มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดเสวนาทางวิชาการ
“จักสานไทยก้าวไกลในตลาดโลก” ในงานนิทรรศการ “เพียรสาน...งานศิลป์”
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดเสวนาทางวิชาการ “จักสานไทยก้าวไกลในตลาดโลก” ในงานนิทรรศการ “เพียรสาน...งานศิลป์” โดยมีท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ แขกผู้มีเกียรติและประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการเสวนา โดยมี ดร.กรกต อารมย์ดี ศิลปินศิลปาธร สาขาออกแบบ พ.ศ. ๒๕๖๐ และเจ้าของแบรนด์ KORAKOT เป็นผู้บรรยาย ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน
ดร.กรกต อารมย์ดี ศิลปินศิลปาธร สาขาออกแบบ พ.ศ. ๒๕๖๐ และเจ้าของแบรนด์ KORAKOT กล่าวว่า ผมเกิดที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ครอบครัวทำประมงพื้นบ้านมาโดยตลอดตั้งแต่รุ่นก๋งมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผมได้รับการปลูกฝังจากก๋งตั้งแต่เด็ก ๆ ให้รู้จักการซ่อมเครื่องมือประมงด้วยตัวเอง ได้เรียนรู้การทำอวนประมง การทำสุ่มดักปลา ได้ซึมซับเทคนิคการมัดจากการผูกว่าวเล่นในช่วงหน้าร้อน ทำให้รู้จักคุณสมบัติของไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นเป็นอย่างดี และนำมาครีเอทให้เข้ากับงานศิลปะร่วมสมัย ด้วยเทคนิคต่าง ๆ ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น การมัด การผูก การสานไม้ไผ่ จนเกิดความชำนาญ จนกระทั่งเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาประยุกต์ศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ส่งผลงานศิลปะจากไม้ไผ่เข้าประกวดงาน OTOP และได้รับรางวัลชนะเลิศ จากนั้นได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนนักออกแบบไปจัดแสดงผลงานที่ประเทศฝรั่งเศส
“ผมใช้ความชำนาญในการประยุกต์การทำหัตถกรรมพื้นบ้านให้มีดีไซน์ที่ร่วมสมัย ทำให้ได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวต่างชาติ โดยในตอนนั้นผมเริ่มทำโคมไฟและมีคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ผมจึงได้เพิ่มจำนวนทีมงานจาก ๘ คนเป็น ๔๐ คน และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมจึงได้ดึงทีมงานท้องถิ่นเข้ามาช่วย ยกตัวอย่างเช่น คุณลุงทองหล่อ อายุ ๕๖ ปี ที่มีอาชีพการทำเข่งจากไม้ไผ่มาตลอดทั้งชีวิตตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี จนกระทั่งเมื่อมีพลาสติกเข้ามาแทนที่ ทำให้คุณลุงต้องหันไปทำอาชีพก่อสร้างนานถึง ๓ ปี ผมจึงได้ชักชวนคุณลุงให้กลับมาเหลาไม้ไผ่อีกครั้ง โดยรับซื้อไม้ไผ่เส้นละ ๓ - ๔ บาท ทำให้คุณลุงมีรายได้ ๒๐,๐๐๐-๒๕,๐๐๐ บาท ต่อเดือน และเกิดเป็นคลัสเตอร์ที่ทำงานกันเป็นทีม ทำให้คุณลุงมีความสุขมากขึ้น คนในชุมชนก็มีอาชีพมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น น้อง ๆ ที่เป็นวัยรุ่นก็มาช่วยกันทำงาน ทำให้สังคมพื้นบ้านมีความเข้มแข็งขึ้น ลดปัญหามั่วสุม ยาเสพติด ลงได้มาก"
ดร.กรกต กล่าวต่อว่า การเชื่อมโยงช่างฝีมือไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ปลูกไผ่ ช่างตัดไม้ไผ่ ช่างเหลาไม้ไผ่
ช่างประกอบขึ้นโครง ช่างเก็บรายละเอียด ช่างเหล็ก ช่างไฟ รวมไปถึงการตลาด การไปออกงานแฟร์ เมื่อขายโคมไฟได้แล้ว ก็ย้อนเอาเงินกลับมาที่ปลูกไผ่ก็คือ เกษตรกร คือระบบนิเวศของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถเอาเงินทองจากต่างประเทศเข้ามาสู่รากหญ้าได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นไม้ไผ่ที่อยู่หลังบ้านเรา เราสามารถที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุทั้งด้านความงามและการใช้งานด้วยการทำงานคู่กับนักออกแบบ ช่างวัสดุ ซึ่งทักษะของเรามีอยู่แล้วเมื่อนำมาผสมผสานกันก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของช่างชุมชน ให้เกิดเป็นลักษณะของสากล สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุมชนชาวบ้านแหลมได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวบ้านแหลมมิให้สูญหายอีกด้วย
อนึ่ง แบรนด์ ‘KORAKOT’ ได้สร้างสรรค์ผลงานจักสานไม้ไผ่ที่สร้างชื่อไกลระดับโลก ที่แบรนด์ดังอย่าง แอร์เมส (Hermes) หลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton) คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) นำไปใช้ในการตกแต่งร้าน นอกจากนี้ ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทระดับห้าดาว ทั่วทุกมุมโลก รวมถึงห้างสรรพสินค้า ล้วนนำงานฝีมือของดร.กรกต ไปประดับตกแต่งสถานที่อีกด้วย.