xs
xsm
sm
md
lg

คนเดินถนนสุดเสี่ยง! เปิดสถิติถูกรถเฉี่ยวชนกว่า 6 พันคน/ปี “คมนาคม” เร่งแผนปรับปรุงสภาพข้างทาง แก้จุดเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” เผยสถิติกลุ่มคนเดินเท้าถูกรถเฉี่ยวชนปีละกว่า 6,200 คน โดยเสียชีวิตเฉลี่ย 740 รายในพื้นที่ กทม.สูงสุด สั่งหน่วยงานปรับปรุงถนนและสภาพแวดล้อมข้างทางแก้จุดเสี่ยง ศึกษาร่วมไจก้าวางแผนระยะยาว

วันที่ 24 ส.ค. 2565 นางจตุพร เนียมสุข ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมงานกิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ ครั้งที่ 7 “คมนาคมขนส่งไทยขับขี่ปลอดภัยทุกการเดินทาง” จัดโดยคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และภาคีเครือข่าย โดยมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก พร้อมคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมมาตุลี ชั้น 3 อาคารศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการขนส่งทางถนน (GPS) กรมการขนส่งทางบก

นางจตุพร เนียมสุข ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากรายงาน GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY ปี 2561 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในเอเชีย โดยอยู่ที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน เฉลี่ยปี 2557-2564 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 17,200 ราย

ซึ่งคนเดินเท้าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุหากถูกรถชนจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ในหนึ่งปีมีคนเดินเท้าเฉลี่ยปีละ 740 รายที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุถูกรถชน กลุ่มผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น อายุระหว่าง 15-19 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 50-69 ปี ส่วนใหญ่ถูกรถจักรยานยนต์ชน รองลงมาคือรถยนต์และรถบรรทุก และมีสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครสูงถึง 1 ใน 3 คิดเป็น 34% เมื่อเทียบกับเหตุทั่วประเทศ

โดยถนนในกรุงเทพมหานครมีคนเดินเท้าเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 250 ราย และจากข้อมูลทั่วประเทศ คนเดินเท้าเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 6,267.75 รายต่อปี

กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญและเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยทางถนน ในการป้องกันและลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่ดูแลทางถนนดำเนินการด้านความปลอดภัยต่างๆ กับผู้ใช้รถใช้ถนน พิจารณาแก้ไขปรับปรุงถนนและสภาพแวดล้อมข้างทางที่อาจเป็นจุดเสี่ยง จุดอันตราย ทางแยก ทางโค้ง ให้มีความปลอดภัย รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ

ได้แก่ ไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟสัญญาณจราจร ราวกั้นบริเวณทางโค้งหรือทางลงเขาลาดชัน จัดทำทางข้ามที่ปลอดภัยและก่อสร้างสะพานลอยให้คนเดินข้ามในบริเวณที่มีความจำเป็น รวมถึงได้มีโครงการสร้างความปลอดภัยในการข้ามถนนในบริเวณพื้นที่หน้าโรงเรียน โดยให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ เพิ่มเติมเป็นพิเศษ และในส่วนของความปลอดภัย บริเวณจุดตัดทางรถไฟ ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางรางทำการสำรวจทางลักผ่านจุดตัดทางรถไฟ และวางมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในจุดตัดต่างๆ เช่น ป้ายเตือน ไฟกะพริบ


นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีโครงการความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ผ่านโครงการความช่วยเหลือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ในโครงการ “The Project on Capacity for Road Traffic Safety Institutions and Implementation in the Kingdom of Thailand” ซึ่งดำเนินงานการศึกษาและวางแผนด้านความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งลดจำนวนผู้สูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนใน 4 ด้าน ดังนี้

1. การพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศอุบัติเหตุจราจรทางถนนใหม่ (New-TRAMS) เพื่อให้เกิดความถูกต้องน่าเชื่อถือ 2. การศึกษามาตรการด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนนผ่านการดำเนินกิจกรรมโครงการนำร่องบนทางหลวง/มอเตอร์เวย์ และจัดทำคู่มือ “Best Practice for Road Safety Manual” 3. การศึกษาการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางท้องถนนสำหรับทางหลวงชนบท/ถนนท้องถิ่น ผ่านการดำเนินกิจกรรมโครงการนำร่อง 4. ศึกษาการบริหารจัดการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขับขี่และการดำเนินงาน/การจัดการ ด้านความปลอดภัยสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์

จากข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจรพบว่า ปี 2564 มีผู้เสียชีวิต 16,957 ราย ลดลงจากปี 2563 และปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 17,831 ราย และ 19,904 ราย ตามลำดับ

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อกระทรวงคมนาคม ในประเด็นความปลอดภัย 3 ด้าน คือ
1. ด้านผู้ใช้รถใช้ถนน โดย ขบ. เช่น กำหนดเนื้อหาของการอบรม การสอบใบอนุญาตขับขี่ และการสื่อสารที่สร้างความปลอดภัยกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์

2. ด้านสภาพแวดล้อม โครงสร้างและถนน โดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท เช่น ถนนเขตเมือง เขตชุมชน ต้องมีมาตรการลดความเร็ว กำหนด Speed Zone จัดทำมาตรการด้านการชะลอความเร็ว (Traffic Calming)

3. ด้านการบริหารจัดการ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม และสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เช่น เร่งรัดติดตามการพัฒนาระบบข้อมูลด้านอุบัติเหตุทางถนนให้นำมาใช้งานเพื่อการวางแผน กำกับติดตาม และประเมินผล


กำลังโหลดความคิดเห็น