การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งปัญหาภาวะโลกร้อนยังคงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับ IRPC ที่ได้ตั้งเป้าหมายและกำหนดแนวทางเดินหน้าเพื่อพาองค์กรมุ่งสู่ Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศซึ่งมีการประกาศไว้ในปี 2065 พร้อมสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2030
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า หลังมีการประกาศเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเป็น Net Zero ในปี 2065 กลุ่ม ปตท. ร่วมกับ IRPC เองก็ได้หารือนโยบายร่วมกัน ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะมีการประกาศให้เร็วกว่าเป้าหมายประเทศ 5 ปี ซึ่งก็คือในปี 2060
อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรลุเป้าหมายในครั้งนี้ IRPC ได้กำหนดการดำเนินงานผ่านกลยุทธ์ ERA ได้แก่
1. Eco - operation & technology การปรับปรุงกระบวนการผลิตภายในบริษัทฯ ลดการใช้พลังงานผ่านการกำหนดเป้าหมายโดยใช้ดัชนีชี้วัดการใช้พลังงาน และเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดทดแทน พร้อมทั้งกำลังดำเนินการศึกษาการใช้พลังงานทางเลือก โดยการลงทุนในโครงการ Solar Rooftop และโครงการ Solar Farm เพื่อใช้สำหรับกระบวนการผลิตในโรงงานต่อไปในอนาคต
IRPC ประสบความสำเร็จจากการสร้างสวนโซลาร์ลอยน้ำในบ่อน้ำดิบสำรองพื้นที่รวมกว่า 200 ไร่ ซึ่งได้บูรณาการคุณค่าในเชิงการดำเนินธุรกิจที่เสริมความมั่นคงทางด้านพลังงาน และในด้านสิ่งแวดล้อม โดยช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 9,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้บนเกาะเสม็ดทั้งเกาะ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่
นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project : UCF) ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 และเป็นไปตามนโยบายของ IRPC ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นโรงงานสีเขียว (Eco Factory) โดยคาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2024 รวมถึงการแสวงหาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และธุรกิจใหม่ๆ ที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ
2. Reshape portfolio มุ่งแสวงหานวัตกรรมที่ส่งเสริมธุรกิจคาร์บอนต่ำ ธุรกิจพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ
“การที่ไป Material and Energy Solution ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้นั้น เราบอกชัดเจนเลยว่าธุรกิจใหม่ที่จะลงทุนเราจะคำนึงถึงการสร้างรายได้หรือผลกำไรที่เท่าๆ กับของเดิม แต่จะต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงด้วย” นายชวลิตกล่าวเสริม
และ 3. Absorption and offset โดยได้ดำเนินการร่วมกับกลุ่ม ปตท. 2 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการปลูกป่า เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) หรือ CCS Hub Model
ทั้งนี้ CCS เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตได้ในระดับหลายล้านตันต่อปีและนำไปกักเก็บในชั้นธรณีที่มีศักยภาพและเหมาะสมแบบปลอดภัยและถาวร (Permanent Geological Storage) โดยไม่มีการปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้อีก โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายผลสู่ระดับประเทศได้ในอนาคต
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) อธิบายเพิ่มเติมว่า บทบาทของ IRPC ในเรื่อง CCS จะเป็นการทำงานร่วมกันกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ควบคู่ไปกับการศึกษาร่วมกันกับผู้ที่ทำเรื่องนี้เป็นเจ้าแรกๆ ของโลกในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
“ตอนนี้อยู่ในช่วงการศึกษา ถามว่าตอบได้หมดไหม คงไม่ แต่จะไม่ลองเลยก็ไม่ได้ เราจะพยายามทำ ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ต้องใช้เวลาในการศึกษา แต่อย่างไรก็ตาม ERA จะเป็นเรื่องที่มีความชัดเจนที่สุดในปีนี้ของ IRPC ที่หารือร่วมกัน” นายชวลิตกล่าวทิ้งท้าย
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมุ่งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2030 ที่กำลังจะถึงนี้ เพื่อไปสู่ Net Zero Company อย่างแท้จริง ผ่านกลยุทธ์ความยั่งยืน 3C ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การบริหารจัดการตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การสร้างคุณค่าเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน (Creating Shared Value)
นอกจากนั้น IRPC ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ผ่านโครงการ "Decarbonize Thailand Startup Sandbox" เพื่อสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพ ขับเคลื่อนการแสวงหาธุรกิจใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (New S-Curve) เกี่ยวกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจพร้อมมุ่งไปสู่ Net Zero Emission