xs
xsm
sm
md
lg

‘สินิตย์’ ถกจีนดันเปิดตลาดสินค้า ลดอุปสรรคการขนส่ง พร้อมชวนลงทุนใน EEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘สินิตย์’ เป็นประธานร่วมการประชุมเวทีระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กับจีน หลังว่างเว้นมากว่า 6 ปี หนุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ผลักดันเปิดตลาดรังนก โคเนื้อมีชีวิต อินทผาลัม-สละ-เสาวรสสีม่วง การอำนวยความสะดวกด้านขนส่งสินค้าบริเวณด่าน พร้อมชวนนักลงทุนจีนกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาลงทุนใน EEC

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุน ไทย – จีน หรือ Sub – Committee ไทย – จีน ครั้งที่ 2 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับนายหลี่ เฟย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน เพื่อหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งเตรียมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย – จีน หรือ JC เศรษฐกิจ ไทย – จีน ในระดับรองนายกรัฐมนตรี


นายสินิตย์ กล่าวว่า การประชุม Sub – Committee ไทย – จีน เป็นเวทีระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สองฝ่าย ซึ่งได้ว่างเว้นมากว่า 6 ปี นับจากการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2559 โดยการประชุมครั้งนี้ ไทยได้ ผลักดันประเด็นสำคัญ อาทิ การเปิดตลาดสินค้าของไทยไปจีน ได้แก่ รังนก โคเนื้อมีชีวิต อินทผาลัม สละ และเสาวรสสีม่วง การเร่งสร้างลานตรวจสอบสินค้าผลไม้ที่ด่านรถไฟโม่ฮาน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟลาว – จีน เพื่อช่วยระบายการจราจรแออัดที่ด่านโหยวอี้กวน ซึ่งเป็นด่านหลักในการนำเข้าผลไม้ทางบกจากไทย รวมทั้งขอให้จีนผ่อนปรนมาตรการการส่งออกสินค้าปุ๋ยเคมี เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเข้าปุ๋ยจากจีนได้เร็วขึ้น โดยฝ่ายจีนพร้อมให้การสนับสนุนและได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันต่อไป


นายสินิตย์ เพิ่มเติมว่า ไทยและจีนยังได้หารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินทางหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในมาตรการความปลอดภัยและด้านสาธารณสุข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ด้านอวกาศ ไทยมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการสำรวจดาวอังคารของจีน รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วของจีน ส่วนด้านการลงทุน โดยไทยได้ชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งมีการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในรูปแบบคลัสเตอร์ 5 กลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจบีซีจี การแพทย์ครบวงจร โลจิสติกส์ และเมืองอัจฉริยะสำหรับคนรุ่นใหม่ ขณะที่ฝ่ายจีนขอให้ไทยสนับสนุนความร่วมมือในระเบียงการค้าทางบกและทางทะเลแห่งใหม่ของจีน ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าในภูมิภาค ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนและได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้แล้ว โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และโครงการขยายท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด


นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันพิจารณากำหนดเป้าหมายการค้าใหม่ และจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมระยะ 5 ปี ระหว่างไทย – จีน ปี 2565 - 2569 ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และการท่องเที่ยว โดยจะเสนอให้ที่ประชุม JC เศรษฐกิจ ไทย – จีน พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะนำผลการประชุมในครั้งนี้ไปขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ และช่วยเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2564 ไทยกับจีนมีมูลค่าการค้ารวม 103,818 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.- มิ.ย. 2565) การค้ารวมทั้งสองฝ่าย มีมูลค่า 4,454.60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.37% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีน ได้แก่ ผลไม้สด เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากจีน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก และชิ้นส่วนยานยนต์
กำลังโหลดความคิดเห็น