xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ตรวจ "สุวรรณภูมิ" แก้คอขวด ตม.รับไฮซีซัน-เอเปก เร่งเพิ่มคน-เครื่องมือใน 15 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ตรวจ "สุวรรณภูมิ" เร่งแก้คอขวด ตม.สั่งเร่งจัดหาเครื่องตรวจและเพิ่มคนใน 15 วันรองรับผู้โดยสารเพิ่มไฮซีซัน พร้อมจัดช่องทางพิเศษและหลุมจอดรองรับทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมือง รองรับผู้นำและคณะผู้เข้าร่วมประชุมเอเปก 2022

วันที่ 3 พ.ย. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจการเตรียมความพร้อมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในการให้บริการผู้โดยสารขาเข้าและขาออกในช่วงฤดูท่องเที่ยว และการเตรียมความพร้อมการอำนวยความสะดวก ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ว่า ความพร้อมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนต่างๆ ของการให้บริการและการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารนั้น ต้องมีความคล่องตัวและให้บริการได้รวดเร็วเวลาที่สายการบินใช้บริการหนาแน่นมี 3 ช่วง คือ เช้า, บ่าย, เย็น ซึ่งให้สำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) บริหารจัดการเที่ยวบินให้สอดรับกับขีดความสามารถการให้บริการของสนามบินทั้งหมด และให้ ทอท.วิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณความต้องการการเดินทางและเที่ยวบินที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ให้การบริการเกิดความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้เดินทาง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีจำนวนเที่ยวบินหนาแน่น เพื่อลดความแออัดของจำนวนผู้โดยสาร

ส่วนจุดตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มีการประสานการทำงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) รายงานว่า อัตรากำลัง ตม.ยังไม่เพียงพอ ซึ่งให้ประเมินจำนวน และเร่งเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเพิ่มเจ้าหน้าที่ โดยเร่งดำเนินการให้เสร็จใน 15 วัน โดยตนจะเรียนต่อนายกรัฐมนตรีรับทราบอีกทางด้วย


สำหรับพื้นที่ผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีช่องตรวจอนุญาตทั้งสิ้น 119 ช่องตรวจ แบ่งเป็นโซนตะวันออก จำนวน 56 ช่องตรวจ สามารถระบายผู้โดยสารได้ 3,360 คน/ชม. โซนกลาง จำนวน 20 ช่องตรวจ สามารถระบายผู้โดยสารได้ 1,200 คน/ชม. โซนตะวันตก จำนวน 43 ช่องตรวจ สามารถระบายผู้โดยสารได้ 2,580 คน/ชม. นอกจากนี้ มีเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ จำนวน 32 เครื่อง แบ่งเป็น ขาเข้า จำนวน 16 เครื่อง ขาออก จำนวน 16 เครื่อง และได้จัดทำเสากั้นทางเดินเพื่อจัดระเบียบพื้นที่ไม่ให้เกิดความแออัดของผู้โดยสารขณะรอรับบริการในขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่มอนิเตอร์เพื่อบริหารจัดการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขีดความสามารถ 7,000 คนต่อชั่วโมง โดย 1 คนตรวจไม่เกิน 1 นาที

นายศักดิ์สยามกล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศออกแบบหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) คนไทยใหม่ แต่พบว่ายังมีปัญหาในการใช้กับเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ ในเบื้องต้นให้จัดเจ้าหน้าที่ดูแล โดยแยกผู้ถือพาสปอร์ตใหม่ จุดช่องทางแยกกับพาสปอร์ตเก่า หากมีปัญหาจะได้นำระบบ manual เข้ามาใช้แทน ไม่ให้เสียเวลา

สำหรับเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติที่ใช้งานมา 10 ปีแล้ว ให้ทางตม.สำรวจอุปกรณ์เครื่องมือว่ายังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ หากจำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติมให้ประสาน ทอท.สนับสนุนงบประมาณ เร่งรัดจัดหาภายใน 15 วัน เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อรองรับให้ทันช่วงไฮซีซัน

“กรณีต้องจัดซื้อเร่งด่วน ให้ตั้งคณะกรรมการ โดยเชิญ ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ก.ตปท. ตม. สภาวิศวกร และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ให้เข้ามาร่วมทำทีโออาร์ โดยยึดหลักระเบียบกฎหมาย เรื่องนี้หากทำได้เร็วจะเป็นโอกาส เพราะเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ รองรับเชื่อมต่อกับสนามบินนั้น ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดเตรียมความพร้อมให้ทั้งปริมาณเพียงพอ มีการจัดระเบียบ และกำกับดูแลควบคุมในเรื่องอัตราค่าบริการให้เป็นไปตามระเบียบ

ทั้งนี้ มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติตามแผนและมีประสิทธิภาพ โดยให้รายงานผลทุกวัน รวมถึงจัดทำคลิปรายละเอียดการบริการในขั้นตอน วิธีการปฏิบัติต่างๆ การเดินทางในระบบขนส่ง โดยประสานกับสายการบินเพื่อนำคลิปเผยแพร่ให้ผู้โดยสารได้รับทราบข้อมูลก่อนที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทย


@ สนามบินระบบขนส่งทุกมิติ พร้อมรองรับผู้นำและคณะเอเปก 21 เขตเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยามยังได้ประชุมการเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) หรือเอเปก 2022 (APEC 2022) ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ร่วมกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีสนามบินรองรับ 3 แห่ง คือ บน.6, สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา โดยมีการจัดเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ บุคลากร และขั้นตอนการให้บริการ พร้อมกับแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อบูรณาการระหว่างหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต เพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งให้แก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก

โดยสนามบินสุวรรณภูมิได้เพิ่มช่องตรวจอนุญาต จำนวน 19 ช่องตรวจ เพื่อรองรับผู้ข้าร่วมประชุม ผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 โดยแบ่งเป็น โซนตะวันออก จำนวน 8 ช่องตรวจ (AE1 - 8) โซนกลาง จำนวน 4 ช่องตรวจ (AM17 - 20) และโซนตะวันตก จำนวน 7 ช่องตรวจ (AW1 - 7)


ทั้งนี้ สนามบินสุวรรณภูมิมี 120 หลุมจอด โดยเตรียมรองรับอากาศยานของคณะประมุขและผู้นำประเทศที่เดินทางเข้าร่วมประชุม APEC ของคณะฯ พักค้างคืนที่หลุมจอดฯ สำหรับเที่ยวบินพาณิชย์ จำนวน 4 ลำ และสามารถจอดพักค้างคืนบนพื้นที่จอดอากาศยานเฉพาะ 16 ลำ (รวมทั้งหมดจำนวน 20 ลำ) มีการบริหารจัดการที่ไม่กระทบต่อการให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อื่นๆ ส่วนสนามบินดอนเมือง มี 101 หลุมจอด สามารถให้อากาศยานของคณะฯ พักค้างคืนที่หลุมจอดฯ จำนวน 17 หลุมจอด พร้อมกับมอบหมายให้ ทอท. ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาขนาดอากาศยานและขนาดพื้นที่ในการรองรับให้เหมาะสม

รวมทั้งการให้บริการ Ground Handing แก่อากาศยานของผู้นำ การให้พนักงานบริการประจำห้องรับรองพิเศษ การยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยมอบหมายให้ กพท., วิทยุการบิน ดำเนินการบริหารจัดการความคล่องตัวของการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management) ในช่วงเวลาการให้บริการเที่ยวบิน VIP และพิธีการต้อนรับภาคพื้นดิน การบริหารจัดการจราจรทางอากาศ และห้วงอากาศบริเวณพื้นที่ประชุม รองรับมาตรการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานความมั่นคง ทั้งในกรณีปกติและฉุกเฉิน พร้อมจัดรถโดยสารสาธารณะเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากท่าอากาศยานไปยังจุดหมายปลายทางของผู้โดยสาร โดยมอบ ทอท. ประสานรายละเอียดกับกระทรวงการต่างประเทศเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ในการอำนวยความสะดวกผู้นำและคณะผู้เข้าร่วมประชุม APEC อาจจะมีการปิดถนนในบางช่วง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกบ้าง ซึ่งในช่วงดังกล่าว ครม.ได้ประกาศให้วันหยุด ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เพื่อลดปัญหาการจราจรและผลกระทบต่อประชาชนแล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น