากกว่า 18 สถานี (22 บาท)
@ “พิษณุโลก” ครม.เห็นชอบเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ยังนิ่งสนิท
ส่วนระบบขนส่งสาธารณะ จังหวัดพิษณุโลก นั้นหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจังหวัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้ รฟม.ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
ซึ่งตามผลศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลกที่ สนข.ทำไว้ ระยะที่ 1 สายสีแดง (ม.พิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก) ระยะทาง 12.6 กม. จำนวน 15 สถานี โดยเป็นระบบขนส่งรูปแบบ “รถรางล้อยาง” หรือ Auto Tram
ลงทุนในรูปแบบ PPP-Net Cost โดยรัฐลงทุนค่าเวนคืน ค่าก่อสร้างงานโยธา และระบบรถไฟฟ้า ส่วนเอกชนลงทุนจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมูลค่าการลงทุนโครงการประมาณ 3,440 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับ 13.01%
แผนเดิม จะประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนในเดือน ก.ย. 2565-ต.ค. 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 โดยคาดว่าปริมาณผู้โดยสารตามแผนระยะที่ 1 มีผู้โดยสารประมาณ 5,700 คน-เที่ยววัน ในปีที่เปิดให้บริการ และเพิ่มเป็น 13,700 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2574
การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองหลักในภูมิภาค เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาจราจร สร้างงาน สร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว แต่เพราะรถไฟฟ้าลงทุนสูง มีผลตอบแทนต่ำ เอกชนอาจไม่สนใจลงทุน ท้ายสุดรัฐบาลต้องเข้าไปอุดหนุนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง รวมไปถึงต้องมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นตัวช่วยเพิ่มทั้งผลตอบแทนการลงทุนและปริมาณผู้โดยสารได้อีกทาง...แต่โจทย์ใหญ่ของ รฟม.ตอนนี้ คือต้องหาโมเดลระบบเทคโนโลยี ที่มีความคุ้มค่าและเหมาะสม ตามนโยบาย "รมว.คมนาคม" ให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นคงต้องเสียเวลา...รื้อรีวิวทบทวนการศึกษากันอีก!!!