กรมเจ้าท่า บูรณาการร่วมทุกหน่วยช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวจีน หลังขาดการติดต่อบริเวณเกาะราชาน้อย ภูเก็ต กลับเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย เตือนคลื่นแรงเรือเล็กงดออกจากฝั่ง เผยระบบสื่อสารทางทะเลไทยมีศักยภาพพร้อมรับการตรวจ IMO
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เวลา 21.00 น. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ได้รับแจ้งเหตุกรณีเรือขาดการติดต่อผ่านทาง line กลุ่มข่าวสารทางน้ำเจ้าท่าภูเก็ต จากการสอบถามญาติของผู้ที่ออกเรือ ทราบว่า กลุ่มคนสัญชาติจีนจำนวน 4 ราย นำเรือชื่อ SAO (เรือตกปลาขนาดเล็ก) ออกเรือจากท่าเรือ Boat Ramp คลองท่าจีน ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. นำเรือดังกล่าวออกไปตกปลาที่เกาะรายาน้อย ตำแหน่งพิกัดสุดท้าย ของเรือพบแสดงพิกัดบริเวณหลังเกาะเขียว ระหว่างเกาะไม้ท่อนห่างเกาะพีพีเลย์ ไปทางเกาะราชาน้อยด้านตะวันตก ซึ่งโดยปกติแล้วเรือจะกลับเข้าฝั่งในช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. แต่ยังไม่นำเรือเข้าเทียบท่า ประกอบกับขาดการติดต่อผู้ที่ออกเรือ
กระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้กรมเจ้าท่า เร่งให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวดังกล่าวในทันที และติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ เพื่อพิจารณาใช้มาตรการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางน้ำ
นายภูริพัฒน์ ธีกูลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ด้านปลอดภัย เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต และศูนย์ควบคุมจราจรและความปลอดภัยทางทะเลประสานงานกับ Bangkok radio จนสามารถติดต่อเรือ ADRIATIC ENERGY ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณเรือของนักท่องเที่ยวจีน พิกัดเรือระบุบริเวณ ตำบลที่ 07 องศา 14.76 ลิปดาเหนือ 098 องศา 33.346 ลิปดาตะวันออก ในเบื้องต้นจากการติดต่อทางวิทยุ เรือ ADRIATIC ENERGY ทำให้ทราบว่าเรือที่ขาดการติดต่อทั้ง 4 คน ยังปลอดภัย จากการสอบถามทราบว่า เกิดจากเครื่องยนต์ขัดข้อง และบริเวณดังกล่าวไม่มีสัญญาณสื่อสาร จึงไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้
นอกจากนี้ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ศูนย์ตรวจการณ์ชายฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน (เฟส 3 ) (CSCA) และสั่งการให้ตั้งศูนย์ประสานงานการให้การช่วยเหลือ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายอำเภอเมืองภูเก็ต ปภ.ภูเก็ต ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ตำรวจท่องเที่ยวภูเก็ต และตำรวจน้ำภูเก็ต ณ ศูนย์ตรวจการณ์ชายฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน (เฟส 3 ) (CSCA) ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ ศูนย์ควบคุมจราจรและความปลอดภัยทางทะเล กรมเจ้าท่า ได้บูรณาการประสานไปยังศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 นำเรือ ต. 233 เข้าการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวจีน ทั้ง 4 คนกลับเข้าฝั่งโดยปลอดภัย ในเวลา 03.27 น.และรับนำขึ้นฝั่งที่ท่าเทียบเรือศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลอันดามันตอนบน แหลมพันวา ในเวลา 07.15 น. โดยมีสภาพร่างกายอิดโรย และสวมเสื้อชูชีพไว้ตลอดเวลา หลังจากนั้นได้นำไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลวิชิระ ซึ่งทุกคนปลอดภัยและกลับบ้านเรียบร้อยแล้ว
จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้นำ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค3 / ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 หัวหน้าส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเลอันดามัน (CSCA) ประชุมหารือบูรณาการจากทุกภาคส่วน เพื่อซักซ้อมแผนความเข้าใจ รับฟังปัญหาอุปสรรค โดยมีผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต รายงานลำดับเหตุการณ์ การช่วยเหลือ การประสานงานและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งจากการหารือดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มีนโยบายจัดตั้งเปิดศูนย์บัญชาการความปลอดภัยทางทะเลจังหวัดภูเก็ต ณ ศูนย์ควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเลอันดามัน (CSCA) อย่างเป็นทางการ และมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือในมาตรการแผนบูรณาการความปลอดภัยทางทะเล ในวันที่ 11 ต.ค.65 เวลา 09.30 น. ณ ศูนย์ CSCA โดยมีรองผู้ว่าฯ ภูเก็ตเป็นประธาน พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของทุกภาคส่วน ในโอกาสที่ได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจนสำเร็จ
ทั้งนี้ ในส่วนของเรือ SAO ที่จอดทิ้งสมอไว้ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ได้ประสานให้เจ้าของเรือกำลังลากเรือเข้าฝั่ง คาดว่าจะถึงฝั่งในช่วงประมาณบ่ายวันนี้ 5 ตุลาคม 2565 เพื่อตรวจสอบเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ประกาศนียบัตร สอบสวนสาเหตุข้อเท็จจริงและการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายภูริพัฒน์กล่าวว่า การช่วยเหลือครั้งนี้ประสบความสำเร็จไม่มีผู้เสียชีวิต นอกจากเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เนื่องจากมีการพัฒนาระบบการสื่อสาร เพื่อเตรียมพร้อมรับการตรวจขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ IMO (International Maritime Organization) ในเดือนก.พ. 2566 ทำให้มั่นใจในศักยภาพของระบบ
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยายังคงแจ้งเตือนภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ซึ่งช่วงเวลานี้ เรือขนาดดังกล่าวควรงดออกจากฝั่ง ตามคำเตือนซึ่งกรมเจ้าท่ามีประกาศตามขนาดความสูงของคลื่น อัตรา 1:3 เช่น คลื่นสูง 1 เมตร ห้ามเรือขนาดต่ำกว่า 3 เมตรออกจากฝั่ง คลื่นสูง 2 เมตร ห้ามเรือขนาดต่ำกว่า 6 เมตรออกจากฝั่ง จึงขอความร่วมมือประชนและนักท่องเที่ยวติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และปฎิบัติตามประกาศโดยเคร่งครัด กรณีฝ่าฝืนมีบทลงโทษมาตร297 จำคุกไม่เกิน6 เดือน