ที่ผ่านมาทรัพยากรถูกใช้อย่างสิ้นเปลืองและไม่รู้คุณค่า จนผืนดินผืนป่าเสื่อมโทรมอย่างหนัก เกิดภัยพิบัติธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมขาดเสถียรภาพ แต่ในปัจจุบัน ทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 จะผลักดันแนวคิดที่ช่วยพัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม (Balance) ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักของการประชุม ด้วยการส่งเสริมการใช้ BCG Economy Model ซึ่งเป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศได้อย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในบางสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพได้ โดย BCG Economy Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนา 3 เศรษฐกิจ ไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
BCG Economy Model ถือเป็นยุทธศาสตร์การพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และถือเป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าในระยะยาว โดยรัฐบาลส่งเสริมการนำ BCG Economy Model มาใช้ทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สนับสนุนให้ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการพัฒนาผลผลิต และผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เพื่อให้สอดคล้องกับวาระของโลก ไทยได้มีการผลักดันเอกสาร “เป้าหมายกรุงเทพเรื่องเศรษฐกิจ BCG” (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งเป็นเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคปีนี้ เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของเอเปคในการก้าวไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม
(Advertorial)