“CEA” เปิดแผนพัฒนา 33 พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สะท้อนพื้นที่ประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ เป็นโมเดล สร้างกระแสโดดเด่น อย่าง “นครศรีธรรมราช” ปัดฝุ่นอาคารเก่าทรงคุณค่า เปิดจุดเช็กอินใหม่เมืองนคร ขณะที่เมือง “โคราช” เน้นจัดเก็บลายทอผ้าโบราณในรูปแบบดิจิทัล คนรุ่นใหม่เข้าถึงง่าย มุ่งต่อยอดสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ ขณะที่ “สกลนคร” ต่อยอดจากทุนวัฒนธรรมสู่ความเป็นเมืองคราฟต์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก พลิกฟื้นชุมชนสู่ความยั่งยืน
นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ในฐานะองค์กรเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ เปิดเผยว่า แผนการขับเคลื่อนพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ได้เดินหน้าตามแผนงานผ่านกลไกเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย หรือ TCDN ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการคัดเลือก ตามเงื่อนไขการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ เน้นเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ชุมชนมีความพร้อมและเข้มแข็ง โดยอาศัยทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และมีความน่าสนใจเพื่อสร้างเป็นจุดขาย พร้อมขยายเครือข่าย และนำความคิดพัฒนาร่วมกันออกแบบเป็น “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ในรูปแบบของแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการประเมินศักยภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในระดับย่าน สู่ระดับเมือง จนยกระดับเป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลกต่อไป
“เราใช้กลไก TCDN เป็นผู้ขับเคลื่อนช่วงเริ่มต้น หลังจากนั้นพื้นที่จะสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ และสามารถขยายเครือข่ายผ่านกลไกต่างๆ ในจังหวัด และเชื่อมโยงจังหวัดใกล้เคียง โดยมี CEA เป็นพี่เลี้ยง ร่วมกับนักออกแบบในสาขาต่างๆ ด้วยไอเดียสร้างสรรค์เพื่อต่อยอดการพัฒนาต่อไป ซึ่งขณะนี้เรามี 33 ย่านที่กำลังพัฒนา และในบางพื้นที่ได้มีการวัดผล เบื้องต้นประสบความสำเร็จ สามารถเป็นโมเดลตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ หลังจากนี้เรายังมีเป้าหมายที่สูงขึ้นไปอีก คือจะผลักดันย่านที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้แล้วในประเทศให้ได้รับการยอมรับระดับโลก” นายชาคริตกล่าว
น.ส.มนฑิณี ยงวิกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ถึง 33 แห่ง หลายแห่งได้มีการวัดผลพบว่ามีกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในปี 2564 ที่ผ่านมา และจะมีการจัดกิจกรรมและเทศกาลอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี จนเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ เช่น เทศกาลงานสร้างสรรค์ ‘สกลจังซั่น หรือ Sakon Junction’ จ.สกลนคร เทศกาลงานสร้างสรรค์ ‘ครีเอทีฟนคร หรือ Creative Nakhon’ จ.นครศรีธรรมราช กิจกรรม ‘Korat Crafting Lab มองผ่านเส้น เล่นผ่านไหม’ จ.นครราชสีมา เทศกาล ‘เลย อาร์ต เฟสต์ หรือ Loei Art Fest’ จ.เลย เป็นต้น
“งานเทศกาลงานสร้างสรรค์ ‘ครีเอทีฟนคร หรือ Creative Nakhon’ เป็นกิจกรรมที่จัดภายในจังหวัดอยู่แล้ว โดย CEA นำย่านการค้าเก่าแก่ของเมือง อย่างย่านท่าวังและท่ามอญที่มีอาคารเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน มาออกแบบเชิงสร้างสรรค์เพื่อพลิกฟื้นเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะพื้นบ้านร่วมสมัย เปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้นักสร้างสรรค์ได้สื่อสารอัตลักษณ์ของท้องถิ่นสู่ผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ ภายใต้แนวคิดหลักของเทศกาล คือ RE-SET “คิดใหม่ ในย่านเก่า ครั้งล่าสุดได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี” น.ส.มณฑิณีกล่าง
ส่วนพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง คือ เทศกาลงานสร้างสรรค์ ‘สกลจังซั่น หรือ Sakon Junction’ จ.สกลนคร ซึ่งถือว่าเป็นการจัดกิจกรรมครั้งแรกในย่านเมืองเก่าสกลนคร นำเสนอความคิดสร้างสรรค์และกระตุ้นย่านด้วยสินทรัพย์ท้องถิ่น ผ่าน 7 กิจกรรมหลักที่สร้างบรรยากาศที่ดีให้เศรษฐกิจในชุมชน
ชณะที่เทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์ ‘Phayao Arts & Creative Festival’ ครั้งแรกของ จ.พะเยา กิจกรรมต้นแบบทดลองความเป็นไปได้ในการพัฒนาย่าน ซึ่งประกอบด้วย นิทรรศการศิลปะและงานออกแบบ กิจกรรมทอล์กและเวิร์กชอปที่น่าสนใจต่างๆ กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจและบรรยากาศสร้างสรรค์ให้ชาวพะเยา พร้อมเปิดตัวพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ประจำย่าน “AR(T)CADE”
เทศกาล ‘เลย อาร์ต เฟสต์ หรือ Loei Art Fest’ การต่อยอดวัฒนธรรมความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ในรูปแบบศิลปะการแสดง งานศิลปะจัดวาง เวิร์กชอปศิลปะการทำอาหารแบบเชฟเทเบิล และอีกมากมายที่ไม่เพียงสะท้อนจิตวิญญาณแห่งเมืองเลย แต่ยังท้าทายการตีความขนบและความหมายของศิลปะดั้งเดิมในพื้นที่สู่ความหมายใหม่ พร้อมต่อยอดเอกลักษณ์ของพื้นที่ ‘ประเพณีผีตาโขน’ ในรูปแบบร่วมสมัย