xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ กนอ.ร่วม “ชัชชาติ” ลงพื้นที่นิคมฯ บางชันตรวจสถานการณ์น้ำ ยันไม่ท่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วีริศ” ผู้ว่าฯ กนอ.ต้อนรับ “ชัชชาติ” ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางชันตรวจสถานการณ์น้ำ ยันน้ำไม่ท่วมนิคมฯ พร้อมหารือแนวทางจัดการ PM 2.5 ไม่ให้กระทบชุมชน!

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมบางชัน และพื้นที่โดยรอบ และประชุมร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงความพร้อมรับมือและมาตรการป้องกันน้ำท่วม ว่า กนอ.ให้ความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการและผู้พัฒนานิคมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่อยู่โดยรอบนิคมฯ วางใจและไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วม เนื่องจาก กนอ.ได้มีการเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำ ดังนี้

1. การซ้อมแผนป้องกันอุทกภัย 2. พร่องน้ำภายในพื้นที่ (ระดับพื้นถนนเฉลี่ย 1 เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อเพิ่มพื้นที่การรับน้ำ 3. การขุดลอกรางระบายน้ำ คูคลองรอบพื้นที่ ตามแผนงานขุดลอกประจำปี 4. ติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาถึงสภาพอากาศ โดยบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด (GUSCO) ได้พร่องน้ำในพื้นที่เพื่อเตรียมรับฝน และได้มีการประสานงานกับทางสำนักการระบายน้ำ กทม.เพื่อระบายน้ำ 5. ประสานงานกับสำนักงานเขต สำนักป้องกันฯ กทม. เพื่อขอรับการสนับสนุน 6. มีระบบแจ้งเหตุทาง อีเมล Line SMS ถึงผู้ประกอบการกรณีที่มีน้้าท่วมขังในพื้นที่ ทั้งนี้ การรับน้ำของนิคมอุตสาหกรรมบางชันสามารถระบายน้ำได้ 16,800 ลูกบาศก์เมตร/ชม. รองรับน้ำฝนของพื้นที่ได้ 65 มิลลิเมตร/ชม. ปริมาตรรางรับน้ำ 58,700 ลูกบาศก์เมตร และมีแนวเขื่อนของ กนอ.ยาว 5.7 กม.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า การหารือร่วมกันระหว่าง กทม.กับ กนอ.ในครั้งนี้เพื่อตรวจดูความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมบางชันเนื่องจากมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ซึ่งได้รับทราบว่า กนอ.มีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ กทม. 3 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางชัน และนิคมอุตสาหกรรมอัญญธาณี ซึ่งทุกนิคมฯเป็นแหล่งจ้างงาน เศรษฐกิจ เป็นจุดที่มีทั้งนักลงทุนไทย และต่างชาติ การสร้างความมั่นใจให้แก่แนักลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องน้ำท่วมไม่มีปัญหา

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมบางชันแห่งแรก มีคลองแสนแสบในพื้นที่คลองหลอแหล เรื่องของการทำเขื่อนกั้นคลองแสนแสบ คลองบางชัน ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ปิดล้อม ซึ่งหากมีฝนตกประมาณ 60 มิลลิเมตรจะไม่มีการท่วมขัง โดยพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางชันสามารถรับน้ำได้มากกว่าประมาณ 170 มิลลิเมตร มีเพียงจุดอ่อนเดียวคือที่ วัดบำเพ็ญเหนือ ที่ไม่มีเขื่อน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 น้ำไม่ท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางชัน

นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือเรื่องการจัดการฝุ่น PM 2.5 ซึ่งที่ผ่านมา กนอ.ได้กำหนดค่ามาตรฐานของการระบายมลพิษทางอากาศในรูปแบบอัตราการระบายสารมลพิษจากแหล่งกำเนิด (Emission Loading) เพิ่มความเข้มงวดการกำกับดูแลผู้ประกอบการในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์และช่วงสถานการณ์วิกฤต โดยออกมาตรการป้องกัน ลด และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน ตามวิธีการตรวจวัดที่เป็นไปตามหลักวิชาการในบริเวณนิคม
อุตสาหกรรมที่ กนอ.กำกับดูแล โดยในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งในพื้นที่ กทม. มี CEMs 4 ปล่องภายในนิคมอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางชันมีการก่อสร้างน้อย การขนส่งก็ไม่น่าเกิดปัญหาในเรื่องของฝุ่นละอองมาก และกับชุมชนรอบข้างมีสัมพันธ์ที่ดีอย่างไรก็ตาม ตามที่ กทม.มีแผนสร้างบึงกระเทียม พื้นที่เขตบางชัน เป็นสวนสาธารณะ กนอ.ก็พร้อมให้ความร่วมมือในการกำเนินการอย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น