xs
xsm
sm
md
lg

"ต่ออายุหลอดพลาสติก" เปลี่ยนขยะเป็นสินค้าฝีมือชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ช่วยโลกกับการ "ต่ออายุหลอดพลาสติก" ที่ต่อยอดจากการนำ "หลอด" ที่ใช้แล้วไปผลิตเป็น "หมอนไส้หลอด" เพื่อผู้ป่วยแผลกดทับของ "มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน" และ "ศูนย์สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม" ไปสู่ความร่วมมือกับ "สถาบันนวัตกรรม ปตท." นำมา Upcycling กลายเป็นสินค้าฝีมือชุมชน เพื่อหวังกระจายรายได้ และช่วยลดขยะหลอดได้ถึง 646 กก.

"หลอดพลาสติก" ขยะชิ้นเล็กที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ไปทั่วโลก จากการใช้งานราว 500 ล้านชิ้นต่อวันด้วยเวลาอันสั้นก่อนกลายเป็นของเสียที่ถูกทิ้งและยังย่อยสลายช้ากว่า 200-300 ปี นั่นจึงทำให้ "มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน" จับมือกับ "สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)" และ "ศูนย์สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรม ม.เกษตรศาสตร์" ร่วมกันคิดหาทางยืดเวลาการใช้งานของ "หลอด" จนกลายเป็น "โครงการต่ออายุหลอดพลาสติก" นำหลอดที่ใช้แล้วมาปรับปรุงคุณสมบัติให้เกิดความยืดหยุ่นในรูปแบบวัสดุใหม่ (Upcycling) และศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เป็นวัสดุทดแทนวัสดุจากธรรมชาติ

ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อจากโครงการที่ "มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน" ได้รณรงค์นำขยะหลอดพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เพื่อสร้างความรู้ความตระหนักและช่วยลดปัญหา ไปสู่การเปิดรับบริจาคหลอดเพื่อจัดทำหมอนไส้หลอดในการป้องกันแผลกดทับผู้ป่วยติดเตียง ตั้งแต่ปี 2563 จนสามารถลดขยะหลอดพลาสติกได้ราว 1,276,000 หลอด หรือ 646 กิโลกรัม และยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 93 ต้นเลยทีเดียว

ดร.จิระวุฒิ จันเกษม นักวิจัยอาวุโส สถาบันนวัตกรรม ปตท.
ดร.จิระวุฒิ จันเกษม นักวิจัยอาวุโส สถาบันนวัตกรรม ปตท. เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดมาจากปัญหาหมอนไส้หลอดที่ทางมูลนิธิพลังที่ยั่งยืนได้ผลิตไปก่อนหน้านี้เสื่อมสภาพจนไม่สามารถใช้งานได้อีก จึงได้มีการคุยกันและทางสถาบันฯ ซึ่งเป็นหน่วยที่ทำการวิจัยและพัฒนาก็เล็งเห็นถึงความตั้งใจของผู้ที่อยากบริจาคหลอดมาเพื่อลดขยะและอยากทำให้เกิดประโยชน์ จึงเห็นว่ามันน่าจะทำประโยชน์ได้ต่อจนนำเอาหลอดเหล่านั้นมาพัฒนาให้กลายเป็นวัตถุดิบอื่นๆ

"ในส่วนของงานวิจัยมันคือการเปลี่ยนของเสียที่มองว่าเป็นวัตถุดิบ พยายามทำให้เกิดเป็นวัสดุหรือของที่เอาไปใช้ประโยชน์ต่อ ถ้าเราเปลี่ยนมาเป็นแค่แผ่น หรือเส้นพลาสติกธรรมดามันยากมากที่คนจะเอากลับไปใช้ สิ่งที่ขาดอยู่ก็คือการออกแบบและเปลี่ยนให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์จริงๆ เพื่อให้สามารถที่จะเอาไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องมีคนที่ช่วยพัฒนา" ดร.จิระวุฒิเล่าถึงความร่วมมือกับศูนย์สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมฯ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์


นักวิจัยอาวุโส สถาบันนวัตกรรม ปตท. ยังมองถึงปัญหาของขยะหลอดพลาสติกที่เป็นเพียงขยะชิ้นเล็ก หลอด 1 ชิ้น มีขนาดแค่ไม่กี่กรัม หากจะนำไปรีไซเคิลจะไม่คุ้ม และยังยากในกระบวนการ ทั้งการแยก ทำความสะอาด และรวบรวม จึงกลายเป็นของเสียตัวหนึ่งที่ถูกละเลยจนเกิดผลกระทบต่อสัตว์ในทะเลและพื้นดินเป็นวงกว้าง

"เราไม่ต้องมาผลิตพวกนี้ก็ได้นะ ถ้าคุณใช้หลอดแล้วล้างเก็บไว้ใช้อีกเพราะการแก้ปัญหาขยะจริงๆ มันควรจะเป็นการลดใช้ มากกว่าเปลี่ยนรูป แต่ยังไงก็ตามเราก็ไม่มีทางที่จะลดจนหมดไปได้ อันนี้เราเสนอทางเลือกเสริมขึ้นมาว่า ในขณะที่ถ้าทุกคนจะยังรณรงค์ลดขยะ การใช้ซ้ำ แต่มันก็ยังมี เราก็เลยเอาอันนี้มาเปลี่ยนมาเป็นวัตถุดิบใหม่แทนการทิ้งเป็นขยะไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าอายุการใช้งานอาจไม่เท่ากับพลาสติกใหม่"


ส่วนกระบวนการแปรรูปนั้น ดร.จิระวุฒิเล่าว่า ผลิตภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกทุกตัวเริ่มต้นก็ต้องทำให้เกิดเป็นเม็ดพลาสติกก่อนนำไปสู่กระบวนการขึ้นรูป หลอดก็เช่นกัน ระยะเวลาการผลิตมันไม่ใช่ 5 นาที แต่เวลาเราใช้งานเราดูดน้ำเสร็จก็ทิ้งแล้ว อายุการใช้งานมันสั้นมาก ซึ่งในส่วนของทีมพัฒนาและวิจัย รับผิดชอบในการเปลี่ยนหลอดให้เป็นวัสดุ ทั้งแผ่นพลาสติกขนาดบาง และขนาดหนา รวมทั้งวัสดุที่เป็นเส้น เพื่อให้ฝ่ายออกแบบลองพิจารณาว่าชิ้นนี้มีความเหมาะสม น่าสนใจพอที่จะไปทำเป็นผลิตภัณฑ์แล้วหรือยัง ถ้ามีจุดไหน เช่น แข็ง-นิ่มมากเกินไป ก็จะนำกลับมาพัฒนาต่อในงานวิจัย


นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้ร่วมมือกับหลายชุมชนใน จ.พระนครศรีอยุธยา และนราธิวาส ในการผลิตเป็นงานฝีมือต่างๆ ซึ่งทางสถาบันนวัตกรรม ปตท.ได้ส่งวัสดุไปยังทีมออกแบบเพื่อให้สื่อสารกับชุมชนต่างๆ เพื่อดูผลก่อนส่งกลับมาให้ทีมวิจัยได้ทำการบ้านเพื่อพัฒนาต่อ โดย ดร.จิระวุฒิอธิบายถึงความร่วมมือนี้ว่า เรื่องขยะเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าชาวบ้านเห็นถึงปัญหามันอาจจะเกิดการรณรงค์ในเรื่องของการแยกและการจัดการขยะ นอกจากนี้ยังอยากให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่หลายๆ ชุมชนด้วย มันก็จะเพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดได้

"เวลาเราทำพวกนี้คนจะถามว่าทำไมมันแพง ก็อย่าลืมว่า หลอด 1 อันมีขนาด 0.2 กรัม กว่าจะรวบรวม มาทำความสะอาด หาวิธีแปลงกลับมาเป็นเส้นเพื่อที่จะเอากลับมาสาน มันมีขั้นตอนมีกระบวนการที่บางครั้งคนอาจจะลืมไป คิดแค่ว่ามันเป็นขยะ"

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์
ด้าน รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งได้ร่วมมือกับมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน มาตั้งแต่ต้นของการทำหมอนไส้หลอดในการป้องกันแผลกดทับผู้ป่วยติดเตียง จนมาถึงโครงการนี้ที่ได้ร่วมงานกับทางสถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็เล่าถึงโจทย์ที่ท้าทายจากการแปลงหลอดเป็นวัตถุดิบใหม่ที่ชุมชนทำได้ว่า ในช่วงต้นได้ให้ลองทำเทคนิคทั้ง การตัด การป่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ การรีดเอง การเอาแผ่นวัสดุมาซ้อนทับกันแล้วอัดขึ้นรูปใหม่ (Laminate)

"พอทำไปสักพักแล้ววัสดุที่ทำขึ้นมามันเย็บยาก ไม่แข็งแรง แม้ทำได้แต่การยืดอายุมันก็ได้อีกแค่นิดเดียว จึงเริ่มคิดว่า จริงๆ แล้วเราควรทำอะไรที่ไม่ให้ชุมชนทำ 100% เลยได้ไหม จากความร่วมมือของมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน กับสถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แล้วทางศูนย์สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมเป็นตัวเชื่อมในการออกแบบชิ้นงานขึ้นมา"


นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการแปลงพลาสติกที่มาจากการรีดด้วยชุมชนแล้วเอาไปเป็นวัสดุที่แข็งแรงขึ้นแล้วเอาไปทำทั้งเส้น และ แผ่นหลายรูปแบบ โดย รศ.ดร.สิงห์เล่าว่า ได้นำไปทดลองที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อหาชุมชนที่ทำได้ มีการศึกษากันราว 2-3 ปี มีการปรับขนาดเส้นพลาสติก ความนุ่ม เหนียว เบา มาเรื่อยๆ แล้วแต่ที่ทางทีมวิจัยจะลองทดสอบลงมา รวมถึงเรื่องสี และการทำหวายเทียม ก็มีการทดลองหลายอย่างให้ชุมชนได้เห็นด้วยกัน

"เรามีการปรับการออกแบบให้เข้ากับชุมชนตลอดเวลา เพราะบางที่ถึงเขาจะถนัดสาน แต่พอเปลี่ยนรูปแบบเส้นพลาสติกแล้วเขาควบคุมไม่ได้ให้แบบที่เขาเคยถนัด เราจึงเปลี่ยนวิธีมาใช้ชุมชนที่ถนัดการสานหลายๆ ชุมชนเพื่อให้แต่ละแห่งดูว่ามีที่ใดจะค้นพบเทคนิคที่น่าสนใจบ้าง เพื่อมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป"


ในส่วนของการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ อธิบายว่า เดิมชุมชนนั้นๆ ทำกระเป๋าอยู่แล้ว จึงเริ่มให้นำไปสานเป็นกระเป๋าก่อนเพื่อดูว่าถ้าเปลี่ยนวัสดุแล้วยังทำได้สวย มีคุณภาพได้อยู่หรือไม่ ในขณะเดียวกันก็มีทีมออกแบบสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับของตกแต่งบ้านขึ้นมา เช่น ตะกร้าขนาดใหญ่ กระถางต้นไม้ ที่สวมแจกัน เพื่อให้ชุมชนเห็นว่าจากกระเป๋ามันแปลงเป็นอะไรได้บ้างในเทคนิคเดียวกัน

โดย รศ.ดร.สิงห์บอกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการนำผลงานเหล่านั้นมาขาย เพราะเพิ่งจะปิดโครงการในการฝึกฝนชุมชน ซึ่งกำลังปรึกษากันว่าจะต่อยอดทำอะไรให้กลายเป็นรายได้เสริม แต่ตอนนี้ชุมชนต่างๆ เริ่มคุ้นกับการใช้งานเส้นพลาสติกแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะมีการออกแบบจริงๆ และน่าจะมีดีไซเนอร์หลายคนมาร่วมงานมากขึ้น ส่วนในแง่ของราคานั้น มันเป็นช่วงต้น จึงยังไม่ได้สรุปกัน แต่เท่าที่พบมาด้วยความที่ทุกอย่างเป็นต้นแบบหมด ราคาจะสูงกว่าปกติอยู่ จึงคาดหวังว่าเมื่อเขาคุ้นกับเส้นเหล่านี้ในปีที่ 2-3 ราคาน่าจะเป็นปกติเหมือนผลิตภัณฑ์ทั่วไป


รวมไปถึงกลุ่มผู้ซื้อที่สนใจสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นวัยรุ่น หรือคนทำงาน แม้ว่าจะสนใจในเรื่องราวที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การเก็บหลอดล้างและยอมเสียเงินส่งมาให้ชุมชนไปผลิตต่อ แต่ปัจจุบันหน้าตาของผลิตภัณฑ์มันยังคล้ายกับของเดิมอยู่ ซึ่ง หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ก็ยอมรับว่าถ้าเป็นเช่นนี้ก็อาจจะยังไม่ถึงเวลาที่จะเปิดตลาดออกมาขายจำนวนมาก

"ต้องเข้าใจก่อนว่า เราต้องการพัฒนาศักยภาพของชุมชน ซึ่งถ้าจะไปให้เร็วกว่านี้ เราเอาดีไซเนอร์, SMEs มาเข้าสู่กระบวนการใช้เศษวัสดุ ใช้เส้นพลาสติกแบบนี้ ก็จะเห็นผลงานที่เป็นมืออาชีพและสวยงามอย่างรวดเร็วมาก แต่ด้วยกระบวนการเราก็จะเน้นให้ชุมชนทำได้เป็นหลักแล้วค่อยเรียนรู้จักวัสดุ เปลี่ยนแนวความคิด เปลี่ยนวิธีการ ซึ่งต้องใช้เวลา"

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ และ ดร.จิระวุฒิ จันเกษม นักวิจัยอาวุโส สถาบันนวัตกรรม ปตท.














กำลังโหลดความคิดเห็น