ส.อ.ท.หนุนไทยซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพื่อลดผลกระทบจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงกว่ารับมือวิกฤตพลังงานแพง โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ควบคู่กับสำนักงาน กกพ.ควรเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.เห็นว่าค่าไฟฟ้าที่แพงได้ส่งผลกระทบต่อทุกฝ่ายและจะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จึงเห็นว่าแนวทางในการแก้ไขต้นทุนพลังงานที่สูงที่สำคัญ คือ 1. นำเข้าพลังงาน เช่น น้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียเพื่อมาใช้ผลิตไฟฟ้าทดแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร หรือ Spot LNG ที่มีราคาแพง 2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ควรเปิดรับซื้อไฟส่วนเกินที่เหลือจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าจากชีวมวลจากผู้ผลิตไฟรายเล็ก (SPP) และเล็กมาก( VSPP) ในราคาต่ำเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงที่แพงกว่าเพื่อลดผลกระทบค่าไฟแพง
“ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ในรอบ 4 เดือนสามารถบริหารจัดการล่วงหน้าอยู่แล้ว เห็นว่าผู้ผลิตที่เป็นพลังงานหมุนเวียนที่เหลือจากการใช้มีพอสมควรสามารถเปิดบิดดิ้งให้เขาขายได้เอาราคาไม่ต้องสูงต่ำๆ 3 บาทต่อหน่วยก็จะช่วยลดการนำเข้า LNG ที่แพงได้” นายอิศเรศกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบค่าพลังงานและค่าไฟของไทยที่แพงขึ้นมาจากปัจจัยสำคัญคือ การที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยหรือพีดีพีพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ และการขาดแผนสำรองที่ดีในการบริหารจัดการก๊าซในอ่าวไทยที่ทำให้ปริมาณลดลงและนำไปสู่การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยมีมากกว่าความต้องการถึง 52% ซึ่งอัตราเฉลี่ยปกติควรอยู่ที่ไม่เกิน 15% ทำให้เป็นภาระต้นทุนของประเทศ
“สำรองที่สูงดังกล่าวส่วนหนึ่งยอมรับว่ามาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยเฉพาะโควิด-19 แต่ส่วนหนึ่งนั่นเป็นเพราะการวางแผนที่มีการคาดการณ์ความต้องการที่สูงเกินไปด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันยังมีการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่มากเกินความจำเป็น และอีกเหตุผลคือการที่เราขาดกลไกตลาดเสรีของพลังงาน” นายอิศเรศกล่าว