xs
xsm
sm
md
lg

'ศักดิ์สยาม' ออกคำสั่งด่วน! คุมใช้งบปี 66 สั่งหน่วย "คมนาคม" รายงานยิบทุกขั้นตอนจัดซื้อก่อน 7 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ออกหนังสือด่วนคุมเข้มใช้งบปี 66 สั่งปลัดฯ หัวหน้าหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องส่งบัญชีงบลงทุนทุกประเภทรายงานตรงให้ทราบก่อนไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ ตั้งแต่ก่อนประมูล, ร่าง TOR, ผลประมูลก่อนเซ็นสัญญา ข้าราชการโอด หวั่นงานช้ากว่าเดิม และเข้าข่ายแทรกแซงขั้นตอน พ.ร.บ.จัดซื้อฯ หรือไม่ 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามในหนังสือที่ คค 0100/3311 ลงวันที่ 21 กันยายน 2565 ถึงปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีทุกกรม ผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เรื่องการบริหารงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ให้จัดส่งบัญชีรายการงบลงทุนทุกประเภทถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 และก่อนดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ส่งร่าง TOR ขั้นตอนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบไม่น้อยกว่า 7 วันทำการก่อน

หนังสือดังกล่าวระบุว่า ด้วยร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้เคยกำหนดแนวทางให้หน่วยงานของรัฐเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยดำเนินการจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างและให้เร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้พร้อมที่จะทำสัญญาหรือข้อตกลงได้ทันทีเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้และได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้ว และกรณีโครงการที่ไม่ได้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งงบประมาณจากกองทุนต่างๆ งบประมาณจากเงินกู้ และงบประมาณจากแหล่งอื่น ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย
การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 11 วรรค 1 กำหนดว่า เมื่อหน่วยงานของรัฐได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจในการพิจารณางบประมาณตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ข้อบัญญัติ ข้อกำหนด หรือแนวทางปฏิบัติว่าด้วยงบประมาณของหน่วยงานของรัฐนั้นๆ แล้ว ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติงานนั้นจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีเสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐเพื่อขอความเห็นชอบ

นอกจากนี้ ตามที่ได้ตรวจสอบจากการรายงานการบริหารงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พบว่ายังมีบางหน่วยงานที่บริหารงบประมาณโครงการไม่เป็นไปตามกฎหมายทั้งหมดหรือบางส่วน การเข้าใจผิดในข้อกฎหมาย การกำหนดรายละเอียด หรือราคากลางที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายหลักการ ความเหมาะสม คุ้มค่า และประหยัด มีประสิทธิภาพ รวมทั้งรายงานข้อมูลไม่ครบถ้วนทุกโครงการ

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกรณีโครงการที่ไม่ได้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นไปตามกฎหมาย และแผนงาน อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างโปร่งใสสามารถสนับสนุนการนำนโยบายของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ อาศัยอำนาจตามนัยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 20 ประกอบมาตรา 11 และพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 42 รวมทั้งพระราชบัญญัติ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ข้อบังคับว่าด้วยการจัดตั้งบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดที่รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ถือหุ้น จึงให้ปลัดกระทรวง อธิบดีทุกกรม ผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ถือปฏิบัติ ดังนี้


1. จัดส่งบัญชีรายการงบลงทุนทุกประเภท ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกรณีโครงการที่ไม่ได้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยแยกแหล่งที่มางบประมาณตามบัญชีรายการงบลงทุนทุกประเภทฯ ที่ส่งมาพร้อมนี้ ถึงสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2565

2. ก่อนดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ให้กระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจทุกแห่งรายงานสถานะของโครงการ พร้อมจัดส่งร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุหรือแบบรูปรายการงานก่อสร้าง (TOR) และขั้นตอนแผนการดำเนินการ (Timeline) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบแล้วจึงดำเนินการต่อไปได้

3. เมื่อได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และแนวทางปฏิบัติว่าด้วยงบประมาณของหน่วยงานของรัฐนั้น ตลอดจนระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง จนได้ทราบผลการประกวดราคา หรือการคัดเลือกผู้ขายหรือผู้รับจ้างแล้ว ให้รายงานสถานะของโครงการ พร้อมผลการประกวดราคาหรือการคัดเลือก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบภายใน 7 วันทำการ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบแล้วจึงพิจารณาลงนามในสัญญาและดำเนินการต่อไปได้

4. ให้กระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจทุกแห่งถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากมิได้ดำเนินการตามข้อสั่งการข้างต้น ให้ถือว่ากระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจนั้นมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายและข้อสั่งการของรัฐมนตรี รวมทั้งยังมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และหลักธรรมาภิบาลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

5. นอกเหนือจากความในข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 ให้กระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจทุกแห่งยังคงถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค 0100/1421 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 หนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค 0100/645 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2563 และหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค 0100/ว 2680 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2563 เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับหนังสือฉบับนี้

สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติ และบริษัทมหาชนจำกัด เห็นควรให้แจ้งบริษัทฯ ให้ถือปฏิบัติด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า หนังสือคำสั่งครั้งนี้แตกต่างจากคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2563 ที่ให้ขออนุมัติดําเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อรมว.คมนาคม โครงการที่มีวงเงินงบประมาณตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป แต่ในคำสั่งล่าสุดไม่ได้กำหนดวงเงินไว้ ดังนั้น จึงมีความหมายว่า การประมูลจัดซื้อจัดจ้างทุกรายการ หรือตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ต้องทำรายงานชี้แจงถึง รมว.คมนาคมทราบก่อนอย่างน้อย 7 วัน ตามคำสั่งฉบับนี้ หน่วยงานจึงจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ ซึ่งมองว่าอาจกระทบต่องานเร่งด่วน ฉุกเฉิน ที่หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจดำเนินการได้ทันที จะมีขั้นตอนเพิ่มและล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ และมองว่าอาจจะเข้าข่ายเป็นการแทรกแซงการทำงานตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 หรือไม่

กระทรวงคมนาคมมีงบลงทุนในปี 2566 วงเงินทั้งสิ้น 311,483.56 ล้านบาท โดยกรมทางหลวง (ทล.) มีงบลงทุนสูงสุด 121,154.41 ล้านบาท รองลงมาคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 52,549.92 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 45,583.25 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น