xs
xsm
sm
md
lg

ศักดิ์สยาม"เข้มรถขนส่งวัตถุอันตราย ซ้อมแผนรับเหตุฉุกเฉิน เล็งติดสัญญาณไฟบนรถเพิ่มความปลอดภัยช่วงกลางคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ศักดิ์สยาม"เปิดการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินอุบัติเหตุรถขนส่งวัตถุอันตรายเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ สั่งขยายฝึกซ้อมทั่วประเทศ สร้างเชื่อมั่น เล็งให้ติดสัญญาณไฟบนรถเพิ่มความปลอดภัยช่วงกลางคืน ขบ.เผยคนขับ 3 หมื่นคนใบขับขี่ผ่านรับรองแล้ว

วันที่ 2 ก.ย.2565  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดการซ้อมแผนฉุกเฉินอุบัติเหตุรถขนส่งวัตถุอันตรายตามข้อกำหนดความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศ  ทางถนนของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปภายใต้สหประชาชาติ หรือข้อกำหนด ADR   โดยมี นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการขนส่ง เข้าร่วม ณ ลานหน้าอาคารศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการดำเนินนโยบายเพื่อลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่ง จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุน สวัสดิภาพที่ดีของประชาชน อันเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันของประเทศ ตามแผนงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับความตกลง  ในภูมิภาคและได้ลงสัตยาบันในพิธีสารฉบับที่ 9 สินค้าอันตรายภายใต้กรอบความตกลงการขนส่งสินค้าผ่านแดนของอาเซียนในปี 2559 และได้มีการพัฒนา การควบคุม กำกับดูแล การขนส่งวัตถุอันตรายทางถนนให้เป็นไป ตามมาตรฐานสากล ตามแนวทางและข้อกำหนด ADR มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน


นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้เน้นย้ำถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยกำกับดูแลการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน ให้มีความปลอดภัย ทั้งการใช้เทคโนโลยี GPS ในการกำกับ ดูแล ความเร็วและชั่วโมงการทำงานของผู้ขับรถขนส่งวัตถุอันตราย และในอนาคตได้มอบนโยบายให้มีการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพิ่มเติมในการส่งเสริม ความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ทั้งการนำเทคโนโลยีการระบุตัวตนด้วยคลื่นความถี่ (RFID) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) รวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS)

ซึ่งการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนนถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เพิ่มมูลค่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความสำคัญในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และเป็นสินค้าที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการบริหารการขนส่ง การบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินที่ดี ซึ่งการขนส่งสินค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง การเป็นประเทศชั้นนำด้านการบริหารจัดการขนส่งสินค้าอันตราย ของอาเซียน จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายโอกาส ทางการค้าและการลงทุนของประเทศไทยในเวทีโลก


ดังนั้นการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพนักงานขับรถ ผู้ประกอบการขนส่ง และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานสากล อันจะช่วยลดความสูญเสียและผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป และขยายการฝึกซ้อมในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ภูเก็ต เป็นต้น รวมถึงขยายไปถึงรถประเภทอื่นๆ ในอนาคต

นอกจากการกำกับดูแล การขอความร่วมมือผู่ประกอบการ และการฝึกซ้อมผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดเวลาแล้ว รถขนส่งสินค้าอันตรายจะมีป้ายสัญลักษณ์ติดที่ตัวรถเพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนรับทราบและเลี่ยงการเข้าใกล้ ซึ่งตนให้ กรมขนส่งฯ พิจารณาการติดสัญญาณไฟบนตัวรถเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถสังเกตได้ชัดเจนในเวลากลางคืน รวมถึงพัฒนาคู่มือการขับขี่และคู่มือซ้อมแผนความปลอดภัยรถขนส่งวัตถุอันตรายเป็น E-book ที่นำรายละเอียดมาจากมาตรฐานของ UN เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถนำไปฝึกซ้อมกับผู้ขับขี่สะดวกขึ้น


ปัจจุบันมีจำนวนพนักงานขับรถขนส่งสินค้าวัตถุอันตรายประมาณ 30,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับใบรับรองรถขนส่งสินค้าวัตถุอันตรายทั้งหมดแล้ว


นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ขบ.ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการขนส่งวัตถุอันตราย และดำเนินการตามข้อกำหนด ADR

ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ได้มีการออกประกาศกำหนดให้ผู้ขับรถขนส่งวัตถุอันตรายต้องผ่านการอบรมและทดสอบตามหลักสูตรที่ ADR กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ขับรถและผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ครอบคลุมกระบวนการของการขนส่งวัตถุอันตราย ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ประกอบกับวัตถุอันตรายมีหลายประเภทและหลากหลายชนิด ซึ่งบางชนิดอาจมีแนวทางการจัดการที่แตกต่างกัน จึงได้มีกิจกรรมการซ้อมแผนฉุกเฉินอุบัติเหตุรถขนส่งวัตถุอันตรายตามข้อกำหนด ADR หรือ ADR Emergency Response Exercise: ADR-X ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเหตุฉุกเฉินกรณีอุบัติเหตุรถขนส่งวัตถุอันตรายขึ้น

โดยนำร่องกับรถและวัตถุอันตรายชนิดที่มีการขนส่งมากที่สุดก่อน ได้แก่ รถแท็งก์บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงและรถแท็งก์บรรทุกก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยได้เลือกพื้นที่ซึ่งมีปริมาณและความถี่ในการขนส่งวัตถุอันตรายสูงสุดจังหวัดหนึ่งในประเทศ คือจังหวัดชลบุรี โดยกิจกรรมในครั้งนี้พิจารณาว่าเป็นโครงการในระยะแรก จึงได้เน้นให้ความสำคัญในส่วนของการซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติของพนักงานขับรถในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งได้จำลองสถานการณ์ให้ความรุนแรงของสถานการณ์อยู่ทั้งในระดับที่ 1 ซึ่งพนักงานขับรถสามารถดำเนินการบางอย่างเพื่อลดผลกระทบได้เอง และขยับขึ้นเป็นระดับที่ 2 ซึ่งพนักงานขับรถต้องสื่อสารให้ข้อมูลกับหน่วยงานสนับสนุนจากภายนอกเข้ามาช่วยเหลือ




กำลังโหลดความคิดเห็น