xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจโอดขึ้นค่าแรงเพิ่มซ้ำเติมธุรกิจเปราะบางเร่งดันซบเทคโนโลยีลดคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์การนายจ้างฯ เผยค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับใหม่แม้จะไม่สูงมากแต่ซ้ำเติมสารพัดต้นทุนที่รุมเร้าทำให้ธุรกิจที่เปราะบางอยู่แล้วจะยิ่งอ่อนแอมากขึ้นและอาจไปไม่รอดในที่สุด ชี้แม้สินค้าจะทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่อาจครอบคลุมต้นทุนท่ามกลางแรงซื้อคนไทยที่ตกต่ำ แนะธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นดึงเทคโนโลยีปรับใช้ลดต้นทุนรับมือแรงงานไร้ทักษะขาดหนัก

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานกรรมการในเครือบริษัทวี-เซิรฟ กรุ๊ป และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ได้บรรลุข้อตกลงปรับค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่มีผล 1 ต.ค. 65 ที่แบ่งออกเป็นกลุ่มจังหวัด 9 โซนแตกต่างกันไป อัตราตั้งแต่ 4.18%-6.65% หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.02% ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างเดียวแต่ขึ้นอยู่กับประเภทอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้แรงงานเป็นสัดส่วนเท่าใดหากใช้สัดส่วนสูงก็กระทบมาก ดังนั้นธุรกิจที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นและมีการแข่งขันราคาสูงและกำไรต่ำจะกระทบมากสุด อย่างไรก็ตาม แรงงานอาจมองว่าการปรับค่าแรงครั้งนี้เล็กน้อยไม่พอกับค่าครองชีพที่สูงแต่สำหรับนายจ้างกลุ่มที่กำลังอ่อนแอจะยิ่งซ้ำเติมให้ไปไม่รอดจากต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มรอบด้าน

“หากคิดค่าจ้างขั้นต่ำโดยใช้เกณฑ์ กทม.และปริมณฑลจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตราว 1.5-2% มากน้อยอยู่ที่จำนวนแรงงาน และผลกระทบที่มีต่อราคาสินค้าโดยทั่วไปจะอยู่ราว 1-1.5% ซึ่งหากดูแล้วผลกระทบอาจไม่มากแต่ท่ามกลางตลาดที่มีความไม่แน่นอนของกำลังซื้อโดยรวมที่ยังอ่อนแอ ภาคการท่องเที่ยวที่มีต่างชาติเข้ามาจับจ่ายใช้สอยสูงที่ก่อนหน้ามีถึง 40 ล้านคนปีนี้คงมาได้มากสุดแค่ไม่เกิน 10 ล้านคน ดังนั้นผู้ประกอบการบางส่วนอาจไม่อยู่ในวิสัยที่จะปรับราคาสินค้าให้ครอบคลุมกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด” นายธนิตกล่าว

นอกจากนี้แล้ว ภาคการผลิตยังต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นที่ไม่ใช่แค่ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่อาจส่งผ่านไปยังราคาสินค้าไปยังผู้บริโภคได้ทั้งหมด ได้แก่ ราคาวัตถุดิบต่างๆ ที่ต้องนำเข้าในราคาสูงจากผลกระทบห่วงโซ่การผลิตที่ชะงักงัน หรือ Global Supply Chain Disruption ภาวะอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐที่อ่อนค่าลงทำให้การนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ สูงขึ้น ราคาพลังงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงทั้งดีเซล ค่าไฟฟ้า และยังมีอัตราดอกเบี้ยที่จะเป็นต้นทุนทางการเงินที่เป็นขาขึ้น ฯลฯ เหล่านี้

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงมากสุดเช่น ธุรกิจเกษตร-เกษตร
แปรรูป, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารพื้นฐาน, ธุรกิจก่อสร้าง, โรงแรมและที่พัก, ร้านอาหาร, โลจิสติกส์, อุตสาหกรรม

รับจ้างการผลิต, โรงงานสิ่งทอ, โรงงานทำเครื่องหนังต่างๆ ฯลฯ การเอาตัวรอดของผู้ประกอบการอาจต้องพิจาณาถึงการเพิ่มทักษะนำระบบ “Niche & Lean Process” เกี่ยวข้องกับการปรับกระบวนการทำงานและหรือกระบวนการผลิตให้กระชับ ลดขั้นตอนคอขวดต่างๆ ให้งานไม่สะดุดและให้มีส่วนสูญเสียในการผลิตต่ำสุด การเพิ่มผลิตภาพแรงงานต่อรายได้ หรือ “Productivity/Income” ที่ได้ผลสุดคือนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดจำนวนแรงงาน

“เทคโนโลยีง่ายๆ สำหรับเอสเอ็มอีเช่น การนำระบบสายพานลำเลียงหรือ “Conveyor” ซึ่งมีตั้งแต่ระบบพื้นฐานแบบลูกกลิ้งไปจนถึงระบบออโตเมชัน, เครื่องแพกกิ้ง-บรรจุภัณฑ์ ประเภทต่างๆ, การใช้แขนกลอัตโนมัติ “Automatic Mechanical Arm” ซึ่งเป็นโรบอตประเภทหนึ่งมีตั้งแต่ระดับราคาครึ่งล้านไปจนถึงหลายล้านบาท เทคโนโลยีเหล่านี้ปัจจุบันถูกลงมาก เหล่านี้ล้วนเป็นทางเลือกหนึ่งในการที่จะลดการใช้แทนกำลังคนและลดผลกระทบต่อการขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะที่ไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนมาก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มเพื่อหลีกหนีตลาดล่างที่จะแข่งขันราคารุนแรง และใช้ดิจิทัลเป็นช่องทางเพิ่มการจำหน่าย” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น