xs
xsm
sm
md
lg

อวดโฉมรถไฟมือสองญี่ปุ่น "KIHA183" ฝีมือช่างมักกะสัน วิ่งนิ่ม 100 กม./ชม. จ่อเปิดรับไฮซีซัน ต.ค.นี้-JR East จ่อให้ฟรีอีก 20 ตู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อวดโฉมรถไฟมือสองญี่ปุ่น "KIHA 183" วิ่งนิ่ม 100 กม./ชม. ช่างโรงงานมักกะสันโชว์ผลงานซ่อมเอง “ผู้ว่าฯ รฟท.” เผยคุ้มค่าประหยัดงบ 80-100 ล้านบาทไม่ต้องซื้อของใหม่ ใช้ได้อีก 15-20 ปี เตรียมวิ่งเส้นทางท่องเที่ยวรับไฮซีซัน ต.ค.นี้ พร้อมตั้งงบซ่อมใหญ่กว่า 272 ล้าน ยกเครื่องและเกียร์ใหม่เพิ่มสมรรถนะ เผยญี่ปุ่น "JR East" เสนอมอบเพิ่มอีก 20 คัน

วันที่ 6 กันยายน 2565 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความก้าวหน้าการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ณ โรงงานมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ พร้อมกับทดลองเดินรถจากสถานีมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวช่วงปลายปี 2565 เพื่อเสริมศักยภาพในการเดินทาง และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้รับมอบรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 จากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น มาจำนวน 17 คัน แบ่งเป็น แบบที่มีห้องคนขับ (KIHA183) รองรับผู้โดยสารได้ 40 ที่นั่ง จำนวน 9 คัน และชนิดที่ไม่มีห้องคนขับ (KIHA182) รองรับผู้โดยสารได้ 68 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับต่ำ (Low Cab) 52 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน ซึ่งได้มีการส่งมอบรถมาถึงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เพื่อทำการดัดแปลงเป็นตู้รถไฟสำหรับให้บริการแก่ประชาชน และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น


ล่าสุดการรถไฟฯ โดยฝ่ายการช่างกล ได้ดำเนินการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 เสร็จสมบูรณ์แล้ว 3 คัน พร้อมกับได้นำมาเปิดทดลองเดินรถจากเส้นทางสถานีมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง จำนวน 2 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ จำนวน 1 คัน ซึ่งการทดลองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งภายหลังจากทดสอบประสิทธิภาพขบวนรถชุดแรก สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 100-110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

หลังจากนี้การรถไฟฯ จะรับฟังเสียงสะท้อนจากทั้งสื่อมวลชน และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อพิจารณากำหนดเส้นทางให้บริการ โดยจะเริ่มให้บริการในเส้นทางระยะสั้นแบบวันเดย์ทริป ขบวนสำหรับเทศกาลในวันสำคัญ หรือให้บริการเช่าเหมาขบวนก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการสูงสุด ที่เป็นเส้นทางท่องเที่ยว ระยะทางไม่เกิน 400 กิโลเมตร เช่น ขบวนท่องเที่ยว กรุงเทพฯ (หัวลำโพง)-สถานีน้ำตก (จ.กาญจนบุรี), กรุงเทพฯ-สวนสนประดิพัทธ์, กรุงเทพฯ-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมถึงเส้นทางโดยสาร เช่น กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ เป็นต้น

“การรถไฟฯ โดยฝ่ายการช่างกล ได้ดำเนินการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ชุดแรก จำนวน 4 คัน ปัจจุบันได้ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 3 คัน ส่วนอีก 1 คันอยู่ระหว่างขั้นตอนการทำสี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ก.ย. 2565 จากนั้นได้ทำการทดสอบสมรรถนะของรถ โดยวางแผนปรับปรุงรถเป็น 4 ชุด ชุดละ 4 คัน และทยอยนำออกมาวางให้บริการในเส้นทางท่องเที่ยวตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดและเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2566”


ทั้งนี้ การรับมอบรถดีเซลรางฯ ดังกล่าว การรถไฟฯ ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงแต่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของการดำเนินการขนย้าย 17 คัน จำนวนเงินทั้งสิ้น 42.5 ล้านบาท หรือคันละ 2.5 ล้านบาท และได้มีการปรับขนาดความกว้างของล้อจาก 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร ตามมาตรฐานทางรถไฟไทย โดยมีการจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการดัดแปลงล้อ เฉลี่ยคันละ 200,000 บาท อย่างไรก็ตาม การดัดแปลงมีความคุ้มค่า มีอายุการใช้งานประมาณ 15-20 ปี อีกทั้งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับการรถไฟฯ ได้มากกว่าการซื้อตู้โดยสารใหม่สูงถึง 400 เท่า เพราะหากจัดซื้อตู้โดยสารใหม่จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึงคันละ 80-100 ล้านบาท


ในระยะแรก การรถไฟฯ ได้ปรับปรุงภายในรถใหม่ โดยมีการตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องยนต์ ระบบห้ามล้อ ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ รวมถึงทำความสะอาดภายใน ซักล้างเบาะที่นั่ง ผ้าม่าน ปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์ภายในจากภาษาญี่ปุ่นให้มีภาษาอังกฤษเพิ่มเติม พร้อมระบบห้องสุขา โดยได้ทดลองระบบการทำงานแบบเสมือนจริงทั้งหมด อีกทั้งยังได้ดัดแปลง ชุดหัวท่อเติมน้ำใช้ และชุดหัวสูบถ่ายจากถังเก็บสิ่งปฏิกูลให้สามารถใช้ร่วมกับรถโดยสารประเภทชุดด้วย

ขณะที่การปรับปรุงภายนอกตัวรถ มีการดัดแปลง และปรับปรุงนำโคมไฟส่องทางด้านบนของตัวรถออก เนื่องจากเกินเขตโครงสร้างของรถ (Loading Gauge) และได้ย้ายไฟมาติดตั้งที่หน้ารถแทน บริเวณซ้ายและขวาจำนวน 2 ดวง ตลอดจนดัดแปลงบันไดให้สามารถขึ้น-ลงกับชานชาลาต่ำได้ รวมถึงปรับสภาพผิวตัวรถภายนอกโดยได้ขัดทำสีใหม่ ด้วยการใช้น้ำยาลอกสีแทนการใช้ความร้อน เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงใช้เฉดสีเดิมเพื่อคงกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นอยู่


@ตั้งงบ 272 ล้านบาท เตรียมซ่อมใหญ่ ยกเครื่องเปลี่ยนเกียร์ เพิ่มสมรรถนะ

ส่วนแผนการปรับปรุงรถระยะที่ 2 การรถไฟฯ ได้วางแผนการซ่อมบำรุงใหญ่ เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้บริการเดินรถได้ในระยะยาว เช่น การเปลี่ยนล้อ เพลาใหม่ พร้อม Bearing เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เปลี่ยนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใหม่ เปลี่ยนเครื่องทำลมอัด (Air Compressor) ใหม่ ปรับปรุงระบบปรับอากาศ ปรับปรุงระบบไฟแสงสว่างเป็น 220 V. และระบบไฟฟ้าทั้งหมดเป็น 380 v. / 220 v. 50 Hz โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการครบทุกคันประมาณ 2 ปี

ทั้งนี้ เนื่องจากขบวนรถดังกล่าวมีการใช้งานมากว่า 30 ปี อาจจะมีปัญหาเรื่องมลพิษ และสิ้นเปลืองน้ำมัน คาดใช้วงเงินซ่อมบำรุงใหญ่ประมาณ 16 ล้านบาทต่อคัน วงเงินรวมประมาณ 272 ล้านบาท โดยได้ตั้งงบประมาณปี 2566 (ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี) ทั้งนี้ เพื่อนำไปทดแทนขบวนรถไฟดีเซลรางในบางขบวน ในระหว่างรอการจัดหารถจักรดีเซลรางจำนวน 184 คันที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดหา


@ JR East เสนอให้ฟรีรถดีเซลรางอีก 20 คัน

นายนิรุฒกล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยกับการรถไฟประเทศญี่ปุ่น ถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดี และยาวนานกว่า 20 ปี โดยเคยส่งมอบรถดีเซลรางและรถโดยสารปรับอากาศมาจาก JR West ต่อเนื่อง ในปี 2540 จำนวน 26 คัน ปี 2542 จำนวน 28 คัน ปี 2547 จำนวน 40 คัน ปี 2553 จำนวน 32 คัน โดยการรถไฟฯ ได้นำมาปรับปรุงเป็น ขบวนรถ VIP, ขบวนรถท่องเที่ยว, รถปรับอากาศ จนมาครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 5 ที่การรถไฟฯ ได้รับขบวนรถจากญี่ปุ่น (JR HOKKAIDO) รุ่น KIHA 183 จำนวน 17 คัน

ล่าสุดทาง JR East ได้เสนอที่จะบริจาคมอบขบวนรถไฟดีเซลราง จำนวน 20 คัน ทั้งแบบที่มีห้องคนขับ และไม่มีห้องคนขับ มีสภาพดี ซึ่งทาง JR East ได้ยกเลิกใช้และตัดบัญชีไปเมื่อ ต.ค. 2564 โดยการรถไฟฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปดูสภาพและทดสอบเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการประเมินและพิจารณาว่าจะรับมอบและการจัดเตรียมด้านงบประมาณขนส่งและซ่อมบำรุงในรูปแบบเดียวกับขบวนรถ KIHA 183 ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น