xs
xsm
sm
md
lg

Executive Talk by ShareInvestor: Pruksa: Home X Healthcare, the innovation beyond limits.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



•เมื่อ "พฤกษา" หนึ่งในนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ผู้มีประสบการณ์ในวงการมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ได้ขยายห่วงโซ่ธุรกิจเข้าสู่โลกของ "เฮลธ์แคร์" การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งภายในองค์กร และต่อผู้บริโภคจึงเกิดขึ้น

•"โรงพยาบาลวิมุต" คือส่วนหนึ่งของโปรเจคอีกมากมายที่ PSH เตรียมขับเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ภายใต้แนวคิดการผสมผสานระหว่าง บ้าน เฮลธ์แคร์ และดิจิทัลเทคโนโลยี


•คุณอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มพฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้แสดงถึงเจตจำนงของ PSH ที่ไม่ว่าจะขยายธุรกิจเข้าสู่กลุ่มเฮลธ์แคร์ หรือธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคต PSH ก็จะยังคงยึดมั่นในปณิธานองค์กร ที่ต้องการส่งมอบบริการทางการแพทย์ ยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า ด้วยผลิตภัณฑ์ และบริการที่คนส่วนใหญ่ในสังคมสามารถเอื้อมถึง


1. ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา PSH ได้เข้าไปจับธุรกิจเฮลธ์แคร์ โดยมีโปรเจคที่โดดเด่น คือ โรงพยาบาลวิมุต และการเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับโรงพยาบาลเทพธารินทร์ จึงอยากจะทราบถึงที่มาที่ไป และจุดประสงค์หลักของการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ครั้งสำคัญนี้ ตลอดจนประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากการบูรณาการระหว่างอสังหาริมทรัพย์ และเฮลธ์แคร์

     ผมจะเริ่มต้นด้วยการอธิบายหลักปรัชญาพื้นฐานของพฤกษาก่อนนะครับ อย่างที่เราทราบกันดี พฤกษาอยู่ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์มานานกว่า 30 ปีแล้ว และผลงานโดดเด่นของเราก็คือ การสร้างบ้านที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ ในราคาที่พวกเขาสามารถเอื้อมถึง

     อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เกิดจากการที่บริษัทต้องการเบนเข็มทิศเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ แต่ก็ยังคงยึดมั่นในพันธกิจและจุดประสงค์เดิม นั่นคือ เราต้องการสร้างเฮลธ์แคร์ให้เป็นบริการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป หากมองไปในสังคมทุกวันนี้ จะเห็นนะครับว่าเราทุกคนดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่ถูกแบ่งแยกด้วยราคาค่ารักษาพยาบาล ซึ่งขณะนี้ก็เป็นผลมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้การรักษาพยาบาลที่ดีหาได้ยาก และยังมีราคาสูง นี่จึงเป็นจุดที่โรงพยาบาลวิมุตต้องการเข้ามาเติมเต็ม ด้วยความหวังว่าเราจะสามารถส่งมอบการรักษาพยาบาลคุณภาพสูงแก่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้

2.ลักษณะโมเดลธุรกิจเฮลธ์แคร์ของ PSH เป็นอย่างไร เช่น เน้นการรักษาโรคทั่วไป การรักษาโรคเฉพาะทาง ศูนย์สุขภาพ หรือการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น จุดเด่นหรือความเชี่ยวชาญของคุณคืออะไร

     หากมองไปที่ห่วงโซ่ธุรกิจเฮลธ์แคร์ จริง ๆ แล้ว เราจะเห็นว่ามันยาวมาก โดยเริ่มจาก (1) การป้องกัน (2) การรักษาโรค (3) การฟื้นฟู และ (4) การสิ้นสุดอายุขัย พฤกษาวางโมเดลวิมุตให้เป็นโรงพยาบาลที่เน้นการรักษาโรค ซึ่งหากโฟกัสให้ลึกลงไปเฉพาะโมเดลนี้ ผมคิดว่าเราโชคดีที่มีโอกาสได้ผนึกกำลังกับโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับ และมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานในความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเบาหวาน ผลคือ โรงพยาบาลวิมุตได้รับมอบวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทันสมัย และเฉพาะทางมาจากความร่วมมือนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าของเรามาก

     จากระบบนิเวศน์ของเราในปัจจุบัน เราวางกลยุทธ์ให้โรงพยาบาลวิมุตทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง รายล้อมไปด้วยบ้านพักคนชรา และศูนย์สุขภาพ เรามุ่งหวังที่จะทำให้บริการด้านสุขภาพอยู่ใกล้กับที่อยู่อาศัยในเครือพฤกษามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยผู้อยู่อาศัยสามารถรับการรักษาแบบเฉพาะทางได้จากโรงพยาบาล ขณะเดียวกันก็ยังเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้จากที่บ้านหรือในละแวกบ้าน ดังนั้น ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะเพิ่มจำนวนศูนย์สุขภาพที่อยู่รายล้อมโรงพยาบาลให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ศูนย์สุขภาพแห่งใหม่ล่าสุดของเรา กำลังจะเปิดตัวในเดือนสิงหาคมนี้ โดยทางบริษัทเริ่มสร้างโปรเจคนี้มาตั้งแต่ราว ๆ กลางปีที่แล้ว

     ในอีกด้านหนึ่งของระบบนิเวศน์ที่เรากำลังสร้างคือ "การเข้าถึงบ้าน" พูดง่าย ๆ ก็คือ เรากำลังลงทุนไปกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับธุรกิจเฮลธ์แคร์ เช่น “Tele-consultation” เทคโนโลยีการให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบออนไลน์ที่ลูกบ้านสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ โดยเราจะมีโค้ชคอยให้คำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านการไลฟ์สดแบบตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการกับโรคเบาหวาน การควบคุมน้ำหนัก หรือปัญหาทางจิตวิทยา เป็นต้น ดังนั้น นี่จึงเป็นการเชื่อมโยงการรักษาพยาบาลเฉพาะบุคคลไปยังบ้านของคุณ หรือทุกที่ ที่คุณอยู่ และหากเมื่อใดก็ตามที่คุณต้องการเข้ามาใช้บริการที่ศูนย์สุขภาพ เราก็ได้สร้างจุดบริการไว้ในละแวกบ้านของคุณแล้ว หรือถ้าหากต้องการรับการรักษาโรค คุณก็ไปที่โรงพยาบาลได้เลย

3. สัดส่วนรายได้ในธุรกิจของ PSH จะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดในอนาคต คุณคิดว่ากลุ่มธุรกิจเฮลธ์แคร์ หรือกลุ่มอื่น ๆ จะสามารถสร้างรายได้คิดเป็นเท่าใดของมูลค่าทั้งหมด

     ในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ เราคาดหวังว่าธุรกิจเฮลธ์แคร์จะสร้างรายได้ราว ๆ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ ของรายได้ทั้งหมด แต่เห็นได้ชัดว่านี่เป็นแค่การประมาณการณ์จากรายได้ที่มาจากโปรเจคต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ตอนนี้ ยังไม่รวมถึงโปรเจคใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งถ้าหากเราเพิ่มส่วนขยายใหม่ ๆ เข้าไป เช่น ศูนย์สุขภาพแห่งใหม่ และโรงพยาบาลแห่งใหม่ อีกทั้ง ถ้าหากคุณรวมเอาองค์ประกอบอื่น ๆ ภายในระบบนิเวศน์เข้ามาด้วย นั้นคือ ดิจิทัลเฮลธ์แคร์ เราคาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มรายได้เป็นสองเท่าจากตัวเลขก่อนหน้านี้ แต่นั่นก็จะใช้เวลายาวนานกว่า 5 ปีแน่นอน


4. เมื่อไตรมาส 1/2565 PSH ได้จัดตั้ง Corporate Venture ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหานวัตกรรมดิจิทัลมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มเฮลธ์แคร์ ดังนั้น ภายในปีนี้ หรือในระยะ 5 ปีต่อจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยจะได้สัมผัสกับนวัตกรรมใหม่ ๆ อะไรบ้าง

สำหรับ Corporate Venture ที่เราได้จัดตั้งขึ้น พันธกิจหลักก็คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมของธุรกิจใหม่ ๆ ที่ล้ำหน้ากว่าศักยภาพของเราในวันนี้ เข้ามาปรับใช้กับทั้งกลุ่มธุรกิจของพฤกษา และโรงพยาบาลวิมุต โดยลักษณะธุรกิจที่เราต้องการเข้าไปร่วมทุน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
(1) “Prop-tech” นวัตกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตภายในบ้าน ตั้งแต่การสร้างบ้านไปจนถึงไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย
(2) "Health-tech" เช่นกันครับ เรากำลังพูดถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวล้ำกว่าศักยภาพในระบบนิเวศน์เฮลธ์แคร์ของโรงพยาบาลวิมุตในปัจจุบัน
(3) “Sustainability” การขับเคลื่อนเพื่อความอย่างยั่งยืนถือเป็นอีกหนึ่งวัตถุประสงค์หลักของ Corporate Venture นี้ เราต้องการลงทุนในธุรกิจที่สามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเรา และของลูกค้าเราด้วย
หากพูดถึงการลงทุนในภาพรวมทั้งหมด ปัจจุบันเราได้ลงทุนใน "Naluri” แพลตฟอร์มผู้ให้บริการด้านเฮลธ์แคร์เชิงป้องกัน (Prevention) ที่เราอยากจะนำเข้ามาสู่ตลาดไทย

เรายังลงทุนใน "Gut microbes" ศาสตร์ใหม่ของการรักษาโรคจากการปลูกถ่ายจุลินทรีย์ในลำไส้ (Microbes transplant) ซึ่งหมายความว่า ทุกสิ่งในร่างกายของคุณเริ่มต้นจากจุลินทรีย์ภายในลำไส้ ดังนั้น หากคุณมีลำไส้ที่แข็งแรง คุณก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรงด้วย ทุกอย่างในร่างกายของคุณล้วนเกี่ยวข้องกับลำไส้ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นศาสตร์หนึ่งในกลุ่มเฮลธ์แคร์เชิงป้องกัน ทั้งนี้ ผู้รับการรักษาจะต้องทานอาหารเสริมที่ช่วยปรับจุลินทรีย์ในลำไส้ การปรับจุลินทรย์จะช่วยเยียวยาความผิดปกติต่าง ๆ เช่น หากคุณมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ คุณก็สามารถรักษาด้วยการปรับจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ครับ

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เรายังได้ลงทุนในกองทุนของออสเตรเลียที่ชื่อว่า "Taronga" โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของกิจกรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืน เช่น การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งก็หมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ และการปรับปรุงระบบการทำงานภายในองค์กร ซึ่งจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในที่สุด ดังนั้น เราจึงพยายามมองหาบริษัทที่มีนวัตกรรมด้านนี้เข้ามาสู่ตลาดไทย

สำหรับปีหน้า เราคาดว่าจะเปิดตัวอีกหลายโปรเจคในตลาดไทย จริง ๆ แล้ว ตลาดไทยทุกวันนี้มีแพลตฟอร์มดิจิทัลมากมายนะครับ แต่ถ้ามองลึกลงไปในแง่ความเฉพาะทาง เช่น แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ปัจจุบันถือว่ามีผู้ให้บริการไม่มากนัก และนี่ล่ะครับคือช่องว่างที่เราจะมาเติมเต็ม

5. คุณคิดว่าอะไรคือความท้าทายที่สำคัญที่สุด

เรื่องของคนครับ อย่างที่บอก พฤกษาเป็นบริษัทเก่าแก่ และมีชื่อเสียงมายาวนานกว่า 30 ปีในเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัย ผู้บริหารทุกระดับเข้าใจธุรกิจอย่างทะลุปรุโปร่ง และผมก็ยอมรับว่า พฤกษาเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีอิทธิพลที่สุดในวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้ ดังนั้น ถ้าพูดถึงพฤกษาในฐานะผู้นำด้านความคิดสร้างสรรค์ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงหรือสร้างจุดต่างในอุตสาหกรรม นี่แหละ คือตัวตนของเรา พฤกษายังเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ริเริ่ม “Manufacturing home” หรือ การผลิตชิ้นส่วนประกอบบ้าน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงสามารถสร้าง และจำหน่ายบ้านในราคาที่เอื้อมถึงได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่ธุรกิจเฮลธ์แคร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล กระบวนการคิดก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เราต้องเพิ่มศักยภาพของตัวเอง ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับปีนี้และปีต่อ ๆ ไป จึงเป็นการลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อพัฒนาบุคลากรของเรา ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมพัฒนาขีดความสามารถที่เราได้เริ่มวางระบบขึ้น การนำแนวคิดใหม่ ๆ มาปรับใช้ เช่น การคิดเชิงออกแบบ แนวทางการสร้างกระบวนการทำงานที่คล่องตัว ตลอดจนการนำ “Enterprise AI” หรือ ปัญญาประดิษฐ์สำหรับองค์กร มาใช้ในการทำงาน จริง ๆ แล้ว Enterprise AI ยังถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทยนะครับ ไม่ใช่แค่กับเฉพาะพฤกษาเท่านั้น

จะเห็นว่าเราพยายามนำสิ่งเหล่านี้มาปรับปรุงวิธีการทำงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่พนักงานของเรา ซึ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ใช้แรงงานนี่ล่ะครับ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเรากำลังเปลี่ยนสถานะภาพที่เป็นอยู่เดิมของพวกเขา ซึ่งย่อมกระทบต่อสภาพจิตใจของพนักงานอย่างแน่นอน เราจึงต้องเตรียมพวกเขาให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง

สำหรับปีนี้ การลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรจึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ และเป็นทั้งความท้าทายอันดับต้น ๆ ด้วยนั่นเอง และการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะธุรกิจใหม่หรือกลุ่มเฮลท์แคร์เท่านั้น แต่เรากำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งองค์กร โดยความคาดหวังว่า เราจะสามารถสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ สำหรับการสร้างบ้าน ส่งมอบบริการใหม่ ๆให้แก่ผู้อยู่อาศัย และลูกค้าของเรา เราตั้งใจที่จะเพิ่มมูลค่าของที่อยู่อาศัย ยกระดับไลฟ์สไตล์ และคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย เราทุกคนเชื่อในปรัชญาใหม่ขององค์กรครับ “Live well, Stay well” (อยู่ดี มีสุข)


รับชมรายการ Executive Talk by ShareInvestor ทางช่อง YouTube ShareInvestor Thailand https://www.youtube.com/watch?v=97JKGPurtPo

               


กำลังโหลดความคิดเห็น