คมนาคมเปิดงบปี 66 กว่า 2.28 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุน 2.01 แสนล้านบาท กรมทางหลวงได้มากสุด 1.13 แสนล้านตามด้วย ทช. 4.5 หมื่นล้าน และ ทย. 4.7 พันล้าน “ศักดิ์สยาม” สั่งลุยประมูลเร่งเซ็นงานปีเดียวกว่า 8 หมื่นล้านใน ธ.ค. 65
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี 2566 จำนวน 228,930.28 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 27,419.32 ล้านบาท( 11.98%) รายจ่ายลงทุน จำนวน 201,510.96 ล้านบาท (88.02%) โดยมี 8 ส่วนราชการ และ 5 รัฐวิสาหกิจ จาก 12 รัฐวิสาหกิจ ที่มีการใช้งบแผ่นดิน ประกอบด้วย รฟท. รฟม. กทพ. ขสมก. และ สบพ. ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 208,455.23 ล้านบาท
โดยงบประมาณแผ่นดินปี 2566 จำนวน 228,930.28 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 1. งบรายการปีเดียว จำนวน 80,360.11 ล้านบาท (39.88%) 2. งบผูกพันเดิม จำนวน 58,013.85 ล้านบาท (28.79%) 3. งบผูกพันใหม่ จำนวน 12,981.22 ล้านบาท (6.40%) 4. ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 24,305.38 ล้านบาท (12.06%) 5. งานดำเนินการเอง จำนวน 14,175.84 ล้านบาท (7.03%)
6. อื่นๆ จำนวน 11,764.57 ล้านบาท (5.84%) ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง วงเงิน 3,739.95 ล้านบาท (รฟท.), ชำระคืนเงินต้น รฟท. วงเงิน 4,351.72 ล้านบาท รฟม.วงเงิน 2,667.92 ล้านบาท, รายการที่เบิกจ่ายในลักษณะประจำ (ค่าใช้จ่ายประเมินผลโครงการก่อสร้างทางหลวง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกรณีส่วนรวมของประชาชน เป็นต้น) วงเงิน 1,004.98 ล้านบาท
โดยส่วนราชการ 8 หน่วยได้รับงบลงทุนรวม 168,746.94 ล้านบาท กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับมากที่สุด จำนวน 113,464.41 ล้านบาท รองลงมาคือกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับจำนวน 45,583.25 ล้านบาท และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รับจำนวน 4,761.01 ล้านบาท
ด้านรายจ่ายประจำ ส่วนราชการ 8 หน่วย ได้รับจำนวน 11,565.98 ล้านบาท โดยกรมทางหลวงได้รับมากที่สุด จำนวน 5,352.22 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รับจำนวน 2,638.50 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบทได้รับจำนวน 1,525.66 ล้านบาท
สำหรับ 5 รัฐวิสาหกิจ ได้รับงบลงทุนรวม 32,764.02 ล้านบาท โดย รฟม.ได้รับมากที่สุด จำนวน 17,042.87 ล้านบาท รองลงมาคือ รฟท. จำนวน 15,535.84 ล้านบาท ด้านรายจ่ายประจำ 5 รัฐวิสาหกิจ ได้รับจัดสรรจำนวน 15,853.35 ล้านบาท โดยรฟท.ได้รับมากสุด 7,191.54 ล้านบาท รองลงมาคือ รฟม. จำนวน 4,481.92 ล้านบาท และ ขสมก.จำนวน 4,074.13 ล้านบาท.
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 ได้ให้หน่วยงานจัดทำแผนการลงนามในสัญญา โดยรายการปีเดียวให้ลงนามในสัญญาแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2565 และรายการผูกพันใหม่ให้ลงนามในสัญญาแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 พร้อมทั้งจัดทำแผนการเบิกจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อสามารถเบิกจ่ายเงินให้ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล