xs
xsm
sm
md
lg

พระราชทานชื่อ รถไฟสีแดง-สถานีกลางบางซื่อ "นครวิถี-ธานีรัถยา" และ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระราชทานชื่อรถไฟชานเมืองสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) "นครวิถี" สีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) “ธานีรัถยา” หมายถึง เส้นทางของเมือง สถานีกลางบางซื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร เผย 8 ก.ย. 65 ผู้โดยสารทำนิวไฮ 2.2 หมื่นคน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสถานีกลางบางซื่อ โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือที่ นร 0508/ท 4784 ลว. 2 กันยายน 2565 แจ้งกระทรวงคมนาคมทราบว่า สลค.ได้ขอให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปแล้ว และได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อ ดังนี้

1. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า "นครวิถี" อ่านว่า “นะ-คอน-วิ-ถี” (Nakhon Withi) หมายถึง เส้นทางของเมือง
2. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 “ธานีรัถยา” อ่านว่า “ทา-นี-รัด-ถะ-ยา” (Thani Ratthaya) หมายถึง เส้นทางของเมือง
3. พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” อ่านว่า “สะ-ถา-นี-กลาง-กรุง-เทบ-อะ-พิ-วัด” (Krung Thep Aphiwat Central Terminal) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร


สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 15 นาที โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะทาง 26 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 25 นาที

โดยรถไฟชานเมืองสายสีแดงได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Soft Opening) ในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 และให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันแรก โดยเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารอัตรา 12-42 บาท เปิดให้บริการตั้งแต่ 05.30-24.00 น.นั้น โดยสายบางซื่อ-รังสิตมีความถี่ในช่วงเวลาเร่งด่วน 12 นาที นอกช่วงเวลาเร่งด่วน 20 นาที วิ่งให้บริการวันละ 138 เที่ยว ส่วนสายบางซื่อ-ตลิ่งชัน สายตะวันตก มีความถี่ช่วงเวลาเร่งด่วน 20 นาที นอกช่วงเวลาเร่งด่วน 30 นาที วิ่งให้บริการวันละ 92 เที่ยว


ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 รถไฟสายสีแดงมีจำนวนผู้โดยสารทำสถิติสูงสุด (นิวไฮ) ที่ 22,885 คน-เที่ยว

สำหรับ สถานีกลางบางซื่อ ได้เปิดพื้นที่บางส่วนภายในสถานีเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่บุคลากรด่านหน้าด้านขนส่งสาธารณะ ทั้งคนขับรถเมล์, แท็กซี่, รถตู้ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยมีสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลัก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 และต่อมาได้เปิดบริการศูนย์ฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกกลุ่ม และกำหนดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 วันสุดท้ายในวันที่ 30 กันยายน 2565






กำลังโหลดความคิดเห็น