xs
xsm
sm
md
lg

TBC ทุ่ม 2,900 ล้านผุดโรงงานผลิตขวดอะลูมิเนียมชนิดบางรายแรกในไทย เดินหน้าองค์กรสู่ความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไทยเบเวอร์เรจแคน” หรือ TBC ผู้นำผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมรักษ์โลกใหญ่สุดของไทย ทุ่มงบลงทุน 2,900 ล้านบาทผุดโรงงานผลิตขวดอะลูมิเนียมแห่งแรกด้วยเทคโนโลยีใหม่ DWI ทำขวดอะลูมิเนียมชนิดบางรายแรกของไทยคาดเปิดเชิงพาณิชย์ ส.ค. 2566 เดินหน้าลุยแผนธุรกิจปักหมุด TBC SG 2030 มุ่งสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ตั้งเป้าใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิลให้ได้ 85% ภายในปี ค.ศ. 2030

นายสาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด (TBC) ผู้ผลิตกระป๋องและฝาอะลูมิเนียมชั้นนำของเมืองไทย
ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สแตนดาร์ด แคน จำกัด และบริษัท บอลล์ คอร์ปอเรชั่น สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนธุรกิจของ TBC ในวาระครบรอบ 25 ปี และก้าวสู่ปีที่ 26 บริษัทพร้อมเดินหน้าในการขยายธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในไทยอย่างต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาวที่จะยกระดับการดำเนินธุรกิจมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า TBC Sustainability Goals 2030 หรือ TBC SG 2030 ที่สอดรับกับนโยบาย BCG โมเดล (Bio, Cicular, Green Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของประเทศ โดยล่าสุดได้เตรียมสร้างโรงงานแห่งใหม่เพื่อผลิตขวดอะลูมิเนียมโฉมใหม่มูลค่า 2,900 ล้านบาทในพื้นที่ อ.หนองแค จ.สระบุรี คาดว่าจะเปิดเชิงพาณิชย์ได้ ส.ค. 2566

“โรงงานแห่งนี้จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สามารถลดปริมาณวัสดุอะลูมิเนียมให้บางลง แต่ยังคงความแข็งแรง ที่เรียกว่า DWI (Drawing and Wall Ironing Bottles Cans) มีกำลังการผลิต 200 ล้านขวดต่อปี นับเป็นโรงงานผลิตขวดเครื่องดื่มอะลูมิเนียมแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเรามุ่งใช้อะลูมิเนียมเพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% หรือที่เรียกว่า Closed-Loop recycling หรือการรีไซเคิลแบบวงจรปิด ที่ประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถรีไซเคิลได้อย่างครบวงจร ซึ่งสอดรับกับ TBC SG 2030 มีเป้าหมายที่จะใช้อะลูมิเนียมที่นำกลับมาใช้ใหม่ที่ในปัจจุบันมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลคิดเป็น 70% และคาดว่าในปี ค.ศ. 2030 จะเพิ่มเป็นที่ 85% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด” นายสาโรชกล่าว


ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการรีไซเคิลและการส่งกลับบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมที่ใช้แล้วเป็นไปอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทยในการศึกษาและวิจัยเรื่องวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ในแต่ละชนิดมานานกว่า 2 ปี ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่ามีการเรียกเก็บกระป๋องอะลูมิเนียมที่ใช้แล้วอยู่ที่ 88% ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่สูง แต่ยังมีโอกาสในการเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ได้อีก เพราะสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความเข้าใจและให้ความสำคัญต่อการคัดแยกขยะ โดยเฉพาะขยะประเภทกระป๋องอะลูมิเนียมที่มองว่าเป็นขยะที่มีมูลค่าสูงและสามารถนำมาสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังได้เดินหน้าจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างสังคมที่ดี โดยเฉพาะโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นบุญเพื่อมูลนิธิขาเทียมฯ” โดยได้เปิดรับบริจาคกระป๋องอะลูมิเนียมที่ใช้แล้ว ผ่าน “โครงการเปลี่ยนขยะเป็นบุญ เมื่อคุณหมุนเวียน เพื่อมูลนิธีขาเทียมฯ” เพื่อรับบริจาคกระป๋องและห่วงไปแปลงเป็นเงิน เพื่อนำไปซื้ออะลูมิเนียมเกรดที่เหมาะสมต่อการผลิตขาเทียม ให้กับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แล้วจึงส่งมอบให้ผู้พิการต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถนำห่วงและกระป๋องอะลูมิเนียมใช้แล้วแบบทั้งใบโดยไม่จำเป็นต้องแยกห่วง ร่วมบริจาคได้ที่ห้างบิ๊กซี กว่า 190 สาขา รวมถึงห้างร้านต่างๆ ที่ร่วมโครงการทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น