“ศักดิ์สยาม” โชว์โปรเจกต์ "แลนด์บริดจ์" เวทีคณะทำงานเอเปก เตรียมสรุปแผนธุรกิจเสนอ ครม. เดินหน้าโรดโชว์ปี 66 ชูโมเดลต้นแบบ “สิงคโปร์” พัฒนาท่าเรือทูอัส ตั้งบริษัทโฮลดิ้ง รัฐถือหุ้น 40% ชี้ไทยทำเลได้เปรียบศูนย์กลางอาเซียน
วันที่ 14 ก.ย. 2565 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปก ครั้งที่ 52 (the 52nd APEC Transportation Working Group: TPTWG52) ว่า กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูง ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2565 เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการประชุมในระดับผู้กำหนดนโยบายของแต่ละประเทศต่อไป ภายใต้เป้าหมายหลักคือ การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน (Seamless, Smart and Sustainable Transportation) เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจเอเปกและระดับโลก
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปกเข้าร่วมประชุมทั้งรูปแบบ Online และ Onsite โดยเดินทางมาร่วมประชุมจำนวน 14 เขตเศรษฐกิจ ที่เหลือประชุมรูปแบบ Online ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญในการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา คือ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางอากาศ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและระบบขนส่งอัจฉริยะ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางบก และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางน้ำ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในมิติบก น้ำ ราง และอากาศ เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและโอกาสในการเติบโตและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด BCG Economy และการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาค
ที่ประชุมได้มีการหารือและรับรองแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของเอเปก ปี 2565-2568 (TPTWG Strategic Action Plan 2022-2025) ซึ่งจะเป็นกรอบการทำงานและแนวทางในการพัฒนาแผนงานประจำปีและกิจกรรมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญใน 4 สาขา รวมถึงโครงการต่างๆ ในกรอบเอเปกด้านการขนส่ง เพื่อบรรลุตามวิสัยทัศน์ปุตราจายาภายใต้กรอบเอเปก ปี ค.ศ. 2040 ที่มุ่งสร้างเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสันติสุข เพื่อความรุ่งเรืองของประชาชนและคนรุ่นหลัง
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหลายโครงการได้แปรไปสู่การปฏิบัติและเห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ในเฟสที่ 1 คือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 โครงการเมืองการบิน อู่ตะเภา โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอแผน โครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) ซึ่งจะเป็นประตูเชื่อมโลกกับอีอีซี โดยขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบ โมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) เพื่อให้สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปกร่วมแสดงความเห็นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนสายการเดินเรือรายใหญ่ ซึ่งการลงทุนจะต้องเป็นความร่วมมือกัน ไทยไม่สามารถลงทุนเพียงลำพัง ต้องให้สายเรือฯ ที่เป็นผู้ใช้บริการร่วมลงทุนภายใต้หลักการ 2 ท่าเรือ "ระนอง, ชุมพร" ถือเป็นท่าเรือเดียวกันบริหารจัดการเป็นหนึ่งเดียว รวมไปถึงระบบเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือด้วย
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสรุปการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2565 เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบผลการศึกษา หลังจากนั้นจะดำเนินการโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศเพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาผลักดันต่อไป ตามแผนจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในปี 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 ซึ่งแนวทางการพัฒนา ซึ่งมีต้นแบบการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จคือ ท่าเรือทูอัส (Tuas Port) ประเทศสิงคโปร์ ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เป็นท่าเรือน้ำลึก รองรับ 18 ล้านทีอียู และวางแผนพัฒนาขยายขีดการรองรับ 65 ล้านทีอียูภายใน 20 ปี โดยคาดว่าจะลงทุนทั้งสิ้น 2.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (ราว 7 หมื่นล้านบาท) แต่เป็นการลงทุนท่าเรืออย่างเดียว โดยเป็นท่าเรืออัตโนมัติ (Port Automation) ในการบริหารจัดการเป็นหลัก เนื่องจากค่าแรงแพงกว่าไทย และประเมินว่าจะคุ้มทุนใน 7 ปี โดยผู้ลงทุนเป็นบริษัทโฮลดิ้ง โดยรัฐบาลสิงคโปร์ถือหุ้น 40% เอกชน 60% (สถาบันการบิน ผู้ประกอบการสายเรือ) ในขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์ของไทยมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ สามารถทำให้เกิดการเชื่อมต่อโลจิสติกส์ทางน้ำในอนาคต ที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ราคาเป็นธรรม นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญการพัฒนากับปัญหา Climate Change อย่างยั่งยืน ไปด้วย
“สิ่งที่ได้เน้นย้ำให้ สนข.และบริษัทที่ปรึกษาศึกษา คือ รูปแบบการพัฒนาและสิ่งที่ประชาชน ประเทศไทยจะได้รับจากการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาเชิงพาณิชย์พื้นที่หลังท่า ที่จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มมูลค่า และสร้างจีดีพีของประเทศ ซึ่งสิงคโปร์เป็นตัวอย่างแล้วว่าทำได้ ประเทศขนาดเล็กพื้นที่ 6 แสน ตร.กม. สามารถเพิ่มพื้นที่เป็น 7 แสน ตร.กม.ได้จากการถมทะเล และสร้างมูลค่าจากพื้นที่กลับคืนให้ประชาชนได้ ดังนั้นประเทศไทยน่าจะทำได้ โดยข้อมูลจากการศึกษาต้องแสดงให้เห็นความเป็นไปได้และข้อเท็จจริง ที่สำคัญได้เน้นย้ำในการสร้างการรับรู้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นโครงการที่จะเกิดประโยชน์ต่อทั้งประเทศไทย อาเซียนและต่อเศรษฐกิจของโลก”
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อนำเสนอโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงในเขตเศรษฐกิจเอเปกด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อการเดินทางทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศได้อย่างสะดวก ไทยจึงมีความพร้อมและศักยภาพที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างเขตเศรษฐกิจในการเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาค ผ่านการเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงสายเอเชียที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่เพื่อนบ้านบนพื้นทวีปเอเชียได้อย่างสะดวกผ่านการเชื่อมต่อโครงข่ายทางรถไฟในภูมิภาคผ่านเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน และสามารถเชื่อมต่อไปถึงรัสเซียและยุโรป การเชื่อมต่อทางอากาศผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานนานาชาติของไทยเพื่อรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินจากทั่วโลก ส่งเสริมให้การเดินทางทางอากาศระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปกมีประสิทธิภาพและความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเชื่อมต่อทางน้ำ ซึ่งไทยมีท่าเรือแหลมฉบัง ที่เป็นท่าเรืออันเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระดับภูมิภาค และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการในการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
ในการนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อรับรองผู้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา ซึ่งภายในงานมีการสร้างบรรยากาศการบรรเลงเพลงด้วยเครื่องดนตรีไทย การโชว์งานจักสานที่แสดงศิลปวัฒนธรรมไทยสอดคล้องกับตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทย ปี 2565 รวมถึงการแสดงโขนรามเกียรติ์เพื่อสื่อสารถึงความร่วมมือระหว่างกันของเขตเศรษฐกิจเอเปกที่มีความแข็งแกร่งและแน่นแฟ้น ในโอกาสพิเศษนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวเปิดตัวและนำเสนอวิดีทัศน์โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Southern Landbridge) ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจใหม่ทางทะเลที่เป็น Transshipment การขนส่งสินค้าของภูมิภาค โดยสามารถเชื่อมการขนส่งกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ คู่ขนานแนวเส้นทางร่วมกันตามแผนบูรณาการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจใน APEC อย่างไร้รอยต่อเพื่อการเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล (OPEN. CONNECT. BALANCE.)