การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ถือเป็นเม็ดเงินสำคัญส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ แน่นอนว่าแม็กเน็ตที่จะดึงดูดการลงทุนไม่ใช่เพียงสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เท่านั้น หากแต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก และหนึ่งในกลไกสำคัญคือพื้นที่การลงทุนโดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่มีแนวคิดการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแนวดิ่ง โครงการ Vertical Industrial Area เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการและตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้ประกอบการยุคใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดตั้งอุตสาหกรรมในเขตเมืองที่มีความต้องการใช้พื้นที่อำนวยความสะดวกและระบบคมนาคมที่สะดวกทันสมัย ต้องการพื้นที่น้อยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ก (Smart Park) ต้นแบบของนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเชิงนิเวศ ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ ด้วยการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ในการดำเนินการทั้งหมด
ลุยญี่ปุ่นส่องโมเดลการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
ดังนั้นระหว่าง 25-27 ส.ค. 65 กนอ.ได้นำคณะเดินทางไปศึกษาดูงานที่ Haneda Innovation (HI) City ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตามนโยบายยุทธศาสตร์แห่งชาติเขตเศรษฐกิจพิเศษ (The National Strategic Special Zones) ของญี่ปุ่น ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่เขตโอตะ กรุงโตเกียว ซึ่งเมื่อ 27 พ.ค. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมแล้วเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้เขตอุตสาหกรรมในโอตะมีผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นประเภทแปรรูปโลหะ และเครื่องจักรในยุคเฟื่องฟูมีมากถึง 9,000 แห่ง แต่ต่อมาได้ลดลงไปเนื่องจากเกิดภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมเลเซอร์ที่เป็นผู้ผลิตส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้ ทำให้ 9 บริษัทหันมาร่วมมือในการพัฒนา HI City ขึ้นโดยการนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่โดดเด่นแต่ละรายมาร่วมมือออกแบบเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนที่มุ่งสู่อุตสาหกรรมใหม่และตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม
การพัฒนาผ่านการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน และยังเป็นแหล่งรวบรวมศูนย์วิจัยและทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีทางการแพทย์ และสถานีไฮโดรเจน นอกจากนี้ยังมีร้านค้า โรงแรม สำนักงาน ศูนย์จัดการประชุมและการแสดงที่ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นเพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมเข้าถึงทั้งเทคโนโลยีและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งโครงการจะสมบูรณ์ตามแผนที่วางไว้ในปี ค.ศ. 2023
นอกจากนี้ยังได้ไปศึกษาดูงานโครงการพัฒนาเมืองของเมืองโยโกฮามา (Yokohama) ที่มีการวางแผนการพัฒนาเมืองใหม่ผ่าน 6 โครงการหลัก โดยเฉพาะหนึ่งใน 6 โครงการ คือ Minato Mirai 21 (New City) ซึ่งมีพื้นที่ราว 168 เฮกเตอร์ผ่านการถมทะเล และใช้ระยะเวลาการพัฒนาปัจจุบันดำเนินมา 40 ปี โดยการสร้างแลนด์มาร์ก ผ่านอาคารที่ทันสมัย จัดวางเรียงตึกให้ดูสวยงาม และคงโกดังสินค้าที่เป็นแบบดั้งเดิมเอาไว้จากพื้นที่เดิมเป็นอู่ต่อเรือ จนได้รับการยอมรับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งใหม่ของญี่ปุ่นและดึงดูดการเข้ามาเยี่ยมชมจากคนทั่วโลก
เมืองแห่งนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่มารวมอยู่ราว 1,800 แห่ง โดยตอบโจทย์เมืองแห่งการพัฒนาระบบพลังงาน สู่การเติบโตอย่างชาญฉลาด หรือ Yokohama Smart City Program (YSCP) ซึ่งให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานใน 3 ส่วน ได้แก่ ที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และการคมนาคมขนส่ง โดยโครงการ minato mirai 21 จะคำนึงถึงการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการสร้างระบบ casbee ที่กำหนดให้ผู้สร้างตึกและอาคารต่างๆ ยึดตามแบบที่กำหนดไว้ และที่โดดเด่นสุดคือ การพัฒนาระบบพลังงานที่ป้อนอาคารเป็นของตนเองคือ Central Energy Plant ที่ป้อนอาคารต่างๆ ในพื้นที่รวม 67 แห่ง ที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ 15%
“เมื่อ 170 ปีเมืองโยโกฮามา ซึ่งอยู่ในจังหวัดคานากาวะ เป็นพื้นที่ติดทะเลอยู่ทางด้านตอนใต้ของเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีประชากรกว่า 4 ล้านคนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี มีขนาดพื้นที่ 453 ตาราง กม. เดิมเป็นเมืองท่า อู่ต่อเรือ ซึ่งนับเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีโรงงานจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันได้เกิดมลพิษที่กระทบสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามลำดับ ปี พ.ศ. 2393 รัฐบาลเมืองโยโกฮามาจึงมีแผนที่จะเตรียมพัฒนาเมืองใหม่ จากเมืองอุตสาหกรรม ให้กลายเป็นเมืองท่าการพาณิชย์ นี่คือจุดเริ่มต้นของการขยายพื้นที่ขึ้นมาใหม่ ด้วยการ “ถมทะเล” โดยใช้เวลาถึง 40 ปี ในที่สุดโยโกฮามาได้กลายเป็น “Smart City” เต็มรูปแบบ” นายฮิชิโมโตะ โทรุ อธิบดีกรมการต่างประเทศ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นกล่าวบรรยาย
กนอ.เล็งต่อยอดปรับโฉมนิคมฯ รับอนาคต
“การดูงานในส่วนของ HI City ที่ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีและทีมงานได้มาดูงานแล้ว ซึ่ง กนอ.เองเห็นว่านวัตกรรมในนี้จะนำมาพัฒนานิคมฯ แนวใหม่ที่ กนอ.จะสร้างขึ้น เช่น นิคมสมาร์ทปาร์ก ที่จะนำทั้งระบบเอไอ หุ่นยนต์ ระบบ Digital Twins ฯลฯ มาใช้ ซึ่งขณะนี้ กนอ.นำระบบ Digital Twins มาทดลองใช้แล้วที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร โดยจะมีการเก็บพิกัดของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ผู้บริหารจะดูได้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไร เพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนโยโกฮามา สมาร์ทซิตี้ที่มีรูปแบบจัดการพลังงาน ก่อนหน้านี้เป็นเมืองไม่ใหญ่เป็นเมืองอุตสาหกรรม ก็มีปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่อมาได้พัฒนาเมืองใหม่โดยใช้ระบบบริหารจัดการ และนวัตกรรมสมัยใหม่ก็จะนำไปประยุกต์นิคมอุตสาหกรรมแนวใหม่ที่เรามุ่งพัฒนาที่จะให้เมือง ชุมชน และอุตสาหกรรมอยู่ได้ ” นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ กนอ.กล่าวย้ำถึงแนวทางการพัฒนา
นักลงทุนญี่ปุ่นยังมองไทยเป็นฐานผลิตต่อเนื่อง
นายวีริศยังกล่าวถึงภารกิจในการร่วมกับบีโอไอไปโรดโชว์การลงทุนที่โตเกียวเมื่อ 26 ส.ค.ว่า ได้มีโอกาสไปดูงานของบริษัทผู้ผลิตแผ่นวงจรไฟฟ้า Printed Circuit Board : PCB) ที่ใช้ในรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งเป็นนักลงทุนที่อยู่ในนิคมฯของไทยที่ จ.ชลบุรีหรือพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยการเยี่ยมชมดูงานครั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทดังกล่าวได้ยืนยันถึงการขยายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นโดยมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และจะแล้วเสร็จใน 2 ปี
"ผมขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อบริษัทซึ่งผู้บริหารระดับที่เป็น CEO เขายืนยันแน่นอนแล้วว่าจะขยายการลงทุนในไทยเพราะเขามีคำสั่งซื้อเพิ่ม ซึ่งลูกค้าหลักคือกลุ่มยานยนต์เดิมเขามองเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ที่สุดได้เลือกไทยและเขายังระบุว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่สุดของเขาและจะชิปโรงงานจากญี่ปุ่นไปไทย และมองว่าอนาคตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะเติบโต และปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่ขาดแคลนเขามองว่าจะมีแนวโน้มคลี่คลายลงได้" นายวีริศกล่าว
ทั้งนี้ กรณีที่ค่าแรงของไทยมีแนวโน้มอยู่ในทิศทางขาขึ้นแต่นักลงทุนมองในแง่ของความมั่นคงของแรงงานภาพรวมที่ไทยยังมีศักยภาพ รวมไปถึงระบบสาธารณูปโภค การขนส่งที่ไทยมีแนวทางพัฒนาที่ทันสมัย นี่คือจุดหลักที่ทำให้บริษัทได้ตัดสินใจในการขยายการลงทุนโรงงานแห่งใหม่ และจากการหารือก็ยืนยันตรงกันกับที่ก่อนหน้านี้ กนอ.เองมองว่ากรณีความขัดแย้งของสองประเทศมหาอำนาจก็จะเป็นโอกาสของการลงทุนไทย
“เราได้พบนักลงทุนญี่ปุ่น เขาก็ยืนยันว่าตอนนี้สิ่งที่นักลงทุนที่อยู่ในเอเชียจะย้ายฐานมาที่ภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นและไทยก็เป็นจุดสำคัญในการลงทุน เมื่อประเทศต่างๆ เปิดไปมาหาสู่กันได้ ก็จะเป็นสิ่งที่นักลงทุนกำลังหมายตาอยู่ ซึ่งบีโอไอก็ได้แจ้งสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ๆ ทั้งการลงทุนสิ่งแวดล้อมเช่นประหยัดพลังงาน ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะได้ลดภาษีฯ มากขึ้น สิทธิประโยชน์ที่พักอาศัยผู้บริหารเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ ฯลฯ ชาวต่างชาติก็สนใจมาก และเรายังได้พบกับสมาคมผู้ผลิตอาหารและเครื่องจักรที่ผลิตอาหาร ก็สนใจจะร่วมลงทุนกับ กนอ.เป็นต้น” นายวีริศกล่าว
ยันการเมืองไทยไม่กระทบการลงทุนระยะยาว
ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี และมีมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวนั้น ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการลงทุนเนื่องจากการลงทุนมองระยะยาวมากกว่าระยะสั้นและจะไม่เกิดการย้ายฐานการลงทุนแต่อย่างใด
“เชื่อว่าการลงทุนอาจกระทบบ้างระยะสั้นเพื่อรอดูเหตุการณ์อีก 1 เดือน แต่หากมีเหตุการณ์ไม่สงบยืดเยื้อไปอีก 3-4 เดือนก็อาจมีผลกระทบอยู่บ้าง โดยเฉพาะโครงการที่จะหมดสัญญาต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ ซึ่ง กนอ.มีอยู่ประมาณ 2 โครงการ แต่คาดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบ เพราะเป็นโครงการไม่ได้ดำเนินการใน 1-2 เดือน เป็นโครงการระยะยาว ส่วนโครงการที่ดำเนินการไปแล้วไม่มีปัญหา” ผู้ว่าฯ กนอ.กล่าว
การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งปัจจุบันและอนาคตเพื่อตอบโจทย์โลกการค้าและการลงทุนที่เปลี่ยนไป การปรับรูปแบบนิคมฯ จึงต้องมองทิศทางของโลก และที่สำคัญต้องตอบโจทย์นักลงทุนซึ่งแน่นอนว่า "ญี่ปุ่น" ยังคงเป็นนักลงทุนหลักของไทย