การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยนางสาวศิรินุช สุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออก ททท. ได้ปล่อยขบวน BCG มินิคาราวาน “สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิ” ขับรถ EV เที่ยวภาคตะวันออก ใส่ใจไร้คาร์บอน กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-ระยอง ในช่วงวันที่ 22-24 กันยายนที่ผ่านมา
สำหรับเส้นทางจากสำนักงานใหญ่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปยังจุดหมายปลายทางที่จังหวัดระยอง โดยมีนายวัชรพล สารสอน ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานระยอง รอรับคณะ ณ จังหวัดระยอง ในทริปมีนางสาววสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หรือ TEATA นายฤกษ์ เชาวนกวี อุปนายกสมาคมฯ รวมถึงสมาชิกจากสมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน (สอทอ.) และนายกสมาคมท่องเที่ยวในหลายจังหวัดภาคอีสานเข้าร่วม
กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นมินิคาราวาน ด้วยรถพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle-EV) พร้อมกับการเดินทางท่องเที่ยวแบบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การออกแบบประสบการณ์สร้างสรรค์กิจกรรมตลอดการเดินทางให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Low Carbon) การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางด้วยรถพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) ออกแบบและเลือกเมนูอาหาร และควบคุมปริมาณการสร้างขยะ การเดินทางมีการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ ปริมาณ kgCO2eq หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรม และได้มีการซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชย (Carbon Offsetting) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด จนเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ในทริปมีเส้นทางจุดหมายแรกศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบกบางปู ฟังข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ฯ กิจกรรมสนุกได้ความรู้เรื่องป่าชายเลนและระบบนิเวศ เดินสัมผัสประสบการณ์เส้นทางศึกษาธรรมชาติ (Bioeconomy - Ecotourism) ปลูกต้นลำพู เพื่อ “สร้างคืน” สมดุลให้ระบบนิเวศ
แล้วเดินทางสู่ระยอง รับประทานอาหารค่ำที่ร้านแหลมเจริญซีฟู้ด สาขาต้นตำรับ เมนูพระเอกชูโรงประจำร้าน นั่นคือ ปลากะพงทอดราดน้ำปลา และอาหารซีฟูดต่างๆ ที่สดใหม่ อร่อยเลื่องชื่อ วันต่อมาไปศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ ร่วมกิจกรรมปล่อยปู เพื่อ “สร้างคืน” สมดุลให้ธรรมชาติ เดินชมธรรมชาติตามเส้นทางป่าชายเลนระยะทางประมาณ 400 เมตร ระหว่างทางมีต้นไม้นานาพรรณ เช่น โกงกาง โปรง แสม เป็นต้น และมีสัตว์น้ำหลายชนิดอย่างปูทะเล และปูแสม เป็นต้น (Bioeconomy - Ecotourism) ชมธนาคารปู
ที่นี่เป็นอีกหนึ่งเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และสวยงาม เดินเล่นบนทางเดินชมธรรมชาติและสะพานรูปทรงงาช้าง ซึ่งพระเจดีย์กลางน้ำเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดระยอง ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำระยอง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2416 สมัยพระยาศรีสมุทรโภคชัยโชคชิดสงคราม (เกตุ ยมจินดา) เป็นเจ้าเมืองระยอง
จากนั้นเดินทางสู่อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดลุ่ม (พระอารามหลวง) ชมประวัติความเป็นมาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งทรงตั้งกองทัพที่ จ.ระยอง และทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาประวัติศาสตร์ โดยมีนิทรรศการทั้งหมด 6 โซน ดังนี้ โซนที่ 1 โหมโรงเจ้าตากสิน โซนที่ 2 อวสานสิ้นอโยธยา โซนที่ 3 มุ่งบูรพาสรรหาไพร่พล โซนที่ 4 ประกาศตนองค์ราชัน โซนที่ 5 สร้างเขตขันธ์กรุงธนบุรี และโซนที่ 6 ถิ่นคนดีเมืองระยอง โดยเปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ วันละ 4 รอบ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. และหยุดทุกวันจันทร์ โดยชมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ชิมอาหารกลางวัน ก๋วยเตี๋ยวเรือชาวนา ณ ระยอง ท่ามกลางบรรยากาศท้องทุ่ง ชิมอาหารเมนูพื้นถิ่น ที่รังสรรค์โดยสมาคม TEATA ก่อนแวะวิสาหกิจชุมชนเกาะกก สัมผัสประสบการณ์กิจกรรมชุมชน (CBT - Community Based Tourism) ชมการสาธิตการนำข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ไอศกรีม คุกกี้ข้าว เป็นต้น (Bioeconomy - Gastronomy Tourism) ที่นี่เป็นพื้นที่สีเขียวแห่งภูมิปัญญา แหล่งเรียนรู้วิถีชุมชนและเกษตรกรรมในจังหวัดที่เต็มไปด้วยพื้นที่อุตสาหกรรม
แวะเยี่ยมชมกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน ซึ่งเป็นตลาดอาหารทะเลสด ราคาไม่แพง พูดคุยกับชาวเลถึงวิถีการทำประมง แล้วไปท่องเที่ยวต่อที่ทางเดินธรรมชาติป่าชายเลน แหล่งเรียนรู้ด้านระบบนิเวศของหาดแสงจันทร์-สุชาดา ที่ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง ที่นี่ยังมีโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำของ SCG อีกด้วย
ปิดท้ายวันกับร้านอาหารสุดเก๋ Wooden Spoon ที่แปลงโฉมบ้านให้เป็นร้านอาหารในบรรยากาศชิกๆ ริมแม่น้ำระยอง โดยมีเชฟต่อ ที่มีประสบการณ์การเป็นเชฟหลายปีในโรงแรมที่ออสเตรเลีย เป็นร้านที่ให้บริการอาหารยุโรปสไตล์ผสมผสานหลากหลายเมนู
วันสุดท้ายชมสวนพฤกษศาสตร์ระยอง พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ แหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศบนพื้นที่กว่า 3,800 ไร่ ชมพรรณไม้ที่หาดูได้ยากและใกล้สูญพันธุ์กว่า 400 ชนิด (Bioeconomy - Ecotourism) ที่นี่มีบริการนั่งเรือชมแพหญ้าหนังหมา ทุ่งดอกบัว ป่าเสม็ดพันปี
เดินทางสู่กลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา (สวนหอมมีสุข) เป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรที่ปลูกไม้กฤษณาในท้องที่ตำบลกะเฉด อำเภอเมืองระยอง เป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการต่อยอดการแปรรูปไม้กฤษณาเป็นพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 40 ชนิด โดยมีนางพิกุล กิตติพล เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา ซึ่งเคยเข้ารับรางวัล Prime Minister's Export Award ผู้ส่งออกยอดเยี่ยมมาแล้ว
จากนั้นแวะสถานีอัดประจุไฟฟ้า ELEX by EGAT ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา ซึ่งสนับสนุนการใช้รถ EV และการเติบโตของภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ผลักดันประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน แล้วเดินทางกลับกรุงเทพฯ