xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.กางแผนปลายปีรับรถจักร 'อุลตร้าแมน' อีก 15 คัน เปิดประเทศดัน "ผู้โดยสาร-รายได้" ฟื้นตัว 70%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.กางแผนรับมอบหัวรถจักร "อุลตร้าแมน" ปลายปีนี้ 15 คัน และต้นปี 66 อีก 15 คัน เติมฝูงม้าเหล็กเป็น 262 คัน ส่วนล็อตแรก 20 คันพร้อมวิ่งบริการ ต.ค.นี้เพิ่มศักยภาพขนส่ง เผยเปิดประเทศดันผู้โดยสารและรายได้ฟื้น 70% โอดน้ำมันแพง ปรับเดินรถ ช่วยลดต้นทุน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการทดสอบรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) รุ่นใหม่ "อุลตร้าแมน" น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ ระยะที่ 1 จำนวน 20 คัน ที่รฟท.ได้รับมอบจากจีน เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการตรวจรับ นำเสนอตนเพื่อขออนุมัติใช้งาน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการทั้งการขนส่งสินค้า และเดินขบวนรถเชิงพาณิชย์ทั่วประเทศได้ในเดือน ต.ค. 2565 นี้ โดยที่ผ่านมาฝ่ายช่างกลได้จัดทำคู่มือการขับเคลื่อนรถจักร พร้อมฝึกอบรมพนักงานขับรถไปกว่า 50% แล้ว

สำหรับหัวรถจักรอีก 30 คันที่เหลือได้รับการประสานจากผู้ผลิตประเทศจีนว่าพร้อมจะส่งมอบ โดยแบ่งเป็น 2 ล็อต คือ ปลายปี 2565 จำนวน 15 คัน และต้นปี 2566 จำนวน 15 คัน ซึ่งตามสัญญาจะต้องจัดส่งให้ครบภายใน 915 วัน นับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญาฯ หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งหลังรับมอบ รฟท.จะดำเนินการทดสอบสมรรถนะและตรวจรับเช่นเดียวกับชุดแรก 20 คันต่อไป

@เตรียมนำวิ่งทดสอบช่วงผาเสด็จและช่องเขานครศรีธรรมราช เพื่อความมั่นใจ

ทั้งนี้ หัวรถจักร "อุลตร้าแมน" มีความสูงที่ 4 เมตร ซึ่งใหญ่กว่ารถจักรของ รฟท.ในปัจจุบันที่มีความสูงประมาณ 3.8-3.9 เมตร  ดังนั้นในระหว่างนี้จะมีการทดสอบการวิ่งตรวจเปิดเส้นทางทั่วประเทศว่า หัวรถจักร "อุลตร้าแมน" จะสามารถวิ่งผ่านได้ทุกเส้นทางอย่างปลอดภัยหรือไม่ เนื่องจากบางเส้นทางมีข้อจำกัด เช่น แคบ หรือต้องวิ่งผ่านช่องเขา 

เช่น สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงผาเสด็จจะมีชะง่อนหินยื่นออกมา เบื้องต้นสามารถวิ่งเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เนื่องจากไม่ผ่านช่วงผาเสด็จ ส่วนสายใต้ ต้องทดสอบข้อจำกัดบริเวณอุโมงค์ช่องเขาที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเบื้องต้นสามารถวิ่งไปทางเส้นทางกรุงเทพฯ-ตรังได้ ส่วนสายเหนือสามารถวิ่งได้ตลอดเส้นทางเพราะไม่พบข้อจำกัดใดๆ รวมถึงการ วิ่งเข้าสถานีกลางบางซื่อ สามารถดำเนินการได้ เพราะเครื่องยนต์รถจักรผลิตจากประเทศเยอรมนี ซึ่งมีค่ามาตรฐานในการปล่อยควันไอเสียต่ำตามมาตรฐานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน รฟท.มีหัวจักรจำนวน 212 คัน โดยมีส่วนหนึ่งหมุนเวียนเข้าซ่อมบำรุงตามวงรอบ และบูรณะจากการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้จะมีหัวจักรที่พร้อมใช้งานได้ประมาณ 70-80% ซึ่งหากหัวรถจักร "อุลตร้าแมน” ส่งมอบครบ 50 คัน จะมีหัวจักรทั้งสิ้น 262 คัน ส่วนรถโดยสารมีประมาณ 700-800 คัน รถดีเซลรางมีประมาณ 200 กว่าคัน ซึ่งใช้งานได้ราว 80-85%

“คาดว่าจะสามารถนำออกวิ่งให้บริการได้ครบทั้ง 50 คันภายในปี 2566 ช่วยเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสร้างโอกาสในการหารายได้ของการรถไฟฯ มากขึ้น”

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
@เปิดประเทศ ดันผู้โดยสารและรายได้ฟื้น 70%

หลังจากเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ จำนวนผู้โดยสารปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลับมาประมาณ 70% ของจำนวนผู้โดยสารที่เคยมีก่อนเกิดโควิด ล่าสุด ก.ค.-ส.ค. 2565 บริการเชิงพาณิชย์มีผู้โดยสารเฉลี่ย 22,000 คน/วัน มีรายได้ประมาณ 6-7 ล้านบาท/วัน เทียบกับก่อนเกิดโควิด เดือน ก.ค. 2562 มีผู้โดยสารเฉลี่ย 31,000 คน/วัน โดยมีรายได้ประมาณ 10 ล้านบาท/วัน

ส่วนบริการเชิงสังคม ปี 2565 ล่าสุดมีผู้โดยสารเฉลี่ย 45,000 คน/วัน เทียบกับก่อนเกิดโควิดปี  2562 มีผู้โดยสารเฉลี่ย 60,000-70,000 คน/วัน

ขณะที่ปัจจุบัน รฟท.ยังกลับมาเปิดเดินรถไม่ครบทุกขบวนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด โดยขบวนเชิงพาณิชย์เดินรถ 84 ขบวน/วัน (ประมาณ 65%) โดยยังงดอยู่ 18 ขบวน รถเชิงสังคม เดินรถจำนวน 144 ขบวน/วัน (ประมาณ 85%) โดยยังงดอยู่ 8 ขบวน

สำหรับการบริหารจัดการเดินรถนั้นจะเป็นไปตามความต้องการของผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันถือว่ายังไม่กลับสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรปเข้ามาแล้ว แต่ยังขาดนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียตลาดใหญ่ที่ยังไม่กลับมา ประกอบกับต้นทุน เช่น ราคาน้ำมัน ดังนั้น ในช่วงนี้จึงมีการจัดขบวนรถให้มีบริการรองรับผู้โดยสารได้หลายกลุ่มในขบวนเดียวกัน เช่นรถด่วนพิเศษ รถเร็ว จะพ่วงรถชั้นดี และรถชั้น 3 เพิ่มไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น