กระทรวงพาณิชย์ มอบกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดพิธีเชิดชูเกียรติธุรกิจที่ผ่านการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจรวบ 2 ปี (2564-2565) และเชิญเข้าร่วมรับหนังสือรับรองเชิดชูเกียรติฯ จำนวน 40 ราย โดยในปี 2565 มีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ จำนวน 93 ราย แบ่งเป็นรายใหม่ 16 ราย และต่ออายุหนังสือรับรอง 77 ราย ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผ่านการพิจารณาอย่างเข้มข้นจากคณะกรรมการที่มาจากภาครัฐ เอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมพิจารณาเอกสารของธุรกิจ ลุยถึงพื้นที่ธุรกิจจริง สัมภาษณ์เชิงลึก และมีหน่วยงานอื่นร่วมตรวจสอบด้วยจนได้ธุรกิจสีขาวสะอาดในวันนี้
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเชิดชูเกียรติธุรกิจ ที่ผ่านการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจประจำปี 2564 และ 2565 ว่า ในวันนี้ (7 กันยายน 2565) ขอแสดงความยินดีกับธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจและได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจในครั้งนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้าส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้เติบได้อย่างยั่งยืนประกอบกับหล่อหลอมให้ธุรกิจต้องสร้างมาตรฐานด้านธรรมาภิบาลควบคู่กันไปโดยไม่ได้เน้นผลกำไร เพียงอย่างเดียว ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นจุดแข็งและข้อแตกต่างที่ได้เปรียบในการแข่งขัน
รมช.พณ. กล่าวต่อว่า “ในปีงบประมาณ 2565 กรมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมสร้างธุรกิจ SME เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ โดยมีธุรกิจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมทั่วประเทศ จำนวน 118 ราย จากหลากหลายประเภททั้งภาคการผลิต บริการ การเกษตร และการค้าส่ง-ค้าปลีก ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่ายกย่องชื่นชมที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรให้มีธรรมาภิบาล และในปีนี้มีธุรกิจที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์การรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ จำนวน 93 ราย โดยเป็นธุรกิจรายใหม่ จำนวน 16 ราย และธุรกิจที่ครบระยะเวลาต่ออายุหนังสือรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ จำนวน 77 ราย สำหรับเกณฑ์การพิจารณามีความเข้มข้นเป็นอย่างมาก โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกำกับมาตรฐานธรรมาภิบาล ซึ่งมีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการส่งธุรกิจให้มีธรรมาภิบาลเป็นกรรมการทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์การตรวจประเมินมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ 6 หลัก ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า รวมถึงมีขั้นตอนการกลั่นกรองหลายลำดับ ทั้งด้านงานตรวจสอบเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้บริหารและพนักงานของบริษัท การลงพื้นที่ตรวจประเมินสถานประกอบการ การตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศาลฎีกา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น”
“ธุรกิจที่ผ่านการเกณฑ์การประเมินจะได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมสร้างธุรกิจ SME เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เป็นที่ประจักษ์ พร้อมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ภาคธุรกิจที่ได้รับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจให้เป็นที่ตระหนักรู้จากสาธารณชนด้วย โดยหนังสือรับรองฯ มีอายุ 3 ปี ธุรกิจสามารถนำเครื่องหมายรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจไปใช้ร่วมกับเครื่องหมายการค้า รวมถึงในหนังสือรับรองนิติบุคคลของธุรกิจยังระบุหมายเหตุข้อความรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจเพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้าด้วย”
“ในวันนี้ได้เชิญธุรกิจเข้าร่วมพิธีเชิดชูเกียรติฯ จำนวน 40 ราย ประกอบไปด้วย ธุรกิจรายใหม่ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ ประจำปี 2565 จำนวน 16 ราย พร้อมทั้งธุรกิจที่ได้ผ่านการรับรองฯ ในปี 2564 อีกจำนวน 24 ราย ซึ่งได้รับหนังสือได้รับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องด้วยในครั้งนั้นเป็นช่วงของการบังคับใช้มาตรการภาครัฐภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) จึงทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ ทั้งนี้ กิจกรรมส่งเสริมและสร้างมาตรฐานด้านธรรมาภิบาลธุรกิจได้เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีธุรกิจผ่านเกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจทั้งสิ้นจำนวน 195 ราย” รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย