xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ลงพื้นที่พระราม 2 ตรวจสะพานกลับรถ โครงสร้างแข็งแรงวางแผนออกแบบซ่อมใหม่ เสร็จใน 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” นำคณะสอบข้อเท็จจริงเหตุคานสะพานกลับรถ "พระราม 2" ถล่มลงพื้นที่ คาดอีก 6 เดือนก่อสร้างใหม่เสร็จ หลังตรวจโครงสร้างยังแข็งแรงเตรียมทดสอบการรับน้ำหนักและออกแบบใหม่ ให้รับเหมาเปลี่ยนวัสดุคลุมใต้ท้องคานเป็นตาข่ายนิรภัยกันน้ำขังร่วงใส่รถด้านล่าง สั่งเคร่งครัดการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน แก้จุดคอขวด จัดเจ้าหน้าที่ระบายรถ

วันที่ 23 ส.ค. 2565 นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเกิดอุบัติเหตุคานสะพานกลับรถโครงการบูรณะและปรับปรุงสะพานทางหลวงหมายเลข 35 ตอน สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตก-นาโคก ตอน 2 จังหวัดสมุทรสาคร พังถล่ม เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมี นายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ฝ่ายดำเนินงาน นายอิทธิวัตร์ กฤษณะวณิช ผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างสะพาน นายพุทธิพงศ์ หะลีห์รัตนวัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมการก่อสร้างที่ 3 กรมทางหลวงชนบท (ทช.) นายวรัล สงวนชาติ หัวหน้าแผนกวิศวกรรมทางพิเศษ 3 กองวิศวกรรมทางพิเศษ 1 ฝ่ายก่อสร้างทางพิเศษ นายพิศุทธิ์ ไวทยสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิศวกรรมทางพิเศษ 4 กองวิศวกรรมทางพิเศษ 2 ฝ่ายก่อสร้างทางพิเศษ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นายเอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และคณะ ร่วมลงพื้นที่ ณ ศูนย์บริหารการจราจรระหว่างการก่อสร้าง โครงการก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังเกิดเหตุ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน และมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมจัดประชุมวางแผนมาตรฐานการก่อสร้างให้มีความปลอดภัยต่อการเดินทางของประชาชนอย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดระเบียบมาตรการควบคุมงานก่อสร้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน รวมถึงให้ ทล. และ กทพ.พิจารณาเปลี่ยนวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการต่างๆ บนทางหลวงหมายเลข 35 แล้ว


@เช็กโครงสร้างสะพานกลับรถแข็งแรง เร่งทดสอบรับน้ำหนัก-ออกแบบก่อสร้างใหม่ คาดอีก 6 เดือนเสร็จ

โดยจากที่คณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีตนเป็นประธานได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในกรณีต่างๆ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานความคืบหน้า ดังนี้

1. กรณีอุบัติเหตุคานสะพานกลับรถพังถล่มขณะทำการบูรณะซ่อมแซม บนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ตอน สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน-นาโคก กม. ที่ 34 บริเวณพื้นที่โครงการปรับปรุงสะพานกลับรถหน้าโรงพยาบาลวิภาราม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) ได้รายงานความคืบหน้าว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก วสท. และจากสภาวิศวกรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมของ ทล.ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์หาสาเหตุของอุบัติเหตุ และทำการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างสะพานใน 3 วิธี ดังนี้

1) การตรวจสอบสภาพความเสียหายของโครงสร้างโดยการตรวจสอบวิธีพินิจ 2) การตรวจสอบหาขนาดและความลึกของเหล็กเสริมในพื้นคอนกรีตระหว่างเสา และ 3) การประเมินค่ากำลังอัดประลัยของคอนกรีตในเสาตอม่อ ซึ่งทั้ง 3 วิธีได้ข้อสรุปว่า โครงสร้างสะพานยังมีความมั่นคงแข็งแรงและไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการวิบัติหรือเสียเสถียรภาพซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้สัญจรไปมาในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ทาง วสท.เสนอให้มีการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของสะพานว่ายังคงมีความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการยืนยันการตรวจสอบในเบื้องต้นที่เห็นว่าสะพานยังคงมีความมั่นคงแข็งแรง โดยจะมีระยะเวลาในการทดสอบประมาณ 1-2 เดือน ในขณะเดียวกัน ทล.จะดำเนินการออกแบบก่อสร้างจุดที่เสียหายใหม่ร่วมกับทาง วสท. ซึ่งหากได้ข้อยุติทั้งการรับน้ำหนักบรรทุกของสะพานและการออกแบบใหม่แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างอีก 2 เดือน ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรต่อไป โดยในการเปิดบริการจะมีการติดตั้งเครื่องมือในการติดตามพฤติกรรมการรับน้ำหนักบรรทุกของสะพานต่อไปอีก 6 เดือน เพื่อเป็นข้อมูลในด้านวิศวกรรม


2. กรณีน้ำขังในผ้าใบกันวัสดุตกหล่นสำหรับการก่อสร้างคานขวาง ร่วงลงมาใส่หลังคารถยนต์บริเวณโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 1 กม.ที่ 12+000 ทิศทางขาออก เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 นายประเมศฐ์ ตันติมณีวงศ์ ผู้จัดการโครงการฯ สำนักก่อสร้างสะพาน ทล. ได้รายงานความคืบหน้าว่า สาเหตุเกิดจากผ้าใบคลุมท้องคานขวาง มีน้ำขังจำนวนมาก และไม่สามารถรับน้ำหนักไหว ทำให้ผ้าใบขาดส่งผลให้มวลน้ำร่วงหล่นมาโดนรถยนต์ของผู้ใช้ทางได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้รับจ้าง (กิจการร่วมค้า เอ็นทีเอ) ได้เปลี่ยนการใช้ผ้าใบในโครงการใหม่ทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้เสียหายเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย รวมถึงการซ่อมแซมรถยนต์ให้สามารถใช้งานได้ดังเดิม

สำหรับการป้องกันเหตุเกิดซ้ำ ทล.ได้สั่งการผู้รับจ้างเปลี่ยนวัสดุคลุมใต้ท้องคานเป็นตาข่ายนิรภัยเพื่อป้องกันวัสดุตกหล่นแล้ว ทั้งนี้ หากมีการเชื่อมตัดเหล็กที่เกิดสะเก็ดไฟให้ผู้รับจ้างใช้ผ้าใบสำหรับกันสะเก็ดไฟ และเก็บผ้าใบทันทีเมื่อทำงานเสร็จ


3. กรณีชิ้นส่วนเหล็กแบบหล่อสะพานไหลลอดช่องว่างของแผงกั้นเขตก่อสร้างโดนรถยนต์ได้รับความเสียหาย บริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 1 กม.ที่ 13+263 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 โดยสาเหตุเกิดจากระหว่างที่บริษัทผู้รับจ้าง (กิจการร่วมค้า เอ็นทีเอ) ขนย้ายแบบหล่อราวสะพานจากพื้นที่ก่อสร้างเข้ามาจัดเก็บภายในที่พักงานก่อสร้าง เกิดอุบัติเหตุทำให้ส่วนหนึ่งของแบบหล่อไหลลอดระหว่างม่านบังตาและแบริเออร์ออกมาบนถนนโดนรถยนต์ของผู้เสียหาย ซึ่งทางผู้รับจ้างได้ประสานกับผู้เสียหายหลังจากที่เกิดเหตุทันที เบื้องต้นได้ซ่อมแซมจุดที่เสียหายให้สามารถใช้งานชั่วคราวได้ทันที รวมถึงประสานชดใช้การซ่อมแซมรถยนต์ให้สามารถใช้งานได้ดังเดิม และรับผิดชอบค่าเสียหาย พร้อมมอบเงินชดเชยค่าขาดรายได้ จำนวน 40,000 บาท และมอบรถยนต์เช่าให้ผู้เสียหายใช้ระหว่างที่รถยนต์เข้ารับการซ่อมแซม

สำหรับการป้องกันเหตุเกิดซ้ำ ทล.ได้กำชับให้ดำเนินการตามมาตรการในการขนส่งเคลื่อนย้ายวัสดุในพื้นที่ก่อสร้างอย่างเคร่งครัด โดยให้ยึดรั้งและใช้ตาข่ายคลุมวัสดุอีกชั้นหนึ่ง รวมถึงก่อนการเคลื่อนย้ายวัสดุต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยตรวจสอบอนุมัติความเรียบร้อยก่อนการเคลื่อนย้ายสิ่งของ


นายพิศักดิ์กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างของทุกโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ และปรับเวลาการดำเนินงานก่อสร้างเป็นช่วงเวลา 22.00-05.00 น. พร้อมจัดเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบสภาพถนนมิให้เกิดคอขวด รวมทั้งดำเนินการระบายรถในช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อให้กระทบต่อการเดินทางของประชาชนให้น้อยที่สุด รวมถึงให้ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์เพื่อเสนอแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นซ้ำอีก และใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมในทุกมิติ พร้อมทั้งให้สรุปรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบโดยเร็วต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น