xs
xsm
sm
md
lg

“อินฟลูเอนเซอร์” โกย 10.7ล้านล้านบาท อาวุธขายสินค้าทรงพลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - จับตา “อินฟลูเอนเซอร์” คู่แข่งเบอร์ต้นๆ ของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา ที่ผ่านมาซิวเม็ดเงินไปจนล่ำซำ ไม่แปลกใจที่ใครก็อยากเป็น เพราะเทียบชั้นดาราได้สบาย ได้ทั้งชื่อเสียงและเงินทองมาแบบง่ายๆ แถมทรงอิทธิพลยิ่งกว่าซุป’ตาร์ เทรนด์นี้กำลังมาแรง เหตุเพราะช้อปปิ้งออนไลน์ฝังลึกลงบนปลายนิ้ว กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โอกาสทองพลิกชีวิตคนธรรมดาสู่การเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” เครื่องมือโปรโมทสินค้าชั้นยอด แค่มีผู้ติดตามหลักล้านขึ้นไป เตรียมตัวเป็นเศรษฐีได้เลย เพียงโพสต์ 1 ครั้ง รับค่าเหนื่อย 10,000 ดอลลาร์สหรัฐไปเบาๆ จากสถิติล่าสุดปี 64 ตลาด Creator Economy Market ทั่วโลก มีจำนวนถึง 47 ล้านคน ฟันธงอีก 2 ปี “อินฟลูเอนเซอร์” กวาดเงินเข้ากระเป๋าไปไม่ต่ำกว่า 10.7 ล้านล้านบาท

เคยสังเกตกันไหมว่า ช่วง 2-3ปีที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นผู้ทรงอิทธิพล หรือที่เรียกกันติดปากว่า “อินฟลูเอนเซอร์” โดยเฉพาะพวกหน้าใหม่ๆเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์จำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของยูทูปเบอร์, ดาวติ๊กต็อก, เฟซบุ๊กแฟนเพจ รวมไปถึง อินสตาแกรม
 
บุคคลเหล่านี้มีทั้งที่เป็นดารานักแสดง และคนธรรมดาบ้านๆที่ดังเปรี้ยงเพียงชั่วข้ามคืน แล้วเงินทองก็ไหลมาเทมา และมักจะโพสต์อวดรวยบนโลกโซเชียลกันแบบไม่มีใครยอมใคร เดี๋ยวนี้เงินมันหาง่ายกันขนาดนั้นเลยหรือ? ทำไมอาชีพนี้ถึงรวยเร็วเว่อร์ รายได้ดี มีรถหรูขับ มีบ้านหลังโตๆ มีเงินเข้ากระเป๋าเป็นล้านๆ ในเวลาไม่ถึงปี กระแสมันยั่วใจขนาดนี้ จึงไม่แปลกใจที่เด็กรุ่นใหม่ๆ พร้อมที่จะกระโจนเข้าสู่อาชีพ “อินฟลูเอนเซอร์” กันสนั่นโซเชียล


แน่นอนว่าเทรนด์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่กำลังระบาดหนักไปทั่วทุกมุมโลก 

“ธอทฟูล มีเดีย” ได้รวบรวมข้อมูลพบว่า ในปี 2563 ตลาดโฆษณาทั่วโลก (Global Advertising Market) มีมูลค่ารวมที่ 583,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยได้กว่า 20.8 ล้านล้านบาท โดยที่สื่อโฆษณาดิจิทัลมีสัดส่วน 47% และในปี 2565นี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 745,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งสื่อโฆษณาดิจิทัลขยับสัดส่วนเพิ่มเป็น 55% ขณะที่อีก 2 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2567 ตลาดโฆษณาทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 824,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และสื่อโฆษณาดิจิทัล จะขยับสัดส่วนขึ้นเป็น 59% ซึ่งในสัดส่วน59%นี้ กว่า60% มาจากตลาดครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์นั่นเอง

“ภาพรวมตลาดโฆษณาทั่วโลกในอีก 2ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าสื่อโฆษณาดิจิทัลจะมีสัดส่วน 59% คิดเป็นมูลค่าที่ 483,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตีเป็นเงินไทยได้กว่า 17.2 ล้านล้านบาท ซึ่งในสื่อนี้กว่า 40% เป็นโฆษณาแบบ Classified และ Paid Search ส่วนที่เหลือกว่า 60% จะเป็นในเรื่องของ Displayed, Video & Social Media ซึ่งครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์อยู่ในส่วนนี้นั่นเอง” นายเบียน เคียต ถัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธอทฟูล มีเดีย ประเทศไทย จำกัด กล่าวให้ข้อมูล

*** 3 ปัจจัย บูมตลาด อินฟลูเอนเซอร์
สาเหตุที่ทำให้มูลค่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์เติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นอาชีพในฝันของผู้คนทั่วโลกนั้น มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ โซเชียลมีเดีย, โซเชียล คอมเมิร์ซ และเทรนด์วิดีโอสั้น


นายเบียน เคียต ถัน ได้กล่าวว่า อินฟลูเอนเซอร์เติบโตอย่างรวดเร็ว เกิดจาก 3 ปัจจัย และปัจจัยแรก คือการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย 42% ของประชากรทั่วโลก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นำมาซึ่งปัจจัยที่สอง คือ การเติบโตของโซเชียลคอมเมิร์ซ โดยปี2565 นี้ ตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซทั่วโลกมีมูลค่า 751,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี2568 จะเพิ่มเป็น 1,590,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และในปี2571 จะมีมูลค่าสูงถึง 3,370,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลในประเทศไทยนั้น ระบุว่า มีการใช้จ่ายบนโลกออนไลน์ทั้งหมดถึง 19,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และไทยมีผู้เล่นโซเชียลมีเดีย 81% หรือกว่า 57 ล้านคน นอกจากนี้กว่า 50% ยังเลือกช้อปปิ้งผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ โดยทั้งหมดใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ต 9 ชั่วโมงต่อวัน และกว่า 3 ชั่วโมง เป็นการเล่นโซเชียลมีเดีย มีเฟซบุคเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใช้งานมากที่สุด รองลงมา คือ YouTube ติ๊กต็อก และอินตราแกรม ตามลำดับ


ทิศทางการเล่นโซเชียลมีเดีย และการเติบโตของโซเชียลคอมเมิร์ซนำมาสู่ปัจจัยที่ 3 คือ ฟีเจอร์เทรนด์ ในรูปแบบ “วิดีโอสั้น” ที่กำลังเป็นที่นิยม จนกลายมาเป็นเครื่องมือทางการขายที่สำคัญของโซเชียลคอมเมิร์ซ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างคนธรรมดาให้เป็นที่รู้จักจนมีผู้ติดตาม และกลายมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในระดับเริ่มต้น ซึ่งระดับนี้มีเพิ่มขึ้นมากมายและเป็นกลุ่มใหญ่สุดของตลาดอินฟลูเอ็นเซอร์

อย่างไรก็ตามคอนเทนต์ที่ถูกสร้างโดยอินฟลูเอนเซอร์และทีมงานที่เกี่ยวข้อง เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่าครีเอเตอร์ ซึ่งทาง “ธอทฟูลมีเดีย” ได้รวบรวมไว้ด้วยว่า ปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาด Creator Economy Market Size มีจำนวนครีเอเตอร์ทั่วโลกสูงถึง 47 ล้านคน กระจายอยู่ในหลายๆแพลตฟอร์ม อันดับ1 คือ อินสตาแกรม มี 23 ล้านคน 2.Youtube 12 ล้านคน 3.Twitch 2.7ล้านคน 4.อื่นๆรวมกันอีก ล้านคน

โดยในอีก ปีข้างหน้า หรือในปี 2567 คาดการณ์ว่าตลาดครีเอเตอร์จะกอบโกยเม็ดเงินไปถึง 300,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 10.7 ล้านล้านบาท


***เพราะโลกนี้หมุนด้วยอินฟลูเอนเซอร์?
อย่างไรก็ตาม จากจำนวนครีเอเตอร์ 47 ล้านคน มีเพียง 2 ล้านกว่าคนเท่านั้น ที่จัดอยู่ในระดับ Professionals เป็นกลุ่มที่แอกทีฟ สร้างคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง ทรงอิทธิพล เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีฐานแฟนคลับหรือสมาชิกติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีคนกลุ่มนี้อยู่มากสุด คือ
1.Youtube 1 ล้านคน
2.อินสตาแกรม 500,000 คน
3.Twitch 300,000 คน
4.อื่นๆรวมกันอีก 200,000 คน

นอกจากนี้ อินฟลูเอนเซอร์ ยังแยกออกเป็น 4 ระดับ คือ
1.ระดับนาโน ส่วนใหญ่เป็นคนธรรมดาทั่วไป ที่เริ่มมีคนรู้จักและมีผู้ติดตามไม่เกิน 10,000 คน
2.ระดับไมโคร มีผู้ติดตามไม่เกิน1 แสนคน
3.ระดับมาโคร มีผู้ติดตามมากกว่า1 แสนคน แต่ไม่เกิน1 ล้านคน
4.ระดับเมกกะ มีผู้ติดตามมากกว่า1 ล้านคนขึ้นไป


นายเบียน เคียต ถัน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันคนธรรมดาที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ มีหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน และผู้บริโภคเลือกที่จะเชื่ออินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนธรรมดามากกว่าคนดังอีกด้วย จะทำอะไร จะซื้ออะไร ก็เลือกที่จะหาข้อมูลผ่านอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้ไว้ก่อน เพราะคนดังหรือดารา ดูเฟค ไม่จริงใจ ดูก็รู้ว่าถูกจ้างมาโพสต์ขายของมากกว่าคนธรรมดาที่รีวิวใช้จริง

ยกตัวอย่าง เช่น อัตราการมีส่วนร่วมบน TikTok หากใช้อินฟลูเอนเซอร์ระดับนาโน พบว่า อัตราการมีส่วนร่วมสูงถึง 18%, ไมโคร 10%, มาโคร 7% และเมกกะ 5% จากข้อมูลดังกล่าว ส่งผลให้แบรนด์และสินค้าหันมาใช้อินฟลูเอนเซอร์ระดับนาโนและไมโครมากขึ้น เพราะถือเป็นเครื่องมือโฆษณาที่มีการว่าจ้างหรือมีค่าใช้จ่ายน้อยลงแต่ให้การเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับดาราดังๆ

***เรตค่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์
อย่างไรก็ตาม แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์เหมือนกัน แต่ค่าจ้างได้ไม่เท่ากันนะ เพราะเรตค่าจ้างถูกตีค่าจากยอดผู้ติดตามเป็นหลัก รวมถึงความดัง ความปัง มาประกอบกันด้วย และ “ธอทฟูล มีเดีย” ก็มีคำตอบให้สำหรับเรื่องนี้อีกเช่นกัน ว่าอินฟลูเอนเซอร์แต่ละระดับ จะมีรายได้ประมาณเท่าไร โดยข้อมูลต่อไปนี้ถือเป็นค่าเฉลี่ยที่ใช้กันทั่วโลก


เรตค่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์โพสต์ต่อครั้ง บนแพลตฟอร์มอินสตาแกรม
1.ระดับนาโน (ผู้ติดตาม 1-1 หมื่นคน) อยู่ที่ 10 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 357 บาท
2.ไมโคร (ผู้ติดตาม 1 หมื่น-1 แสนคน) อยู่ที่ 100 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 3,571 บาท
3. Mid (ผู้ติดตาม 1 แสน-5 แสนคน) อยู่ที่ 500 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 17,855 บาท
4. มาโคร (ผู้ติดตาม 5 แสน-1 ล้านคน) อยู่ที่ 5,000 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 178,550 บาท
5.เมกกะ (ผู้ติดตาม 1 ล้านคนขึ้นไป) อยู่ที่ 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐเป็นอย่างน้อย คิดเป็นเงินไทย 357,100 บาท

ตัวเลขดังกล่าว หากเป็นในประเทศไทย กลุ่มที่จะได้ค่าจ้างเป็นกอบเป็นกำ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นดารา นักแสดง ที่มียอดผู้ติดตามเป็นหลักแสนหลักล้านขึ้นไป หรือเฉลี่ยโพสต์1 ครั้ง รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 1.5 -3.5 แสนบาท

แต่หากมองในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ที่มาจากคนธรรมดาและกลายมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลจริงๆในวันนี้ ทาง “ธอทฟูล มีเดีย” ยกให้ “พิมรี่พาย” เป็นอันดับ1 โดยเชื่อว่า พิมรี่พายโพสต์ 1 ครั้ง รับเงินไม่ต่ำกว่า 5 แสน -1 ล้านบาท เรตราคานี้อยู่ในระดับเดียวกับซุป’ตาร์เมืองไทยได้เลย ส่วนตัวท็อปๆ ยังมีอีกหลายคน เช่น บี้ เดอะสการ์ และในวงการเกมเมอร์ เป็นต้น


มาถึงตรงนี้ คงจะพอเป็นแนวทางให้บวกลบคูณหารออกมาได้ว่า ทำไมอินฟลูเอนเซอร์จึงมีรายได้เข้ามามากมาย และเป็นเศรษฐีกันได้เร็วนัก ยิ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ระดับโกลบอล หรือเป็นศิลปินเคป็อปที่ดังระดับโลก อย่างเช่น “ลิซ่า แบล็กพิงค์” ด้วยแล้ว เรตราคาการจ้างโพสต์ลงอินสตาแกรมต่อครั้งจึงสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป

ทั้งนี้ทางเว็บไซต์ seoulspace เคยระบุไว้ว่า เรตราคาการจ้างโพสต์บนอินสตาแกรมของลิซ่า พุ่งสูงถึง 200,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือกว่า 7 ล้านบาทต่อครั้ง จากที่มีผู้ติดตามราว 70 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเป็น 81.1 ล้านคนไปแล้ว (ตัวเลขล่าสุดเดือนส.ค. 65) เรตค่าจ้างโพสต์ก็น่าจะปรับขึ้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้นหากจะกล่าวว่า “โลกนี้กำลังหมุนด้วยอินฟลูเอนเซอร์” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะแค่ “ลิซ่า แบล็กพิงค์” เพียงคนเดียว ยังแสดงให้เห็นถึงความทรงอิทธิพลของลิซ่าที่ส่งผลต่อสิ่งต่างๆรอบตัวได้เป็นอย่างดี ทรงอิทธิพลจนกลายเป็นกระแส จากกระแสนำมาซึ่งรายได้ รายได้ที่มาจากการขายสินค้า และใช้เวลาเพียงไม่นานก็ Sold Out หรือขาดตลาดได้ในชั่วข้ามคืน

สิ่งที่แบรนด์และสินค้าได้จากอินฟลูเอนเซอร์กับค่าจ้างที่จ่ายไป จึงนับว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เมื่อเทียบกับการซื้อสื่อโฆษณาแบบเดิมๆ ที่อัตราความคุ้มค่าลดน้อยถอยลง

อินฟลูเอนเซอร์ในวันนี้ จึงกลายเป็นผู้คุมเกมของโลกโฆษณาไว้ในกำมือ และพร้อมที่จะทุบสื่อโฆษณาหลักให้กลายเป็นตัวสำรองในอนาคตที่ไม่ไกลจากนี้นัก.








กำลังโหลดความคิดเห็น