กรมทางหลวงขยาย "ทล.4" ช่วง บ.บางสัก-บ.เขาหลัก จ.พังงา กว่า 20 กม. เป็น 4-6 เลน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้งบกว่า 744.42 ล้านบาท ส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามัน
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 4 (ถ.เพชรเกษม) สาย อ.ตะกั่วป่า-อ.ท้ายเหมือง ตอน บ.บางสัก-บ.เขาหลัก จ.พังงา เป็น 4-6 ช่องจราจร งบประมาณ 744,422,200 บาท แล้วเสร็จ ตามนโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ช่วยกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เนื่องจากโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงสายหลักที่สำคัญในการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นทางหลวงแผ่นดินสายสำคัญที่กระจายโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคใต้
ทั้งนี้ ทางหลวงสายดังกล่าว แต่เดิมช่วง กม.776+700 - 797+100 มีขนาด 2 ช่องจราจร และช่วง กม.792+100 - 795+400 มีขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมเส้นทางคู่ขนานสำหรับรถจักรยานและรถจักรยานยนต์ ส่วนที่เหลือเป็นขนาด 6 ช่องจราจร และ กม.796 (แยกนางทอง) เป็นสามแยกสัญญาณไฟจราจร ซึ่งเป็นทางแยกที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น และปัญหาการจราจรติดขัด เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจราจรและเป็นการอำนวยความปลอดภัยในการเดินทางบนทางหลวง
กรมทางหลวงจึงได้ก่อสร้างขยายเส้นทางช่วง กม.776+700 - 797+100 ระยะทางยาวประมาณ 20.36 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ บ.บางสัก และ บ.เขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จากขนาด 2 ช่องจราจร เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ช่วง กม.776+700 - 791+200 โดยก่อสร้างขยายคันทางเดิมทางด้านขวาทางและด้านซ้ายทาง ความกว้างช่องจราจร 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.5 เมตร
และช่วง กม.791+200 - 795+400 จากขนาด 4 ช่องจราจร ขยายเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร ผิวจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีต ไหล่ทางกว้าง 2.5 เมตร รวมความกว้างของช่องจราจรทั้งหมด 13 เมตร และมี Bike lane สำหรับจักรยาน กว้าง 2.3 เมตร โดยทั้ง 2 ช่วงก่อสร้างเกาะกลางแบบยกระดับความกว้าง 2.5 เมตร เพื่อแบ่งทิศทางการจราจรให้ปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งออกแบบจัดการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการจราจรน้อยที่สุด เพื่อเป็นการยกระดับในการให้บริการ อำนวยความสะดวกและปลอดภัยต่อการเดินทางมากยิ่งขึ้น พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง
ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้การคมนาคมขนส่งมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น ส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ลดระยะเวลาในการเดินทางทำให้การขนส่งวัสดุอุตสาหกรรมและพืชผลทางเกษตรมีความคล่องตัว ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนสองข้างทางและผู้ใช้เส้นทางมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ